โรคจิตเภท (Schizophrenia) ต้องเข้าใจ รักษาได้ถ้ารู้ทัน

0
781
kinyupen

หลายคนอาจสงสัยว่า อาการบางอย่างที่มันเกิดขึ้นบางทีก็ไม่มีเหตุผล บางเรื่องที่ทำลงไปก็เกิดจากความไม่ตั้งใจ จนบางทีสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โทษตรงนู้นโทษตรงนั้นไปเรื่อย แต่จริงๆ แล้วอาการที่คุณหรือคนรอบข้างเป็นอยู่อาจไม่ได้มากับสิ่งรอบตัว แต่มาจากร่างกาย

 

 

วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะมาแนะนำ ‘โรคจิตเภท’ ให้ทุกคนได้รู้จักกัน โดยนำข้อมูลจาก ผศ. พญ.มุทิตา พนาสถิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนิตยสาร happiness

 

 

“โรคจิตเภท” เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคจิต (psychotic disorders) ที่พบได้บ่อยเมื่อเทียบกับโรคอื่น ๆ ในกลุ่มโรคจิต และถือเป็นแม่แบบเมื่อใช้อ้างอิงกับโรคที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น “โรคบ้า” หรือ “โรคจิต”

 

ซึ่งในทางจิตเวชแล้ว “กลุ่มโรคจิต” นั้นหมายถึง ความผิดปกติของกระบวนการคิดและการรับรู้ที่ส่งผลให้เกิดความคิด การแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมที่แปลกแยกไม่สมเหตุผล จนเกิดปัญหาต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

 

แต่ผู้ป่วยมักไม่รู้หรือไม่ยอมรับว่าอาการดังกล่าวนั้นผิดปกติหรือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง จึงเกิดการต่อต้านไม่ร่วมมือหรือปฏิเสธที่จะรับการรักษา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

เนื่องจากหากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยเกิดการป่วยเรื้อรัง ดื้อต่อการรักษา และเป็นภาระในการดูแลและภาระทางเศรษฐกิจในระยะยาว จากการที่สมองได้รับผลกระทบเมื่อมีการกำเริบช้ำ ๆ จนไม่ฟื้นคืนกลับไปสู่ศักยภาพเดิมของผู้ป่วยได้

การค้นคว้าวิจัยพบว่า สาเหตุของโรคจิตเภทเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน ทั้งจากปัจจัยทางชีวภาพและการทำงานของสมอง ร่วมกับปัจจัยกระตุ้นจากสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

บุคคลที่มีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเภทมักมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ เช่น มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือมีสาเหตุจากการเสียสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองร่วมกับความผิดปกติของกลไกการทำงานของเซลล์สมองในหลายส่วน

 

 

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยร่วมจากการใช้สารเสพติด และปัจจัยทางจิตสังคม ได้แก่ การเลี้ยงดูในครอบครัวที่ใช้อารมณ์รุนแรงหรือการเลี้ยงดูที่ห่างเหิน สังคมแวดล้อมไม่เป็นมิตร โดดเดี่ยว หรือ มีความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาหรือลัทธิบางอย่างที่เคร่งครัด

 

การเผชิญกับความเครียด ความกดดันในชีวิต ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าว มีผลกระทบต่อการทำงานของสมองซึ่งกระตุ้นให้อาการทางจิตกำเริบได้ และหากอาการรุนแรงจะเกิดความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม

 

 

เกณฑ์การวินิจฉัยโรคจิตเภท

จิตแพทย์มีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจิตเภทที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งอ้างอิงตาม Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders ฉบับที่ 5 (DSM-5) ที่กำหนดโดยสมาคมจิตแพทย์ชาวอเมริกัน ดังนี้

 

ข้อ A มีความผิดปกติของอาการเหล่านี้อย่างน้อย 2 ข้อจาก 5 ข้อ

ซึ่งต้องประกอบด้วยข้อ (1) , (2) หรือ (3) ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 1 เดือน (อาจน้อยกว่าได้หากได้รับการรักษาแล้วอาการทุเลา)

