โรคซึมเศร้า เข้าวัดก็ช่วยไม่ได้ เมื่อธรรมะมีไว้เยียวยา ไม่ใช่รักษา

0
1274
kinyupen

“คิดมากเกินไปรึเปล่า ปล่อยวางบ้าง”

“คิดบวกเข้าไว้ ยังมีคนที่แย่กว่าเราอีกเยอะ”

“ไปนั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรม สงบจิตสงบใจหน่อยไหม”

เรามักพบเห็นแนวทางสำเร็จรูปเหล่านี้จากใครหลายคน แม้เป็นคำพูดที่แสดงความปรารถนาดี แต่เป็นความหวังดีที่ผิดบุคคล ผิดเวลา หากคนคนนั้นกำลังมีอาการของ “โรคซึมเศร้า” นอกจากธรรมะจะไม่ได้ช่วยแล้ว คำพูดเหล่านี้ยังแสดงถึงการขาดความเข้าใจต่อผู้ป่วยอีกด้วย

 

ก่อนที่กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะอธิบายให้กระจ่างว่าทำไมธรรมะ การคิดบวก การปล่อยวาง นั้นเป็นการแก้ซึมเศร้าที่ “ผิด” เรามาเข้าใจโรคซึมเศร้ากันเสียก่อน

 

 

รู้จัก ‘โรคซึมเศร้า’ ที่เข้าวัดก็ช่วยไม่ได้

10 – 15 ปีก่อน “โรคซึมเศร้า” ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนักในประเทศไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นโรคทางจิตเวชที่พบบ่อยจนเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ โดยกรมสุขภาพจิตกำหนดนโยบายให้ปี พ.ศ. 2552 – 2564 เป็นทศวรรษแห่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้ากันเลยทีเดียว

 

แม้ซึมเศร้าเป็นโรคที่ชื่อคุ้นหูขึ้น แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่มักเข้าใจ (ไปเอง) ว่าเป็นสภาวะ “จิตตก” คือมีความรู้สึกเครียด กลุ้มใจ เศร้าใจ หดหู่ที่เกิดขึ้นจากความผิดหวังหรือการสูญเสีย และหายได้เอง มากกว่าที่จะเป็นโรค

หนักกว่านั้นบางคนเข้าใจว่าอาการซึมเศร้าเป็นการเรียกร้องความสนใจ ก่อเกิดเป็นคำแนะนำที่ให้ผู้ป่วยรวบรวมสติ และให้ต่อสู้กับอาการซึมเศร้าด้วยตนเอง ทั้งที่โรคซึมเศร้าจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

ทางการแพทย์ระบุว่า โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความคิด และอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย โดยผู้ป่วยมักมีอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น หรือเป็นรุนแรง และมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ ตามมา

เช่น นอนหลับๆ ตื่นๆ หรือนอนมากเกินไป เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง สมาธิและความจำลดลง ไม่สนใจตนเองสังคม และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันบกพร่อง รู้สึกว่าตัวเองจนถึงไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป

 

 

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

แม้โรคซึมเศร้านั้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้อย่างชัดเจน แต่จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องพบโรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่

1. กรรมพันธุ์ มีส่วนเกี่ยวข้องสูง โดยเฉพาะในกรณีของผู้ที่มีอาการเป็นซ้ำหลายๆ ครั้ง

2. สมดุลของระบบสารเคมีในสมอง พบว่า ระบบสารเคมีในสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความผิดปกติ โดยสารที่สำคัญ ได้แก่ เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ลดต่ำลง รวมทั้งอาจมีความผิดปกติของเซลล์รับสื่อเคมีเหล่านั้น

3. อุปนิสัย นิสัย และบุคลิกภาพเชิงลบ เช่น การขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง มองตนเองในแง่ลบ มองโลกในแง่ร้าย ไม่สามารถจัดการความเครียดได้อย่างเหมาะสม สามารถทำให้บุคคลนั้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้

4. ปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดสูง เช่น การสูญเสียหรือพลัดพราก ความเจ็บป่วยที่เรื้อรัง ปัญหาทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ไม่พึ่งปรารถนา สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้

 

เมื่อรู้ตัวหรือสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบแพทย์เพราะขั้นตอนในการรักษานั้นค่อนข้างซับซ้อน ใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญจึงจะรักษาอย่างได้ผล

