ห้ามวางมือถือใกล้หัวตอนนอน ทานเผ็ดมากความจำจะเสื่อม เรื่องของสุขภาพลามไปจนข่าวลือ ข่าวปลอม เพราะคนไทยห่วงใยกันเสมอ “ก็เขาว่ามาแบบนี้” แชร์กันไม่รู้อะไรจริง-เท็จแต่ก็อยากเตือนกันไว้ก่อน กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาไปดูว่า..อะไรเล่าคือคำตอบที่แท้จริง
ดื่มกาแฟแล้วใจสั่น?
กาแฟคือเครื่องดื่มโปรดของคนจำนวนไม่น้อยแม้จะเป็นเครื่องดื่มแสนอร่อยแต่บางคนดื่มแล้วกลับเกิดอาการใจสั่นสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายของเราตอบสนองต่อ “คาเฟอีน” แตกต่างกันนั้นเอง
คาเฟอีน เป็นสารที่อยู่ในกาแฟ ชา โกโก้ ช็อกโกแลตแท่งชนิดเข้มข้น เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้สมองตื่นตัว เมื่อรู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้าหลายคนจึงเลือกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนเพื่อช่วยให้ความสดชื่น และกระฉับกระเฉง
อย่างไรก็ตามคาเฟอีนไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป บางคนที่ตอบสนองไวมากต่อสารชนิดนี้ เมื่อดื่มกาแฟแม้เพียงนิดเดียวก็จะส่งผลต่อการทำงานของเอนไซม์ในหัวใจ กระตุ้นการหลั่งสารอะดรีนาลินทำให้หัวใจบีบตัวเร็วและแรงขึ้น เกิดอาการใจสั่น รู้สึกกระวนกระวายหงุดหงิด และอาจกังวลว่าหากเกิดอาการเหล่านี้บ่อยๆ จะมีแนวโน้มเป็นโรคหัวใจหรือไม่
แต่คงพอจะโล่งใจได้บ้าง เพราะปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดเจนว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ
ทางที่ดีคือลองสังเกตตัวเอง หากคุณตอบสนองไวต่อคาเฟอีนก็ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารดังกล่าว ส่วนผู้ที่ดื่มกาแฟแล้วไม่มีอาการใดเกิดขึ้นก็ควรดื่มกาแฟไม่เกินวันละ 1-3 แก้ว เพราะการมีคาเฟอีนสะสมในร่างกายมากเกินไป อาจกระตุ้นให้หัวใจและชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ความดันโลหิตสูง และอาจได้รับพลังงานจากน้ำตาลและไขมันจากครีมเทียมเกินความจำเป็นโดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูป
รับประทานเผ็ดมากไปเพิ่มความเสี่ยงโรคความจำเสื่อม
ผู้สูงอายุคือกลุ่มหลักที่มีแนวโน้มเป็นโรคความจำเสื่อมเนื่องจากความเสื่อมถอยของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง แต่นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว การรับประทานเผ็ดมากไปก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมได้เช่นกัน
ผลการวิจัยที่เปิดเผยใน พ.ศ. 2562 นำโดยนักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยกาตาร์ ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลชาวจีนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป จำนวน 4,600 คน ระหว่างพ.ศ. 2534-2549 พบว่ามีการเสื่อมถอยของกระบวนการรับรู้ในกลุ่มคนที่บริโภคพริกอย่างต่อเนื่องปริมาณมากกว่า 50 กรัมต่อวัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ เพราะแต่เดิมการวิจัยมักระบุว่าการบริโภคพริกส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ช่วยชะลอวัยเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย บำรุงรักษาสายตา กระตุ้นการเจริญอาหาร
แต่การวิจัยนี้พบว่าการบริโภคพริก โดยเฉพาะพริกสดและพริกแห้ง กลับส่งผลเสียต่อกระบวนการรับรู้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุ 50 กว่าปีขึ้นไป
แม้ว่าความเผ็ดจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อยจัดจ้านมากขึ้น แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการรับประทานเผ็ดมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความจำเสื่อมแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในช่องปาก แสบร้อนกลางทรวงอก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อยท้องเสีย ฯลฯ อีกด้วย
ปรับสายสะพายเป้ให้ยาวเข้าไว้จะได้ไม่ปวดหลัง
ต้องยอมรับว่ากระเป๋าเป้นั้นเหมาะมากสำหรับการใช้งานในกิจกรรมที่ต้องการความคล่องตัว ด้วยความที่บรรจุของได้เยอะและสะดวกในการนำติดตัว บางคนสะพายเป้แล้วชอบปรับสายให้ยาวเพราะคิดว่าช่วยให้ไม่ปวดหลัง แต่แท้จริงแล้วการสะพายแบบห้อยต่ำนั้นส่งผลตรงกันข้ามเลยทีเดียว
