รู้ทัน ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ อันตรายถึงชีวิต

0
500
kinyupen

 

ลิ่มเลือด เดิมทีไม่ได้มีไว้อุดตันหรือทำให้เป็นอันตราย แต่ธรรมชาติสร้างลิ่มเลือดมาเพื่อห้ามเลือดเมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เวลาเป็นแผลแล้วเลือดหยุดไหลช้า

 

ทว่าหากมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันบ่อยๆ เกิดอุดตันหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ลิ่มเลือดอุดตันยังเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังฉีดวัคซีน ซึ่งมักเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ..ตกลงลิ่มเลือดอุดตันเกิดจากอะไรกันแน่?

 

เนื่องในโอกาสวันลิ่มเลือดอุดตันโลก วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี จะมีการรณรงค์จากองค์กรกว่า 3,000 แห่งทั่วโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนการป้องกันและรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอเป็นอีกเสียงที่จะช่วยให้ทุกคนรู้ทัน “ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน” มากยิ่งขึ้น โดยนำสาระดีๆ จาก โครงการรณรงค์ขององค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด (International Society on Thrombosis and Haemostasis: ISTH)

 

 

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘ลิ่มเลือด’

สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะทางการแพทย์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้มากมาย ซึ่งรวมไปถึงอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และเส้นเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (VTE)

 

โดยภาวะ VTE เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดอย่างน้อยหนึ่งก้อนที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดดำส่วนลึก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ขา (deep vein thrombosis หรือ DVT) และสามารถไหลไปทางกระแสเลือดและอุดตันอยู่ในปอด (ภาวะที่เรียกว่า pulmonary embolism หรือ PE)

 

 

 

ในปีนี้แคมเปญวันลิ่มเลือดโลกมุ่งเป้าไปที่ประเด็นดังต่อไปนี้

 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดมากถึง 60% เนื่องจากการไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้หรือการเข้ารับการผ่าตัด

กรณีของ VTE เกิดขึ้นในระหว่างหรือภายใน 90 วันของการรักษาในโรงพยาบาล เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในโรงพยาบาลที่สามารถป้องกันได้

 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและโรคโควิด19

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าโควิด-19 ทำให้เลือด “ข้น” มากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการจับตัวเป็นลิ่ม

 

  • ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันและโรคมะเร็ง

ผู้ป่วยมะเร็งมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดที่มีความรุนแรงถึงสี่เท่าเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น การผ่าตัด การรักษาในโรงพยาบาล การติดเชื้อ และความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดโดยปัจจัยเฉพาะของมะเร็ง เช่น ชนิดของมะเร็ง จุลกายวิภาค ระยะของมะเร็ง การรักษามะเร็ง และตัวบ่งชี้ทางชีวภาพบางขนิด

 

  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่สัมพันธ์กับเพศ

ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน การบำบัดโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน และการตั้งครรภ์ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดในเพศหญิง

 

โดยเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดลิ่มเลือดมากขึ้นถึงห้าเท่าในระหว่างตั้งครรภ์ สตรีทุกๆ 1 ใน 1,000 คนที่กำลังตั้งครรภ์จะเกิดลิ่มเลือด (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค พ.ศ. 2563 และคาร์ดินัล เฮลธ์ พ.ศ. 2562)

 

 

 

ภาวะ VTE เกิดขึ้นทุกปีกับผู้ป่วยกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก แต่ภาวะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจและทำการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม

การรณรงค์วันลิ่มเลือดอุดตันโลกเป็นการเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์จัดให้มีการประเมินความเสี่ยง VTE แก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย

นอกจากนี้ การรณรงค์ดังกล่าวยังส่งเสริมให้ประชาชน รวมทั้งผู้ป่วย สนับสนุนการประเมินความเสี่ยง VTE อีกด้วย

 

 

 

เคล็ดลับที่ช่วยป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

 

สังเกตอาการและสัญญาณลิ่มเลือดอุดตัน

– อาการที่ควรสังเกตและระวัง คือ อาการปวดขาและกดเจ็บ แดงและบวม หายใจถี่ หายใจเร็ว เจ็บหน้าอก และไอเป็นเลือด

 

หากไม่มั่นใจขอตรวจประเมินความเสี่ยง VTE

– บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ควรขอให้แพทย์ประเมินความเสี่ยง VTE ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์เพื่อแยกแยะปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของผู้ป่วยในการเกิดลิ่มเลือด

 

หมั่นขยับร่างกายและดื่มน้ำอย่างเพียงพอ

– หากคุณจำเป็นต้องอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานานๆ ตั้งสัญญาณเตือนทุกชั่วโมงให้ลุกขึ้น แล้วใช้เวลานั้นลุกขึ้น เดินไปรอบๆ และยืดเส้นยืดสายประมาณ 5 นาที

เพราะการอยู่นิ่งๆ เป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดได้ การดื่มน้ำในปริมาณที่พอเพียงช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เลือดข้นขึ้น ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือด

 

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลิ่มเลือด สามารถเข้าดูได้ที่  www.worldthrombosisday.org

 

 

เกี่ยวกับวันลิ่มเลือดอุดตันโลก

วันลิ่มเลือดอุดตันโลก เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2557 และจัดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดให้แก่ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ และระบบการดูแลสุขภาพ

 

เพื่อที่ท้ายที่สุดจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและความพิการโดยไม่จำเป็นจากโรคลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากการรับรู้ถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง สัญญาณและอาการของโรค รวมถึงการป้องกันและการรักษาตามอาการได้ดียิ่งขึ้น

 

 

ภารกิจวันลิ่มเลือดโลกสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกของสมัชชาอนามัยโลกในการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ลง 25% ภายในปี 2568

เช่นเดียวกับโครงการครั้งที่ 13 ที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก พ.ศ. 2562-2566 แผนงานของมอนเตวิเดโอ 2561-2573 ว่าด้วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับสูงครั้งที่สามของสมัชชาสหประชาชาติเกี่ยวกับกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

 

กรุณาเยี่ยมชม www.worldthrombosisday.org เพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติมและต้องการมีส่วนร่วม

 

 

 

เกี่ยวกับ International Society on Thrombosis and Hemostasis (ISTH)

องค์การสากลเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตันและกลไกการห้ามเลือด หรือ International Society on Thrombosis and Hemostasis (ISTH) ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับโลกที่อุทิศตนเพื่อพัฒนาความเข้าใจ การป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเลือดออกผิดปกติ

 

ISTH เป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีหลากหลายอาชีพระดับนานาชาติ ทั้งแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการมากกว่า 7,500 คนทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก

 

โดยมีกิจกรรมและโครงการริเริ่มที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง ได้แก่ โปรแกรมการศึกษาและการสร้างมาตรฐาน กิจกรรมการวิจัย การประชุมและสัมมนา รวมถึงการตีพิมพ์วารสารวิชาการที่ผ่านการตรวจสอบโดยเพื่อนร่วมวิชาชีพ การก่อตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และการจัดตั้งวันลิ่มเลือดโลกในวันที่ 13 ตุลาคม

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ISTH กรุณาเยี่ยมชมได้ที่ www.isth.org

kinyupen