ค่าสินสอด กับ ค่านิยม เส้นบางๆ ที่ขั้นกลางเท่านั้น

0
568
kinyupen

มาพูดถึงประเด็นร้อนบนโซเชียลที่ต้นเหตุมาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสินสอดว่า “ไม่เห็นแปลกเลย ถ้าอุตส่าห์เสียสินสอดเป็นแสนแล้วคาดหวังสกิลน้อยๆ แล้วทำแกงส้มได้…ถ้าไม่มีสกิลอะไรที่จะมาเป็นประโยชน์ ในชีวิตครอบครัวหลังแต่งงานเลย แล้วคาดหวังให้ผู้ชายต้องจ่ายเงินเป็นแสนนี่สิ แปลก…ไม่มีสกิล = ฟรี ก็ควรจะถูกแล้วป้ะ? ฟรีก็แต่งได้หนิ ไม่เห็นแปลก” เกิดเป็นประเด็นที่ต้องออกมาให้ชาวโซเชี่ยลแชร์และถกเถียงกันว่า “สินสอด” จำเป็นต้องมีหรือไม่ ในปัจจุบัน

 

ต้องบอกว่าสมัยก่อนกับสมัยนี้มีความคิด การใช้ชีวิต การกินอยู่ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยและสิ่งแวดล้อมรอบตัว บางธรรมเนียมคงอยู่ บางธรรมเนียมก็ยกเลิก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของแต่ละวัฒนธรรมคือจุดประสงค์ของการปฏิบัติในช่วงเวลานั้นๆ ว่าสิ่งที่เกิดประโยชน์ที่สุดคืออะไร กินอยู่เป็น จึงพาทุกคนมาหาคำตอบว่าในยุคสมัยนี้จำเป็นต้องมีหรือไม่

 

ธรรมเนียมการให้สินสอดของจีนในสมัยก่อน มองว่าชีวิตหลังแต่งงานแต่ละบ้านแต่ละครอบครัวจะต้องมีเงินไว้ตั้งตัว เพื่อทำมาหากินการที่พ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาวเรียกเงินสินสอดฝ่ายชายนั้นสุดท้ายแล้วเขาก็จะมอบเงินสินสอดทั้งหมดให้กับเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเพื่อเป็นการมอบ “เงินตั้งตัว” ให้กับทั้งคู่เพราะผู้ชายจะพาผู้หญิงไปอยูที่บ้าน เข้าไปช่วยทำมาหากินและสร้างครอบครัว แน่นอนว่าการเริ่มต้นจะต้องมีทุน หรือจะพูดถึงการให้สินสอดของอินเดีย ที่ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นฝ่ายที่จ่ายค่าสินสอดให้กับฝ่ายชายด้วยเพราะเหตุผลที่ว่า ฝ่ายชายจะต้องนำเงินที่ฝ่ายหญิงมอบให้มาเลี้ยงดูฝ่ายหญิงไปตลอด จึงเกิดเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ในครอบครัว ที่จะพบข่าวฝ่ายชายกระทำทารุณกับฝ่ายหญิงเพื่อเรียกสินสอดเพิ่ม แม้จะแต่งงานกันแล้ว ซึ่งในปี ค.ศ. 1961 ระบบสินสอดในอินเดียก็ยกเลิกไปและถูกตีความให้เป็นเรื่องผิดกฎหมายหากเกิดการเรียกสินสอด

 

เมื่อมองดูแล้วคำตอบก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นว่าสิ่งที่ทำเกิดและเปลี่ยนแปลงคือ “ค่านิยม” ของแต่ละช่วงเวลา ในสมัยก่อนสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตคือการใช้แรงงานเพื่อแลกเงินแน่นอนว่าฝ่ายที่ต้องออกไปหาเงินเข้าบ้านคือฝ่ายชาย การคาดหวังในการที่จะให้ฝ่ายหญิงดูแลเรื่องบ้านเรือนการทำกับข้าวก็คือค่านิยมและปัจจัยแวดล้อมในช่วงนั้น

 

ซึ่งในปัจจุบันการแบ่งเพศ แบ่งหน้าที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสังคมโตขึ้น คนทุกคนเริ่มเท่ากันบางคนมองว่าอาจไม่จำเป็นต้องมีสินสอดก็ได้เพราะมองว่าเป็นการเปรียบเทียบค่าความสามารถและไม่ให้เกียรติกันในส่วนของความรู้สึก

 

แน่นอนว่าการเรียกค่าสินสอดในรูปแบบความคิดเดิมก็ยังคงมีอยู่ แต่หากถามว่าสินสอดยังจำเป็นอยู่ไหม สิ่งเหล่านี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ ขนบธรรมเนียมและค่านิยมของแต่ละครอบครัว เพราะแต่ละครอบครัวมีพื้นฐานความคิดและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการตัดสินใจของคนทั้ง 2 คน

kinyupen