‘คังคุไบ’ เรื่องจริงอิงนิยายวีรสตรีมุมไบ-พลัง ‘Soft power’ แห่งใหม่

0
669
kinyupen

ยังถือเป็นกระแสแรงอย่างต่อเนื่องของภาพยนตร์บอลลีวูด เรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” หรือที่หลายคนคงคุ้นชินกันในชื่อ “คังคุไบ” ได้รับกระแสที่ดีอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปในหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกันกับบ้านเรา สุดปังไม่แพ้กันชนิดที่เกิดเป็นกระแสฟีเวอร์ มีคนดัง คนไม่ดัง แต่งตัวแต่งตัวเลียนแบบคังคุไบกันว่อนโซเชียล วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาทุกคนมารู้จักกับวีรสตรีหญิงชาวมุมไบ ที่เป็น ‘Soft Power’ แห่งใหม่ สุดปังกัน

เปิดประวัติ ‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’

‘คังคุไบ กฐิยาวาฑี’ เกิดเมื่อปี 1939 เธอเกิดในตระกูลทนายและมีฐานะดี ในเมืองกาเฐียวาร แคว้นคุชราตประเทศอินเดีย วัยเด็กเธอมีความฝันอยากเป็นนักแสดงบอลลีวูด เมื่อเธออายุ 16 ปี ก็ได้ตกหลุมรักกับ “รามนิก” (Ramnik Lal) พนักงานบัญชีที่ทำงานให้พ่อของเธออยู่ เขาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เนื่องจากฐานะที่แตกต่างของทั้งสอง รามนิกและคังคุไบเลยได้ตัดสินใจหนีไปยังมุมไบ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน

แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจคิด เธอถูกรามนิกแฟนหนุ่มของเธอหลอกเธอมาขายให้กับซ่องที่มุมไบในราคา 1,000 รูปี ทำให้เธอต้องเป็นโสเภณีในเขตกามธิปุระ ของนครมุมไบตั้งแต่อายุยังน้อย ภายหลังเธอถูกลูกน้องของมาเฟียรายใหญ่ของมุมไบ ‘คาริม ลาลา (Karim Lala) ’ ข่มขืนและทำร้ายร่างกาย เธอจึงไปขอเข้าพบคาริม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมระหว่างเธอกับลูกน้องของคาริม ซึ่งคาริมเองก็ได้ให้การช่วยเหลือคังคุไบ และทั้งสองก็ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ในฐานะพี่น้อง จากนั้นคังคุไบก็เริ่มเป็นที่รู้จักในนาม “ราชินีมาเฟีย”

กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตโสเภณีในอินเดียของเธอ เมื่อเธอได้มีโอกาสเข้าพบนายกรัฐมนตรีชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาที่โสเภณีในอินเดียยุคนั้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับปากจะช่วยเหลือและดูแลโสเภณีตามที่คังคุไบต้องการ ด้วยเหตุนี้คังคุไบจึงถูกจดจำในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคม ส่งผลให้เธอกลายเป็นที่จดจำของคนทั่วประเทศ และได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน เธอเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 69 ปี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1977

‘คังคุไบ’ กับ Soft Power ใหม่สุดปัง

ภาพยนตร์เรื่อง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” นอกจากจะตีแผ่ชีวิตเรื่องราวชีวิตอันชวนทึ่งของคังคุไบที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาเธอต่อสู้ฟันฝ่าจากการเป็นโสเภณีจนไต่เต้าจนกลายเป็นหนึ่งในนักเรียกร้องสิทธิคนหนึ่งในอินเดีย และนอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่องคังคุไบจะนำเสนอชีวประวัติของเธอแล้วนั้น ตัวของภาพยนตร์ยังมีการนำเสนอวิถีวัฒนธรรมอินเดียต่าง ๆ ซึ่งทำให้คนในหลายประเทศทั่วโลกได้เห็นมุมมองของชาวอินเดียมากขึ้น เปรียบภาพยนตร์เรื่องนี้เสมือน ‘Soft Power’ แห่งใหม่สุดปังให้กับอินเดีย วันนี้เราจะพาคุณมารู้จัก 5 วิถีวัฒนธรรมอินเดียที่เปรียบเหมือนซอร์ฟ พาวเวอร์ ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นอินเดียอันโดดเด่น

อย่างแรกเลยคือเรื่องของ ‘การแต่งกาย หรือ ชุดส่าหรี’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะมีภาพของผู้หญิงชาวอินเดียแต่งกายด้วยชุดส่าหรีหลากสีสันสวยงามแล้ว ภาพของคังคุไบ (หลังจากขึ้นมาเป็นแม่เล้า) ที่ดูโดดเด่นด้วยชุด “ส่าหรีสีขาว” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งภาพจำของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นนัยยะที่หนังได้แฝงแนวคิดความเชื่อของชาวฮินดูในอดีตที่ว่าด้วย ผู้หญิงที่สวมส่าหรีสีขาวคือสัญลักษณ์ของ “แม่ม่าย” ต้องสวมชุดสีขาวเพื่อไว้อาลัยให้กับสามีที่จากไป

