หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า การใช้ยาไมเกรนในช่วงก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้นมีผลกับร่างกายเราหรือไม่ วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาแก้ข้อสงสัยเหล่านี้
วัคซีนโควิด-19 VS ยาไมเกรน
ผู้ป่วยโรคปวดศีรษะไมเกรนไม่จำเป็นต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนในช่วงก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เพราะหากหยุดยาไมเกรนกะทันหันจะทำให้อาการไมเกรนกำเริบได้ เนื่องจากอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาท มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุกรรม ความเครียด และสภาพแวดล้อม
ช่วงที่มีคำแนะนำให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 คุณอาจเคยได้ยินคำเตือนว่า แม้จะปวดศีรษะไมเกรนก็ไม่ควรรับประทานยากลุ่มที่แก้อาการดังกล่าว เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพและทำให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เข้าสู่ร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง โดยคำแนะนำดังกล่าวนี้ไม่เป็นความจริงผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนสามารถรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอาการได้ตามปกติ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยได้ให้คำแนะนำเรื่องการใช้ยารักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวมั่นใจว่า ผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนไม่จำเป็นต้องหยุดยาต่อไปนี้
ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ยากลุ่ม Acetaminophen เช่น พาราเซตามอล
- ยากลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน
- ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน เช่น Cafergot, Tofago
- ยาในกลุ่มทริปแทน เช่น Relpax, Siagran
ยาป้องกันไมเกรนชนิดต่าง ๆ ได้แก่
- ยาในกลุ่มยากันชัก เช่น Topiramate, Valproic acid
- ยาในกลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Amitriptyline, Venlafaxine
- ยาในกลุ่มต้านแคลเซียม เช่น Flunarizine
- ยาในกลุ่มต้านเบต้า เช่น Propranolol
ภายหลังการฉีดวัคซีนหากมีอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้นก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนได้ โดยในกรณีที่มีอาการปวดศีรษะน้อยหรือปานกลางให้เลือกใช้ยาในกลุ่ม Acetaminophen หรือ NSAIDs
แต่หากมีอาการปวดศีรษะปานกลางหรือรุนแรง ให้เลือกใช้ยาแก้ปวดที่จำเพาะต่อไมเกรน ได้แก่ ยาที่มีส่วนผสมของ Ergotamine และคาเฟอีน หรือยาในกลุ่มทริปแทน ส่วนสำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้หรือรับประทานยาแก้ปวดไมเกรน โดยเฉพาะในกลุ่ม Ergotamine และ Triptans อาจต้องระวังอาการผลข้างเคียงจากยาซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการใจสั่น และอาการชา