เคล็ด (ไม่) ลับ ! “Social Detox” ทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

0
992
kinyupen

“สมาร์ตโฟน” ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญสำหรับยุค 5G โซเชียลมีเดียจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนยุคนี้ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการทำงานและให้ความบันเทิงในยามว่าง อย่างไรก็ตามโซเชียลมีเดียก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้อย่างไม่มีขอบเขตและแบ่งเวลาไม่เป็น อาจจะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพในการทำงานของเราได้

สถิติของ “Thailand Digital Stat 2021” กล่าวว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด คนไทยใช้เวลาในโลกออนไลน์ผ่านเครื่องมือทุกประเภทเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที โดยมากกว่า 3 ชั่วโมงจะหมดไปกับการเล่นโซเชียลมีเดียอย่าง Line, Facebook, Instagram และ Clubhouse

เห็นได้ว่า โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยค่อนข้างมาก วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงอยากนำเสนอเคล็ด (ไม่) ลับ ในการใช้งานโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

1. อย่ามือไวรีบตอบ

ทุกครั้งที่เข้าโซเชียลมีเดีย ต้องเตือนตัวเองว่าให้เวลาเข้าไปอ่านไม่กี่นาทีเท่านั้น อ่านแล้วก็ไม่ต้องมือไวรีบตอบ เพราะหากถ้าคุณตอบไป อีกฝ่ายก็จะตอบกลับมา ทำให้อาจจะติดลมนั่งโต้ตอบส่งข้อความกันไปมา อาจหมดเวลาไปหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว

2. ปิดการแจ้งเตือน

เสียงแจ้งเตือนจากมือถือหรืออุปกรณ์สื่อสาร อาจทำให้คุณหยิบโทรศัพท์ของคุณขึ้นมาดูว่าเป็นเรื่องอะไร ใครส่งข้อความมา บางครั้งหากยั้งใจไม่อยู่เผลอคลิกเข้าไปอ่านก็อาจกลายเป็นเรื่องยาว หรือลืมไปว่าเป็นเวลางาน ดังนั้นทางที่ดีคุณควรปิดการแจ้งเตือนไปเลย จะได้ไม่มีอะไรมารบกวนเวลาทำงาน

3. ใส่ข้อความ “ต้องอ่าน”

ข้อนี้อาจตั้งเป็นกฎให้ทั้งตัวคุณเองและเพื่อนร่วมงานทุกคนรับรู้ว่า หากหัวข้อของข้อความที่ส่งมาต้องการให้รีบอ่านและกำลังรอคำตอบด่วนให้ใส่คำว่า “ต้องอ่าน” (Must Read) ไว้ข้างหน้าข้อความเสมอ เมื่อเปิดเช็กข้อความก็ให้เลือกอ่านแต่ที่มีคำว่า “ต้องอ่าน” ก่อน สำหรับข้อความอื่น ๆ เก็บไว้อ่านในช่วงเวลาว่างให้โฟกัสกับงานที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน

4. ท่ายืนช่วยลดเวลาท่องโลกโซเชียล

หากการควบคุมเวลาใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้ ขณะใช้โซเชียลมีเดียก็ไม่ควรอยู่ในท่าที่สบายเช่น นั่งอ่านหรือนอนอ่าน เพราะจะทำให้คุณเพลิดเพลินจนอาจจะหยุดใช้งานไม่ได้ หรืออาจจะไถลอ่านโน่นอ่านนี่ไปเรื่อย ๆ ให้ลองใช้วิธียืน โดยจะช่วยลดเวลาในการอ่านลงได้ แต่ไม่แนะนำให้เดินไปเดินมาขณะใช้งาน เพราะจะทำให้ยิ่งติดอยู่ในโลกโซเชียลนานขึ้น และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการไม่ได้มองทางขณะเดินได้

5. เรื่องยาวคุยทางโทรศัพท์ดีกว่า

การใช้โทรศัพท์คุยงานจะช่วยประหยัดเวลา เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการพิมพ์โต้ตอบกันด้วยข้อความยาว ๆ นอกจากนี้การพูดโดยตรงจะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจวัตถุประสงค์และสิ่งที่เราต้องการจะบอกได้ชัดเจนกว่า ไม่ต้องเสียเวลาพิมพ์อธิบาย โดยเฉพาะเรื่องสำคัญหรืองานด่วน การคุยทางโทรศัพท์จะรวดเร็วกว่ามาก