ต่อมาไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องของ ‘การเต้น’ ถ้าหากให้ทุกคนลองนึกถึงภาพยนตร์อินเดียหรือบอลลีวูดหลายคนก็มีภาพจำว่าในภาพยนตร์คงมีการเต้นของคู่พระนางเป็นได้ สำหรับในคังคุไบที่เป็นหนังย้อนยุคช่วงไปในช่วงปี 1950s-1960s ได้มีฉากโชว์เต้น “Garba” ซึ่งคังคุไบเธอได้พูดถึงการเต้นนี้ไว้ในภาพยนตร์ด้วยว่าเป็นการเต้นรำพื้นเมือง ที่มีต้นกำเนิดมาจากรัฐคุชราตในอินเดีย ซึ่งคังคุไบได้ใส่ส่าหรีสีขาวเต้นแบบจัดเต็มในงานนวราตรีที่ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงไฮไลท์ของภาพยนตร์

‘นวราตรี’ (Navaratri) ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้สำหรับเทศกาลดังของอินเดียที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เพราะเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งในรอบปีตามปฏิทินฮินดูของชาวอินเดีย โดยเป็นเทศกาลบูชาพระแม่ทุรคาและพระแม่ปารวตีในภาคปางต่าง ๆ เก้าปาง จัดขึ้นปีละ 4 ครั้ง ซึ่งชาวอินเดียทั้งในประเทศอินเดียและที่อยู่ตามประเทศต่าง ๆ จะจัดงานนี้อย่างยิ่งใหญ่ รวมถึงชาวฮินดูในประเทศไทยด้วย โดยงานนวราตรีชื่อดังของไทยก็คือที่ “วัดพระศรีมหาอุมาเทวี” หรือ วัดแขก สีลม

อีกหนึ่งจุดเด่นของภาพยนตร์คงหนีไม่พ้นเรื่องของ’ อาหารอินเดีย’ ในหนังคังคุไบแม้อาหารจะไม่ใช่ฉากหลัก ธีมหลัก แต่ก็มีสอดแทรกอยู่ให้บรรดาผู้นิยมอาหารกินเดียตามรอยไปกิน โดยเฉพาะกับ 2 เมนูหลัก ที่ปรากฏเด่นชัดในเรื่อง คือ “Nalli Nihari” (จานโปรดของคังคุไบ) เป็นสตูไขกระดูกแกะที่นำขาแกะชิ้นโตไปผัดกับเครื่องเทศเครื่องปรุงต่าง ๆ และรวมไปถึง “Bheja Fry” (จานโปรดของกัมลี เพื่อนสนิทคังคุไบ) เป็นสมองแพะหรือแกะทอดกับเครื่องเทศรสชาติเผ็ดร้อนและน้ำเกรวี่ นอกจากนี้ในภาพยนตร์ยังมีขนมหวาน” Savaiya” หรือ ขนมหวานงานมงคล รวมถถึงมีวัฒนธรรมการกินแบบเปิบมือของคนอินเดียอันเป็นเอกลักษณ์ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายคือเรื่องของ ‘การดื่มชาอินเดีย’ การดื่มชาในอินเดียมีทั้งแบบชาดำ ชาใส่ขิง ชาใส่นม หรือชาผสมเครื่องเทศ ที่เรียกว่า “จาย” ในภาพยนตร์เรื่องนี้การดื่มชามีประเด็นและความน่าสนใจตรงที่คังคุไบดื่มชาจากจานรองแก้ว แทนที่จะดื่มชาจากแก้วเหมือนปกติ ซึ่งภาพยนตร์สื่อนัยยะถึงเรื่องของการแบ่งชนชั้น เนื่องจากคังคุไบเป็นโสเภณีจึงถูกสังคมเหยียดชนชั้น และเธอก็ได้แสดงออกผ่านการดื่มชาในฐานะผู้ที่มีชนชั้นด้อยกว่า

อย่างไรก็ตามปัจจุบันถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง ‘คังคุไบ’ จะเป็นกระแส ทำให้หลายคนออกมาแต่งตัว เต้น หรือออกมาลองทานอาหารอินเดียมากขึ้น แต่ลึกๆ แล้วคิดว่าจุดประสงค์หลักของหนังเรื่องนี้คือการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ที่ทำงานค้าบริการ ซึ่งถือเป็นอาชีพที่สุจริตและควรค่าที่จะได้รับการคุ้มครอง

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here