การปรับสายยาวๆ ให้เป้ทิ้งตัวจะส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อหลังโดยตรง โดยเฉพาะบ่าและไหล่ที่ต้องแบกรับน้ำหนักของเป้ยิ่งสะพายเป้ด้วยไหล่ข้างเดียวยิ่งส่งผลเสีย เพราะทำให้หัวไหล่ บ่า และอก ต้องเกร็งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ หลัง นานวันเข้าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของกระดูกสันหลังคดได้
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการสะพายเป้เพียงข้างเดียว และสะพายเป้โดยปรับสายให้เป้ทั้งใบแนบกับแผ่นหลัง เพื่อให้แผ่นหลังช่วยรองรับน้ำหนักกระเป๋าด้วยอีกทาง ขณะยืนหรือเดินควรค้อมตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพราะหากทิ้งตัวไปข้างหลัง น้ำหนักของเป้จะกดบนไหล่โดยตรงทำให้ปวดไหล่มากกว่าเดิม และควรเปลี่ยนวิธีสะพายเป้เป็นระยะ โดยใช้มือประคองก้นกระเป๋า หรือเปลี่ยนสะพายเป้ไว้ด้านหน้า แล้วใช้มือประคองก้นกระเป๋าเพื่อช่วยผ่อนแรงไหล่บ้าง
นอกจากนี้เวลาซื้อเป้ ควรเลือกเป้ที่มีสายกว้างและนุ่มเพื่อรองรับน้ำหนัก หากเป็นเป้เดินทางใบใหญ่ควรเลือกเป้ที่มีสายรัดเอวด้วยเพื่อช่วยไม่ให้เป้ถ่วงไปด้านหลัง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เป้เป็นเพื่อนข้างกายที่ไปด้วยกันได้ทุกที่และไม่ส่งผลร้ายต่อเราในภายหลัง
วางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้หมอนหรือชาร์จโทรศัพท์ใกล้ตัวขณะนอนหลับมีผลต่อสมองและร่างกาย
ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่มักเข้านอนโดยวางโทรศัพท์มือถือไว้ข้างหมอน หรือชาร์จโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ ตัวขณะนอนหลับเพื่อสะดวกหยิบมาใช้งานในตอนช้า แต่ก็มีความกังวลกันว่าสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือจะส่งผลต่อการทำงานของสมองและร่างกายหรือไม่
สัญญาณโทรศัพท์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่งจัดอยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้สัญญาณโทรศัพท์มีความเสี่ยงในการก่อโรคมะเร็งเพียงระดับ 2B หมายถึง อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง แต่ในระดับความเป็นไปได้ที่ต่ำมาก
ถ้าแยกย่อยเป็นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ จากผลการสำรวจร่วมกันของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ. (กสทช.) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า ค่าการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสถานีฐานในระยะ 400 เมตร ต่ำกว่าขีดจำกัดมาตรฐานที่กำหนดไว้มาก
และหากสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะมีอันตรายต่อสมองและร่างกาย องค์การอนามัยโลกก็ระบุไว้ว่าต้องใช้โทรศัพท์มือถือแนบหูเป็นเวลานานในแต่ละวัน และต้องใช้เวลาต่อเนื่องนานนับสิบปีถึงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกในสมอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรระมัดระวังการชาร์จโทรศัพท์มือถือในช่วงเวลานอนหลับ เพราะแบตเตอรี่หรือสายชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเกิดการชำรุดเสียหายโดยที่เราไม่รู้ อาจไหม้หรือระเบิดขึ้นได้ในช่วงที่เรานอนหลับดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่เนื่องๆ
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่คิดว่าไม่เป็นไร ก่อเรื่องใหญ่มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้นก่อนส่งต่อข้อมูลที่ไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบให้ชัวร์ก่อนแชร์ความเชื่อแบบผิดๆ ให้กระจายต่อเป็นวงกว้าง แม้ความเชื่อจะฝังรากลึกในใจไปใครหลายคนไปแล้ว เราก็มีส่วนช่วยที่จะหยุดฟันเฟืองนี้ได้ ลองส่งบทความนี้ให้พวกเขาดูสิคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะผู้จัดทำนิตยสาร happiness.(2021). TRUTH OR MYTH.happiness, 11 (44), 68-69.