2 สินทรัพย์น่าลงทุน เพื่ออนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า

0
808
kinyupen

ธีมการลงทุนเปลี่ยนไปทุกๆ 10 20 ปี แล้วต่อจากนี้โลกจะหมุนไปอย่างไร? สร้างแผนการลงทุนรับมืออนาคตกับ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต วันนี้เรามีมุมมองการลงทุนในโลกอนาคต จากนิตยสาร SCG Delight Magazine Jan – Mar 2022 มาฝาก

 

โลกเราในอีก 20 ปีข้างหน้า จะขับเคลื่อนไปด้วย 2 นวัตกรรมใหม่ ที่กำลังจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ได้แก่ สกุลเงินดิจิทัลและการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือ ESG

 

 

สกุลเงินดิจิทัล

ภายใต้ยุคสกุลเงินดิจิทัลนั้นจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น ดังนี้

 

1. นโยบายการเงินแบบเข้มข้นขึ้น จากเดิมที่ใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (หรือ QE) ซึ่งหมายถึงการซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางจากสถาบันการเงิน จะกลายมาเป็นการใช้นโยบายดอกเบี้ยแบบติดลบแทน

2. ไม่เพียงแต่นโยบายการคลังที่มีคุณสมบัติแบบที่เน้นช่วงเวลาที่เหมาะสม เฉพาะเจาะจง และชั่วคราว (Timely, Targeted, and Temporary) ด้านนโยบายการเงินก็จะมีลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

3. อัตราเงินเฟ้อและจีดีพี จะมีความผันผวนน้อยกว่าและเข้าใกล้ค่าเป้าหมายในยุคเงินดิจิทัลจะสามารถทำได้ดีกว่าในตอนนี้

 

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีน และยุโรป จะได้รับอานิสงส์ที่ดีดังกล่าว โดยจะทำให้อัตราผลตอบแทนของตลาดเพิ่มขึ้นในยุคเงินดิจิทัลมากกว่าในปัจจุบัน จากนโยบายการเงินที่มีประสิทธิภาพกว่าและภาพเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

 

โดยยุคสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างสกุลเงินดอลลาร์กับเงินหยวน โดยมีเงินยูโรและเงินเยนเป็นตัวประกอบของเงินสกุลดิจิทัลหลักทั้งสอง

 

 

พลังงานสีเขียว

ขณะที่โลกบอบช้ำ ชาวโลกต้องร่วมด้วยช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้ Green Energy, Renewable Energy ลดการสร้างขยะ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 

จากการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ จะส่งผลให้ความเสี่ยงจากสภาวะอากาศแปรปรวนและปัญหาโลกร้อนขึ้น (หรือ Physical Risk) ลดลง

 

ในขณะที่ความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากการไม่ได้นำทรัพยากรน้ำมันดิบใต้พื้นผิวโลกขึ้นมาใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกเรา (หรือ Transition Risk) สูงขึ้น

 

ทั้งนี้ ได้แบ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกเป็น 3 สถานการณ์ดังรูป ได้แก่

  • สถานการณ์ที่โลกเราเดินทางเข้าสู่อนาคตแบบที่ไม่ได้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (Orderly Transition) โดยที่นโยบายต่างๆ ของมนุษย์ที่พยายามช่วยโลกให้เป็นสีเขียวทำได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผลกระทบต่อโลกจากทั้ง Physical Risk และ Transition Risk ไม่ได้สูงมาก
  • สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมเราดีขึ้น ทว่าทำค่อนข้างช้ากว่าที่ควรจะเป็น (Disorderly Transition with Limited Physical Risk) ส่งผลให้ Physical Risk และ Transition Risk สูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง
  • สถานการณ์ที่ไม่มีการทำนโยบายรักษ์โลกร้อนจากมนุษย์เราเลย (Hot House World with Extreme Physical Risk) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อความเสี่ยงด้านกายภาพจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงอย่างเต็มที่ โดยที่ Transition Risk มีน้อยมาก

 

เมื่อโลกเราเข้าสู่ความเป็นพลังงานสีเขียวในอีก 20 ปีข้างหน้า เซกเตอร์การลงทุนในตลาดหุ้นจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน โดยที่

จากที่มีเซกเตอร์น้ำมันและก๊าซจะกลายมาเป็นเซกเตอร์พลังงานสีเขียว

จากเซกเตอร์สถาบันการเงินจะมาเป็นเซกเตอร์ฟินเทคสีเขียว (หรือ Green Financial Technology)

จากเซกเตอร์เทคโนโลยี มาเป็นเซกเตอร์ที่เน้นปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ Big Data แบบสีเขียว

 

โดยเมื่อนำนวัตกรรมการนำโลกเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่ผ่านสกุลเงินดิจิทัลและโลกแห่งพลังงานสีเขียวมาผนวกเข้าด้วยกัน สำหรับอีก 20 ปีข้างหน้า ในมุมมองของผู้เขียน ดัชนีของตลาดหุ้นหลักของโลกจะเติบโตได้เป็นดังนี้

 

  • ดัชนีหุ้น CSI300 ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้นจีนน่าจะขึ้นไปได้ 7 เท่าจากระดับปัจจุบัน จากการเติบโตเศรษฐกิจที่มีอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศหลักของโลก
  • ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้นสหรัฐ น่าจะขึ้นไปได้ 6 เท่าจากระดับปัจจุบัน
  • ดัชนี MSCI Europe ซึ่งเป็นตัวแทนตลาดหุ้น ยุโรป น่าจะขึ้นไปได้ 4 เท่าจากระดับปัจจุบัน
  • ดัชนีหุ้น Nikkei และ FTSE 100 ซึ่งเป็นตัวแทน ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและอังกฤษ ตามลำดับ น่าจะขึ้นไปได้ 3 เท่าจากระดับปัจจุบัน

 

บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ. (2565, มกราคม – มีนาคม) . “ภาพเศรษฐกิจกับผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก…ในทศวรรษหน้า,” Delight Magazine. 21 (1) : 36-40

kinyupen