เคราะห์ซ้ำสุดๆ ชี้เงินเฟ้อพุ่ง กระทบคนจนมากกว่าคนรวย

0
993
kinyupen

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี สร้างความกังวลต่อค่าครองชีพของครัวเรือน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ 5.73% YoY เพิ่มขึ้นจาก 5.28% เดือนกุมภาพันธ์ สาเหตุสำคัญจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่เร่งสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับสูงขึ้นมาก (+31.4% YoY)

 

 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าในหมวดอาหารที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ไข่ไก่ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ที่ 2.0% จาก 1.80% ในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 4.75% และ 1.43% ตามลำดับ

 

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก สร้างความกังวลให้แก่สังคมเกี่ยวกับผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายและกำลังซื้อ จนทำให้ยอดค้นหาของคำว่า ‘เงินเฟ้อ’ ใน Google แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคมร่วงลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

 

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% จากแรงหนุนของราคาอาหารเพื่อบริโภคที่บ้านและราคายานพาหนะ อีกทั้งราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยยืนอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย และอาจใช้เวลาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีกว่าที่จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

 

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรีพบว่า จากตะกร้าการบริโภคสินค้าที่มีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มคนรายได้ต่ำจะมีสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดอาหารเพื่อบริโภคที่บ้านและการขนส่งรวมกันราวสองเท่าของกลุ่มคนรายได้สูง จึงมีโอกาสเผชิญเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นกว่า 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน สวนทางกับกลุ่มคนรายได้สูงที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก

 

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงต้นปีจะมีสัญญาณเชิงบวกจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แต่ในระยะถัดไปปัจจัยกดดันจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่มีความเสี่ยงอาจลากยาวมากขึ้นกระทบเศรษฐกิจโลกและการค้าชะลอลง ส่งผลต่อภาคการส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทย ขณะที่ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจะส่งผลต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า

 

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงจากภาวะชะงักงันของอุปทานของโลก หากสถานการณ์การล็อกดาวน์ของจีนเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุดมีแนวโน้มยืดเยื้อและเป็นวงกว้างมากขึ้น เนื่องจากมีการประเมินว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยมีการใช้ input จากจีนคิดเป็นสัดส่วนเมื่อเทียบกับมูลค่าผลผลิตรวมทั้งหมด (gross value added) สูงสุดเป็นอันดับ 3  รองจากเวียดนาม และฮ่องกง

 

 

 

kinyupen