 

 

คนใกล้ชิดเป็นซึมเศร้า ซัพพอร์ตเขาให้ดี

ความเข้าใจและการช่วยเหลือสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากคนใกล้ชิดผู้ป่วยโดยเฉพาะคนในครอบครัวและเพื่อนมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

เพราะการปฏิบัติไม่เหมาะสม (เนื่องจากความไม่เข้าใจทั้งโรคและผู้ป่วยอย่างถ่องแท้) การไม่ให้ความสำคัญกับอาการป่วยของผู้ป่วย การกล่าวโทษผู้ป่วยว่าแสร้งทำหรือขี้เกียจ การเรียกร้องให้ผู้ป่วยต้องหายจากโรคอย่างรวดเร็ว

อาจกลายเป็นการซ้ำเติมหรือกดดันผู้ป่วยโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ผู้ป่วยอ่อนแอลง รู้สึกเหนื่อยอ่อนไร้ค่า สิ้นหวัง หรือหมดหนทางที่จะต่อสู้กับปัญหาต่อไปได้

 

 

แล้ว “ธรรมะ” ช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้หรือไม่

“ธรรมโอสถ” ช่วยเยียวยาความรู้สึกซึมเศร้าได้ แต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรคซึมเศร้า หากใช้ธรรมะผิดเวลาจะเกิดผลเสียมากกว่าเดิมได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตใจ (สามารถ) รู้ชัดซึ่ง-จิตหดหู่ และ-จิตฟุ้งซ่าน ได้

 

แต่สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อย่าว่าแต่พิจารณาเห็นจิตตามปกติเลย…แค่การใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะอาการของโรคทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรวบรวมสติและพลังที่จะต่อสู้โรคได้ด้วยตนเอง

 

หากพยายามบังคับตัวเองให้ปฏิบัติธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิ แล้วไม่สามารถทำได้จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกหงุดหงิดและผิดหวังในตัวเอง

พานคิดน้อยใจไปว่า แม้แต่ธรรมะก็ไม่ช่วย และรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าลงไปอีก ทำให้อาการของโรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้นได้ หรือปฏิบัติแล้วอาจทำให้เกิดอาการฟุ้งซ่าน ประสาทหลอนมีการรับรู้ที่บิดเบือนไปจากปกติ จนกลายเป็นคนวิกลจริตได้

 

 

ศ.ดร.เจมส์ สจ๊วต ผู้เชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยาเคยถามหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโมว่า “การปฏิบัติกรรมฐานสามารถใช้รักษาคนเป็นโรคจิตประเภทย้ำคิดย้ำทำและซึมเศร้าได้หรือไม่”

หลวงพ่อตอบว่า “การปฏิบัติกรรมฐานสามารถช่วยให้ผู้ปฏิบัติมีสติมากขึ้น ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานได้สำเร็จจะเป็นผู้มีความสุขและสงบไม่มีอาการฟุ้งซ่านหรือผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคจิต แต่คนที่เป็นโรคจิตอยู่แล้ว ยังไม่ควรมาปฏิบัติกรรมฐานเพราะจิตใจยังไม่เป็นปกติ ถ้าหากมาปฏิบัติกรรมฐานก็อาจเป็นบ้าได้

 

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงต้องได้รับการรักษาอาการป่วยอย่างถูกต้องก่อน เมื่ออาการเป็นปกติในระดับหนึ่งแล้วก็สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อให้ “ธรรมโอสถ” ช่วยเยียวยาเสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตอันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้

 

ดังนั้นการเป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยคิดไปเองว่าป่วย เรียกร้องความสนใจ หรือเป็นคนขี้เกียจ อ่อนแอ คิดมากไม่สู้ปัญหา เอาแต่ท้อแท้ บางครั้งผู้ป่วยสามารถอารมณ์ ‘ดิ่ง’ ได้โดยไม่มีสาเหตุ

คอยพูดคุยและรับฟังพวกเขา ผู้ป่วยต้องการหาคนรับฟัง มากกว่าพูดหรือสอนธรรมะ และแทนที่จะแนะนำให้พบพระ ควรแนะนำให้พบแพทย์หรือนักบำบัดจะถูกทางกว่า

 

ธรรมชาติ.  (2561, กุมภาพันธ์).  “ธรรมโอสถ สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า,” Secret.  10(230) : 90-91

 

kinyupen