ด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งการรักษาสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อม ชีวิตวิถีใหม่จึงมีผู้คนนิยมลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง และหันมารับประทาน ก่อเกิดนิยามต่างๆ ของการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
- อาหารมังสวิรัติ (Vegetarian)
- อาหารวีแกน (Vegan)
- อาหารจากพืช (Plant-based Food)
แล้วมันต่างกันอย่างไร? หลายคนอาจยังสับสน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ชวนมาเรียนรู้ และทำความเข้าใจเพื่อเลือกเมนูอาหารได้ถูกหลัก ทั้งยังจะเอาไว้ชี้แจงร้านอาหารให้ชัดเจน โดยนำข้อมูลจาก นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ มาฝากค่ะ
มังสวิรัติ (Vegetarian)
หมายถึง รูปแบบการทานอาหารที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ในทางปฏิบัติอาหารมังสวิรัติในงานวิจัยต่างๆ ได้รวบเอากลุ่มย่อย 5 กลุ่มเข้าด้วยกัน โดยไม่แยก ได้แก่
- เจเขี่ย (Flexitarian) คือ พวกทานอาหารปกติที่มีเนื้อสัตว์ แต่เขี่ยเนื้อสัตว์ออกทานแต่พืช
- มังทานปลา (Pesco Vegetarian) คือ พวกไม่ทานเนื้อสัตว์อื่น ยกเว้นเนื้อปลา
- มังทานไข่ (Ovo Vegetarian) คือพวกไม่ทานเนื้อสัตว์อื่น ยกเว้นไข่
- มังทานนม (Lacto Vegetarian) คือพวกไม่ทานเนื้อสัตว์อื่น ยกเว้นนม
- วีแกน (Vegan) คือ พวกเจหรือมังเข้มงวด ไม่ทานอะไรที่มาจากสัตว์ทั้งสิ้น
วีแกน (Vegan)
คือพวกเจหรือมังเข้มงวด ไม่ทานอะไรที่มาจากสัตว์เลย วีแกนเป็นรูปแบบการทานอาหารที่เติบโตมาจากคน 5 กลุ่ม คือ
- คนรักสัตว์
- คนเคร่งศาสนา
- คนรักโลก ที่มองว่าหากเลิกทานเนื้อสัตว์ วัวและหมูที่ปล่อยก๊าซมีเทนให้โลกร้อนจะลดลง พื้นที่เลี้ยงสัตว์จะกลับมาเป็นป่ามากขึ้น
- นักกีฬาที่แสวงหาความอึดระดับสูงสุด
- คนที่ทานเพื่อสุขภาพโดยเฉพาะ คนเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการพลิกผันโรคของตัวเอง
เพราะมีข้อมูลแพทย์สนับสนุนมากขึ้นว่า การเปลี่ยนมาทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์และปรุงแบบไม่ใช้น้ำมันผัดทอด (Low Fat Vegan) สามารถป้องกันและพลิกผันโรคเรื้อรังต่างๆ ได้
อาหารแบบทานพืชเป็นหลัก (Plant-Based Whole Food หรือ PBWF)
เป็นรูปแบบใหม่ของการทานอาหาร ที่เกิดขึ้นตามหลังงานวิจัยการพลิกผันโรคหัวใจหลอดเลือดและงานวิจัยการเลิกยาในโรคเบาหวาน
ซึ่งให้ผู้ป่วยทานอาหารที่มีแต่พืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติที่ปรุงโดยไม่ผัดไม่ทอด (Low Fat PBWF) โดยไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย พบว่าทำให้โรคหัวใจหลอดเลือดถอยกลับได้ ทำให้คนไข้เบาหวานหยุดยาฉีดยาทานได้
ต่อมาได้มีผู้นำอาหารพืชเป็นหลักมาใช้กับผู้ที่ยังไม่ป่วยหรือป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น ไขมันสูง ความดันสูง ผู้ป่วยก็นิยมทานโดยปรับลดความเคร่งครัดลง คือทานพืชผักผลไม้มากๆ เป็นหลัก
