อายุเริ่มมากขึ้น ความแข็งแรงของกระดูกก็เสื่อมถอยลง แค่แค่กระแทกเบาๆ ก็กระดูกหัก กระดูกแตกได้ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่แค่อุบัติเหตุธรรมดา แต่อาจมาจากภาวะ “กระดูกพรุน”
เพราะโรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่เราไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่าเป็นจริงๆ จนกระทั่งได้ “ล้ม” หรือ”กระดูกหัก” บางคนต้องใส่เหล็กดามขา ต้องพิการกลายเป็นใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาชวนทุกคนรู้จัก และป้องกันกระดูกพรุนกันค่ะ
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือโรคที่ความหนาแน่นและมวลกระดูกลดลง จนทำให้กระดูก เปราะบาง พรุน และแตกหักง่าย เนื่องจากความสามารถในการรับน้ำหนัก แรงกระแทกของกระดูกลดลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย เช่น ลื่น สะดุด หกล้ม เป็นต้น จนนำไปสู่ความพิการและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในที่สุด
นายแพทย์ธนวัฒน์ อำพันทรัพย์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกพรุนและโรคกระดูกในผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคกระดูกพรุนทำให้กระดูกหักง่าย โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ สาเหตุของการเกิดโรคมาจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันระหว่างเซลล์สลายเนื้อกระดูกเก่า (Osteoclast) และเซลล์สร้างกระดูกใหม่ (Osteoblast) ทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก จากอายุที่มากขึ้น การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน และความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมลดลง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน
- กรรมพันธุ์
- อายุที่มากขึ้น
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงลดลง หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี ส่วนผู้ชายฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง
- ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม
- แคลเซียมและวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ
- สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์รบกวนกระบวนการสร้างกระดูก
พฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
พฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ ทำจนเคยชิน โดยที่ไม่รู้ตัวว่านั่นคือการทำร้ายสุขภาพกระดูกทางอ้อมเช่น
- นั่งไขว่ห้าง – น้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่งส่งผลให้กระดูกสันหลังคด
- นั่งหลังงอ หลังค่อม – กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งค้าง ทำให้ปวดเมื่อยและจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นใยกล้ามเนื้อเมื่อนั่งท่านี้นานๆ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมหรือมีการกดทับของเส้นประสาทสันหลัง
- ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป – แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง
- ยืนพักขา ลงน้ำหนักด้วยขาข้างเดียว – ควรยืนขาให้กว้างเท่าสะโพก เพื่อให้เกิดความสมดุลของโครงสร้างร่างกาย
- หิ้วของหนักด้วยนิ้ว – มีผลทำให้พังผืดยึดตามข้อนิ้วมือ
- นอนขดตัว – นอนหงายเป็นท่านอนที่เหมาะสม หากจำเป็นต้องนอนตะแคงให้หาหมอนข้างก่ายเพื่อรักษาแนวกระดูกให้อยู่ในแนวตรง
- นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น – ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนัก เพราะเป็นฐานในการรับน้ำหนักตัว
- ยืนแอ่นพุง – ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ควรยืนหลังตรง แขม่วท้องเล็กน้อย เพื่อรักษาแนวของกระดูกช่วงล่างไม่ให้แอ่น
- นั่งกอดอก – หลังช่วงบน สะบัก และหัวไหล่ถูกยืดยาวออก หลังช่วงบนค่อมและงุ้มไปด้านหน้า ทำให้กระดูกคอยื่นไปด้านหน้า มีผลต่อเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงแขน อาจทำให้มืออ่อนแรงหรือชาได้
- สะพายกระเป๋าหนักข้างเดียว – เกิดการทำงานหนักอยู่ข้างเดียว ส่งผลให้กระดูกสันหลังคดได้
สังเกตอย่างไรว่าเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน
ประเมินง่ายๆ จากความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหลังเรื้อรังแบบหาสาเหตุไม่ได้ หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งผิดปกติ ความสูงลดลง หรือกระดูกหักง่าย แม้จะเป็นการกระแทกเบาๆ หรือแค่การบิดเอี้ยวตัวตามปกติ หากพบความผิดปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโดยการส่งไปตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกด้วยเครื่อง DXA ก่อนวางแผนการรักษาต่อไป
โดยการรักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีทั้งการรับประทานยา ฉีดยา และการเสริมฮอร์โมน เพื่อกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก รวมถึงลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูกขึ้นอยู่กับชนิดของยาที่ใช้
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน
หากไม่อยากเอาตัวเองไปเสี่ยงกับโรคกระดูกพรุน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ฝึกการทรงตัวป้องกันการหกล้ม รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน
สิ่งเหล่านี้นอกจากป้องกันโรคกระดูกพรุนได้แล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมสู้ทุกโรค เพื่อสุขภาพดีและอายุที่ยืนยาว