6. คิดให้ดีก่อนส่ง

ทุกครั้งที่จะส่งข้อความอะไรไปหาใคร ต้องคิดให้ดีว่าเรามีเวลาพอจะตอบกลับเขาหรือไม่ ไม่ควรส่งข้อความไปโดยไม่จำเป็น เพราะคนที่เราส่งข้อความไปหาอาจตอบกลับมา แล้วอาจมีคำถามต่อเนื่องและรอคอยคำตอบ ซึ่งทำให้เราต้องใช้เวลาในการพิมพ์โต้ตอบกันนานกว่าที่คิด แล้วจะไปรบกวนเวลาทำงานอื่นที่สำคัญกว่าโดยไม่รู้ตัว

7. ไม่รับเพื่อนเป็นจำนวนมาก ๆ

ในเมื่อชีวิตจริงเรายังเลือกคบเพื่อนและไม่ได้คบกับทุกคนที่ผ่านเข้ามา ในโลกโซเชียลมีเดียก็เช่นเดียวกัน คงดีกว่าถ้าจะเลือกติดต่อเฉพาะเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนในกลุ่มที่สนิท เพราะยิ่งมีเพื่อนจำนวนมาก แต่ละวันเราก็จะยิ่งได้รับข้อความมากเท่าจำนวนเพื่อน ทำให้ต้องหมดเวลาไปกับการพิมพ์โต้ตอบ ซึ่งอาจส่งผลกับเวลาทำงาน หรือถ้าไม่อ่าน หรือ อ่านแล้วไม่ตอบ ก็จะกลายเป็นสร้างความบาดหมางในชีวิตจริงได้

8. บริหารเวลาให้เป็น

เพราะโซเชียลมีเดียนั้นได้รวมเอาโลกของการทำงานและโลกส่วนตัวมาไว้ในที่เดียว บางคนจึงอาจเผลอนำเรื่องส่วนตัวมาปนอยู่ในเวลางาน ฉะนั้นจำเป็นที่เราจะต้องบริหารจัดการเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพ เช่น เช็กข้อความสำคัญเกี่ยวกับงานในช่วงเช้า จากนั้นก็ตั้งใจทำงานอย่างมีสมาธิ ไม่สนใจมือถือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ แต่เมื่อถึงเวลาพักก็อาจจะหยิบมาเล่นเพื่อผ่อนคลายบ้างก็ได้

9. รู้จักเลือกใช้ข้อมูล

โลกของโซเชียลมีเดียนั้นเต็มไปด้วยข้อมูลและข่าวสารต่างๆ เรื่องจริงที่เป็นประโยชน์ก็มีมาก แต่อย่างไรก็ตามเรื่องที่ไม่จริงก็มีอยู่ไม่น้อย เราจึงต้องมีการเลือกและกลั่นกรองข้อมูลที่มีประโยชน์มาใช้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมาประกอบการทำงานยิ่งต้องรอบคอบให้มาก เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากการนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องมาใช้ประกอบการทำงาน

10. ออกมาอยู่ในโลกที่เป็นจริง

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันติดตามตัวเองว่า แต่ละวันเราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากแค่ไหน จากนั้นให้คุณตั้งเป้าหมายว่าจะลดเวลาเหล่านี้ลงเท่าไร หรือลองใช้วิธีลบแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียออกจากมือถือ โดยอาจจะให้มีติดตั้งเฉพาะในแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ดึงตัวเองออกไปจากโลกดิจิทัล และหันมาอยู่กับสิ่งที่เราชอบในโลกความจริง เช่น อ่านหนังสือ วาดภาพ ออกกำลังกาย หรือนั่งคุยกับเพื่อนร่วมงาน จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือแรงบันดาลใจที่อาจนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวได้

อย่างไรก็ตาม แม้ชีวิตเราจะต้องเกี่ยวข้องกับโลกโซเชียลมีเดียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากถ้าเราลองปรับตัวและใช้งานมันเท่าที่จำเป็นได้ โซเชียลมีเดียก็จะมีประโยชน์และเป็นตัวช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ดีอย่างแน่นอน

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here