 

 

1. อาการหลงผิด (delusion)

หมายถึงความเชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นความจริงและเปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นได้ยากแม้ว่าจะมีหลักฐานที่ขัดแย้งยืนยัน

 

เช่น เชื่อว่าตนมีอิทธิฤทธิ์วิเศษหรือเป็นบุคคลสำคัญ มีอำนาจมีชื่อเสียง เชื่อว่าตนถูกสอดแนมติดตาม หรือถูกปองร้ายจากบุคคลหรือกลุ่มคน เชื่อว่ามีเหตุการณ์บางอย่างมีความเชื่อมโยงกับตนเองหรือมีคนพูดพาดพิงถึงตนเอง

เชื่อว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงมาหลงรัก เชื่อว่าตนเองมีความเจ็บป่วยบางอย่างหรืออวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติ หรือเชื่อว่าชีวิตกำลังดับสูญหรือโลกมีหายนะจะแตกดับ เป็นต้น

 

ซึ่งอาการหลงผิดนี้สังเกตได้ว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่สมเหตุผล ไม่จริง หรือผิดแผกไปจากสิ่งที่สังคมแวดล้อมนั้นเชื่อถือ

 

 

2. ประสาทหลอน (hallucination)

หมายถึงการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสบางอย่างที่ไม่มีสิ่งเร้าจริงในสิ่งแวดล้อมและการรับสัมผัสมักชัดเจนหรือเสมือนจริงโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมได้ ประสาทหลอนที่พบได้บ่อยมากในโรคจิตเภท คือ หูแว่ว เช่น ได้ยินเสียงคนคุยกันหรือนินทาว่าร้ายทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องคนเดียว หรือได้ยินเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของตนเองหรือเสียงสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น

 

บางครั้งอาจสังเกตอาการูหูแว่วจากการที่ผู้ป่วยมีท่าทางเหมือนตั้งใจฟังบางอย่างอยู่ หรือพึมพำอยู่คนเดียว อย่างไรก็ตามอาจพบอาการประสาทหลอนแบบอื่นได้แต่ไม่บ่อยนัก ได้แก่ ภาพหลอน อาการหลอน ของการรับกลิ่น รับรส หรือรับสัมผัสทางผิวหนัง

 

แต่เมื่อผู้ป่วยมีประสาทหลอนที่ไม่ใช่หูแว่วแล้ว ในทางการแพทย์จะบ่งชี้ถึงสาเหตุจากความผิดปกติทางสมองที่ไม่ใช่จากโรคจิตเภทมากกว่า เช่น ผลจากสารเสพติด ลมซัก หรืออาการเพ้อสับสนจากความเจ็บป่วยที่กระทบต่อการทำงานของสมอง เป็นต้น

 

 

3. การพูดจาขาดการเชื่อมโยงไม่ปะติดปะต่อ (disorganized speech)

เป็นอาการที่แสดงถึงสมองทำงานผิดปกติ ทำให้กระบวนการคิดผิดปกติไป ผู้ป่วยจึงพูดจาไม่เป็นเรื่องราว ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น วกวน เนื้อหาเข้าใจได้ยากเรื่องราวกระโดดไปมา หรือพูดเป็นคำ ๆ พูดซ้ำ ๆ จับใจความไม่ได้

 

 

4. พฤติกรรมแปลกแยกไม่เหมาะสม (disorganized behavior)

เป็นอาการที่แสดงว่าสมองทำงานผิดปกติ ทำให้กระบวนการคิดผิดปกติไป จึงส่งผลต่อพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุผล เช่น พฤติกรรมถดถอยเหมือนเด็ก ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกกาลเทศะ ท่าทางแปลกประหลาด กระวนกระวาย แสดงความก้าวร้าว หรืออาจนิ่งเฉยไม่ขยับเคลื่อนไหว

 

