5 วิธีจัดการลูกน้องอีโก้สูง น้ำเต็มแก้ว สั่งงานแล้วพัง

0
1766
kinyupen

ความดื้อดึง อวดรู้อวดฉลาดของคนน้ำเต็มแก้วนี้ เป็นปัญหาแก้ไม่ตกกับเหล่าหัวหน้า ทั้งมอบหมายงานและสอนงานยากเย็น ประสานงานยากลำบาก บางครั้งล่มไม่เป็นท่า เพราะความ “รู้แล้วๆ” “ผมว่าแบบนี้ดีกว่าอีก” “ผมไม่ผิดนะแต่..”

หนำซ้ำบางคนยังอีโก้สูง ชอบดูถูก ข่มความฉลาดใส่ผู้อื่น ทำเอาผู้ร่วมงานหมดความมั่นใจกันทีเดียว

 

พฤติกรรมอวดเก่งไม่เพียงส่งผลเสียต่อคนรอบข้าง หน้าที่การงานของตนเองและองค์กรแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อความฉลาดอย่างร้ายแรง! เพราะการทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วเท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่า ไม่ต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่ม! ตัวฉันนั้นถูกต้องที่สุด

 

พฤติกรรม Toxic แบบนี้หัวหน้างานคงเครียดน่าดู เพื่อให้องค์กรก้าวหน้าขึ้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมาแชร์วิธีจัดการลูกน้องน้ำเต็มแก้ว โดยเรียงตามความร้ายแรงดังนี้

 

จัดการลูกน้องอีโก้สูง น้ำเต็มแก้ว ร่วมงานแล้วพัง

ขั้น 1 สร้างศรัทธาในตัวเอง

คนเก่งส่วนใหญ่มักคิดว่าคนอื่นไม่เก่ง และเป็นไปได้ว่าจะมองว่าหัวหน้าไม่เก่ง จึงดูแคลนความคิดหัวหน้าและไม่เชื่อสิ่งที่คุณแนะนำ ม้าที่ดีมักพยศ อยู่ที่ว่าจะขี่มันยังไง คนเก่งแต่อีโก้สูงก็เช่นกัน

  1. คนเป็นหัวหน้าต้องศรัทธาในตัวเองก่อน เมื่อถูกยกตนข่มท่านอย่าคล้อยตามถ้าไม่มีเหตุผลที่ดีพอ ต้องไม่หมดความมั่นใจในตัวเอง จงจำไว้ว่าผู้ที่จะเป็นหัวหน้าได้ไม่ใช่ต้องเก่งกว่าใคร ไม่ต้องรู้ทุกเรื่อง และไม่ต้องให้ค่ากับคนที่จิตมีปัญหา เพราะสิ่งสำคัญคือ
    • ความเข้าใจกระจ่างในงานที่ทำ
    • ต้องมีความคิดที่รอบคอบ
    • มีความกล้าในการสั่งการและตัดสินใจ
  2. สร้างศรัทธากับลูกน้อง ลองมอบหมายงาน หรือให้แก้ปัญหาที่ยากมากๆ แก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ ปล่อยให้สาละวนอยู่สักพักใหญ่ จากนั้นจึงค่อยเข้าไปช่วยแก้ไข หมั่นทำแบบนี้ ทีละเล็กละน้อย ค่อยๆ หยอดกระปุกความศรัทธาไป

 

ขั้น 2 ได้ใจ ก่อน ได้งาน

เป็นไปได้ไหม พนักงานอาจรู้สึกว่า เจอหัวหน้าทีไร ก็มีแต่เรื่องของงาน งาน และงาน เลยตีความคำว่า “สอน” เป็น “เจ้ากี้เจ้าการ” หรือ “ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ” ไปซะ

เพิ่มเวลาในการพูดคุยเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงานบ้าง สร้างความรู้สึก สนิทสนมในฐานะพี่คุยกับน้อง หรือเพื่อนคุยกับเพื่อน แทนที่จะเป็น “เจ้านายสอนลูกน้อง” อยู่ตลอดเวลา หรือเปลี่ยนจากการพร่ำสอน ด้วยคำพูด มาเป็นการตั้งคำถามให้คิด เผื่อเขาอาจเอ๊ะ!? แล้วคิดได้ขึ้นมาเฉยๆ ก็เป็นไปได้

 

ขั้น 3 สร้างเงื่อนไข – ทำไม่ดีต้องรับผล

สร้างตัวชี้วัด ลักษณะการทำงานที่พึงประสงค์ให้เชื่อมโยงกับการขึ้นเงินเดือน หากสิ่งที่เขาทำมีผลต่อเงิน ,ผลดีผลเสียที่เขาจะได้รับ เขาจะฟังขึ้นมาบ้าง

เช่น หากให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทีมหรือมีคุณสมบัติพิเศษ จะได้เงินพิเศษเพิ่ม ถ้าคุณสมบัติไม่ถึงมาตรฐานจะถูกตักเตือน เป็นต้น

 

ขั้น 4 ดื้อเกินไป ส่งงานใหญ่ให้ประสบเคราะห์กรรมเอาเอง

ต้องยอมรับว่าบางคนเข้าขั้นหัวรั้น ใครพูดไม่ฟัง คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด ชอบเอาชนะ ดังนั้นลองให้เขารู้จักแพ้ รู้ซึ้งว่าความล้มเหลวเป็นเช่นไร ด้วยการมอบหมายงานยาก หรืองานที่เขาไม่ถนัด แล้วให้เขาแสดงฝีมืออย่างเต็มที่

การประสบเคราะห์กรรมอะไรบางอย่างจะช่วยให้เขาลดความหยิ่งลง เมื่อพบอุปสรรคและล้มเหลว และจะได้เรียนรู้ว่า ในการทำงานไม่มีใครเก่งเสมอไป ทุกเรื่องทุกเวลา ส่วนเราทำหน้าที่ประเมินหรือให้คำแนะนำในจุดบกพร่องที่เขาต้องรับฟัง ซึ่งจะช่วยให้สามารถยอมรับผู้อื่นได้มากขึ้น

 

ขั้น 5 ทางออกสุดท้าย ให้ออกจากงาน

หากใช้ทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ไม่มีความเปลี่ยนแปลง การให้ออกจากหน่วยงานหรือองค์กรก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะยิ่งอยู่นาน สุดท้ายมีแต่สร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครเอาอยู่ น้ำเต็มแก้วจนรั้น จะทำให้การทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นได้ยาก และเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่องค์กร อาจเกิดปัญหาแบบเดียวกันได้อีก

 

 

สุดท้ายแม้การจัดการกับปัญหาเรื่องคนจะเป็นเรื่องยาก แต่หากใช้ศาสตร์และศิลป์จัดการได้ดี จะเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” ดังนั้นสิ่งสำคัญในการทำงานไม่ใช่ความเก่งหรือความรอบรู้ หากแต่มีปัจจัยอื่นมากมาย หากยังสำคัญตัวผิดว่าฉันนั้นถูกต้อง ฉันเก่งที่สุด สุดท้ายคน “น้ำเต็มแก้ว” จะกลายเป็นคนล้าหลัง

การตัดสินใจว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป คุณจะสมัครใจเป็นคนโง่ตลอดชีวิต” ช่างเป็นเรื่องน่าเสียดาย

 

กินอยู่เป็นขอบคุณข้อมูลจาก : SoftBankThai ,mgronline.com

kinyupen