แต่ก็มีการทานเนื้อสัตว์แทรกด้วยในปริมาณไม่มาก เช่น ปู ปลา กุ้ง หอย เป็ด ไก่ เป็นพวกเดินสายกลาง ผ่อนหนักผ่อนเบาได้บ้าง
Whole Food
คำว่า Whole Food ในอาหารแบบทานพืชเป็นหลักหมายความว่า ทานพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ โดยไม่ผ่านกระบวนการสกัด ขัดสี เช่น
- อาหารธรรมชาติที่มีไขมันสูง (เช่น อะโวคาโด มะพร้าว ถั่วเหลือง)
- ผลไม้หวานที่ทานทั้งผลโดยไม่ปั่นเอากากทิ้งข้าวกล้อง
- ขนมปังโฮลวีต (ทั้งนี้ต้องระวังการตั้งชื่อให้เข้าใจผิดว่า เป็นขนมปังโฮลวีต แต่เมื่ออ่านฉลากกลับพบว่า มีแป้งโฮลวีตอยู่เพียง 10 – 20%)
โดยในแง่ของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ต่ออาหารประเภทต่างๆ นั้นมีอยู่ว่า ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจหลอดเลือดระดับสูง หรือโรคเบาหวานระดับใช้ยาฉีดยาทานแล้ว งานวิจัยพลิกผันโรคด้วยอาหารที่สำเร็จ ล้วนใช้อาหารวีแกนแบบไม่ใช้น้ำมันผัดทอด (Low Fat Vegan)
ส่วนในผู้ที่เป็นโรคไม่มาก เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง หรือยังไม่เป็นโรคเรื้อรัง แต่อยากมีสุขภาพดี
อาหารที่มีพืชผักผลไม้ในปริมาณมากมีผลทำให้ตัวชี้วัดสุขภาพดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบวีแกนเข้มงวดหรืออาหารแบบมังสวิรัติไม่เข้มงวด ก็ได้ผลดีเช่นกัน
รูปแบบอาหารที่ทำให้สุขภาพดี
คำแนะนำทางโภชนาการปัจจุบันมุ่งเน้นให้ทานอาหารที่ทำให้สุขภาพดี (Healthy Food Pattern) รัฐบาลสหรัฐฯ โดย USDA ออกคำแนะนำเรื่องรูปแบบอาหารที่ทำให้สุขภาพดี โดยยกตัวอย่างไว้ 3 รูปแบบคือ
-
- อาหารมังสวิรัติ ซึ่งรวมกลุ่มย่อยทั้ง 5 กลุ่มข้างต้นไว้ทั้งหมด
- อาหารเมดิเตอร์เรเนียน เป็นรูปแบบอาหารที่ได้พลังงานส่วนใหญ่จากธัญพืชไม่ขัดสี หัวพืชใต้ดินผัก และผลไม้
- อาหารสุขภาพแบบอเมริกัน ซึ่งดัดแปลงมาจากอาหารลดความดันเลือด (Dash Diet) ที่วิจัยโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) และมีไฮไลท์ว่าทานผักและทานผลไม้มากๆ อย่างละ วันละ 5 เสิร์ฟวิ่ง
แม้วันนี้หลายคนจะยังนิยมทานเนื้อสัตว์อยู่ แต่นายแพทย์สันต์ก็ได้แนะนำให้ลองหาโอกาสสัปดาห์ละหนึ่งวัน ทดลองทำอาหารวีแกนแบบไม่ใช้น้ำมันผัดทอดดูบ้าง
หรือค่อยปรับการกินให้โดยเพิ่มสัดส่วนของพืชผักผลไม้มากขึ้น หรือโปรตีนจากพืชแทน เช่น ถั่วเหลือง, ธัญพืช และเห็ด ไว้ทดแทนเนื้อสัตว์ในเมนูต่างๆ ได้ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น แถมยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการปรุงอาหารอีกด้วย
นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์. (2565, มกราคม – มีนาคม) . “วีแกน (Vegan) กับ อาหารพืชเป็นหลัก (PBWF) ต่างกันอย่างไร,” Delight Magazine. 21 (1) : 82-83