ซึ่งการมีพฤติกรรมที่แปลกแยกไม่เหมาะสมนี้ส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันและสุขอนามัยของผู้ป่วย รวมทั้งกระทบต่อคนรอบข้างได้ เช่น ก่อความรำคาญหรือหวาดกลัว

 

 

5. กลุ่มอาการด้านลบ (negative symptoms)

หมายถึงลักษณะบางอย่างบกพร่องไปจากสิ่งที่คนทั่วไปพึงมี ได้แก่ การสื่ออารมณ์ความรู้สึกน้อยลง สังเกตได้จากการแสดงสีหน้า แววตา น้ำเสียง หรือการเคลื่อนไหวที่ลดลง

 

รวมทั้งการพูดน้อย การนิ่งเฉยเมย การขาดความกระตือรือร้นวันในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการแยกตัว เก็บตัว ไม่เข้าสังคม อาการด้านลบนี้จึงส่งผลกระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ

 

ㆍข้อ B

ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีความผิดปกติในข้อ A ทำให้เกิดปัญหาอย่างชัดเจนต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น การเรียน หรือการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีความผิดปกติ

 

ㆍข้อ C ความผิดปกติดังกล่าวเป็นต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน

โดยในช่วง 6 เดือนนั้นรวมระยะ 1 เดือน ในข้อ A (ซึ่งเรียกว่าช่วงอาการกำเริบ หรือ active phase) และอาจรวมช่วงระยะอาการนำก่อนกำเริบ (ที่เรียกว่า prodromal phase) หรือช่วงระยะอาการคงค้างหลังกำเริบ (ที่ เรียกว่า residual phase)

 

ทั้งนี้ในระยะอาการนำหรือระยะอาการคงค้างนั้น อาจพบความผิดปกติเพียงกลุ่มอาการด้านลบ หรือพบความผิดปกติอย่างน้อย 2 ข้อ ใน 5 ข้อ ตามเกณฑ์ข้อ A แต่ไม่รุนแรง

 

 

ㆍข้อ D

ความผิดปกติดังกล่าวต้องไม่เข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคจิตชนิดอื่น หรือโรคทางอารมณ์ที่มีอาการทางจิตร่วมด้วย

 

ㆍข้อ E

ความผิดปกติดังกล่าวต้องไม่มีสาเหตุโดยตรงจากการใช้สารเสพติดหรือจากโรคทางกายอื่น

 

ㆍข้อ F

ในกรณีที่มีประวัติการป่วยจากกลุ่มโรคออทิซึม (autism spectrum disorder) ในวัยเด็กมาก่อน การวินิจฉัยโรคจิตเภทจะทำได้เมื่อมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนอย่างเด่นชัด ร่วมกับอาการอื่น ๆ ของโรคจิตเภทต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน (อาจน้อยกว่าได้ หากได้รับการรักษาแล้วอาการทุเลา)

 

เพศและโอกาสที่จะเป็นโรคจิตเภท

โรคจิตเภทนั้นพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน และในประชากรทุก ๆ 1,000 คน จะพบผู้ป่วยโรคนี้ 3-7 คน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือพื้นที่ที่ทำการสำรวจ และช่วงอายุที่เริ่มแสดงอาการนั้นจะแตกต่างกันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

 

โดยเพศชายเริ่มแสดงอาการในช่วงวัยรุ่นถึงช่วงอายุ 20 กว่าปี ส่วนเพศหญิงเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุ 20 กว่าปีและพบได้หลังจากอายุ 40 ปี

 

โรคจิตเภทมักเกิดอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลง และมักเริ่มจากกลุ่มอาการด้านลบหรืออาการหลงผิดนำมาก่อน อย่างไรก็ตามในบางคนอาจเกิดขึ้นแบบเฉียบพลันแต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก

 

 

โรคจิตเภทรักษาหายไหม?

