ส่องประวัติ “ทรงผม” ทำไมนักเรียนถึงต้องตัดผม

0
2888
kinyupen

ในประเทศไทยหลายคนคงคุ้นชินกับทรงผมที่ถือว่าแทบจะเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของนักเรียนไทยนอกเหนือจากเรื่องของเครื่องแบบ ที่นักเรียนชายต้องตัดผมเกรียน และรวมไปถึงนักเรียนหญิงที่ต้องตัดปลายผมยาวเท่าติ่งหู วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาคุณมารู้จักกับที่มาของทรงผมเหล่านี้

เปิดประวัติทรงผมของนักเรียนไทย

อ้างอิงจากบทความว่าด้วยเรื่องกฎทรงผมของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับ 2 พฤศจิกายน 2550 มีคำตอบว่า ประเทศไทยรับอิทธิพลเรื่องของทรงผมทรงนักเรียนทั้งเครื่องแบบต่าง ๆ มาจากประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงสงครามนั้นเกิดเหาระบาดมาก ประชาชนในยุคนั้นจึงนิยมตัดผมสั้น

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 ในเรื่องเกี่ยวกับทรงผมที่ ไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน

กฎกระทรวงฉบับที่ 1 ระบุว่า นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา ส่วนนักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย

กฎกระทรวงฉบับที่ 2 แก้ไขเป็น นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผมหรือไว้หนวด ไว้เครา และนักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย ดังนั้นโรงเรียนต่าง ๆ จึงอาจมีระเบียบในเรื่องทรงผมที่แตกต่างกันได้ในรายละเอียด แต่ส่วนใหญ่นักเรียนชายมักจะให้ตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงมักจะให้ตัดผมสั้นในช่วงติ่งหูถึงปกเสื้อนักเรียน

และเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียนลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2563 โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกไว้ทรงผมมากขึ้น

โดยมีใจความสำคัญระบุว่า

นักเรียนต้องปฏิบัติตนเกี่ยวกับการไว้ทรงผมดังนี้

1. นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย

2. นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย แต่ทั้งนักเรียนชายและหญิงต้องมีทรงผมที่ ‘เรียบร้อย’ กล่าวคือ ไม่ดัดผม ย้อมสีผม ไว้หนวดไว้เครา หรือกระทำการใดๆ กับทรงผมที่ไม่เหมาะกับการเป็นนักเรียน

อย่างไรก็ตามประเด็นของเรื่อง “การตัดผม” สำหรับยุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เรื่องของทรงผมส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าทรงผมของเด็กนักเรียนในยุคปัจจุบันก็คือเรื่องของประสิทธิภาพของการศึกษามากกว่า ซึ่งหลายโรงเรียนในตอนนี้ได้ยกเลิกกฎการไว้ทรงผมนักเรียนเหล่านี้ไปแล้ว

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here