ลักษณะของโรคนี้มักเป็นเรื้อรังและกำเริบซ้ำได้ แต่มีผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 5 ที่รักษาแล้วอาการดีขึ้นหรือหายขาด

อย่างไรก็ตามหากป่วยด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อยจะทำให้ผลการรักษาในระยะยาวไม่ดี เพราะมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ จดจำ การคิดวิเคราะห์และการวางแผนจัดการสิ่งต่าง ๆ ซึ่งส่งผลในระยะยาวต่อการเรียนหรือการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคตได้

 

 

การรักษาโรคจิตเภท

มีทั้งการรักษาด้วยยา การรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy) และวิธีทางจิตสังคม การรักษาหลักคือการใช้ยากลุ่มยารักษาอาการทางจิต (antipsychotics)

 

1. ยารักษาโรคจิตเภท

  • มีทั้งแบบรับประทานชนิดเม็ดและชนิดน้ำที่ต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นประจำ
  • แบบฉีดเข้าหลอดเลือดเมื่อมีอาการรุนแรงและต้องการให้สงบอาการอย่างรวดเร็ว
  • แบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่ช่วยให้ระดับยาในร่างกายคงที่และฉีดซ้ำทุก 2 สัปดาห์ รายเดือน หรือราย 3 เดือน เพื่อช่วยลดปัญหาการลืมหรือปฏิเสธการรับประทานยา

 

นอกจากนั้นยังมียารับประทานอื่นร่วมด้วยเพื่อช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากยารักษาอาการทางจิต

เช่น อาการเคลื่อนไหวช้า หรือกล้ามเนื้อเกร็ง รวมทั้งยากลุ่มคลายกังวล และช่วยการนอนหลับ เพื่อลดความกังวล หงุดหงิด กระวนกระวายใจและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นอาการร่วมเมื่อมีอาการทางจิตกำเริบ

 

 

2. การรักษาโรคจิตเภทด้วยไฟฟ้า

การรักษาด้วยไฟฟ้านั้นเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาที่ปรับมาหลายขนานสามารถทำให้อาการสงบได้อย่างรวดเร็วและถือเป็นการรักษาที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง

 

เนื่องจากปัจจุบันจะใช้การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วร่างกายโดยฉีดยาสลบเข้าทางเส้นเลือดดำและยาช่วยหย่อนกล้ามเนื้อ ก่อนจะปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาดที่เหมาะสมในช่วงสั้น ๆ เพียงวินาทีผ่านทางศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้คลื่นสมองมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานให้สมดุลภายใต้การดูแลของจิตแพทย์และวิสัญญีแพทย์

 

 

3. การรักษาทางจิตสังคม

การรักษาทางจิตสังคมเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติแก่ผู้ป่วยและญาติแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม

 

การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตและการปรับตัว ครอบครัวบำบัดหรือบำบัดคู่สมรสหากพบปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วย เช่น กลุ่มบำบัด กิจกรรมบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด

รวมถึงการฝึก ทักษะทางสังคมและการฝึกอาชีพ และยังมีการให้สวัสดิการทางสังคมในกรณีที่เป็นผู้พิการทางจิตอีกด้วย

 

 

 

จะเห็นได้ว่าโรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปควรมีความรู้และความเข้าใจ เพื่อให้มีมุมมองเกี่ยวกับโรคนี้ในแง่ของโรคทางสมองที่ส่งผลต่อความคิด จิตใจ และพฤติกรรม

เพื่อลดตราบาปต่อผู้ป่วยและญาติ และเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูทั้งทางสมองร่างกาย และจิตใจ รวมถึงการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันในสังคม

 

หากใครพบอาการที่คล้ายคลึง หรือเราเคยพบเห็นอาจจะพอเป็นที่สังเกตให้กับทุกคนได้ว่า บางทีสิ่งที่บางคนพูด บางคนคิดให้คำนึงว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ได้มาจากสภาพแวดล้อมรอบกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือเข้าใจเขา และหาช่องทางการรักษาให้ถูกต้อง

 

 

kinyupen