Covishield กับเส้นทางวัคซีนของโลก

0
640
kinyupen

ถ้าไม่นับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำการทดลองใช้เป็นครั้งแรก อันทำให้คนทั้งโลกติดตามลุ้นผลอย่างใจจดจ่อในเวลานี้ วัคซีนทั่วทั้งโลกกว่าร้อยละ 70 ล้วนผลิตจากบริษัทยาในอินเดีย และมากกว่าร้อยละ 50 ผลิตจากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India – SII) บริษัทเอกชนที่ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก มียอดจำหน่ายปีละ 1.5 พันล้านโดสทั่วโลก

 

SII จัดหาวัคซีนให้กับประเทศต่างๆ 170 ประเทศทั่วโลกทุกปี ราวร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ผลิตได้เป็นไปเพื่อการส่งออก และโดยเฉลี่ยมีราคาเพียง 50 เซนต์ หรือประมาณ 16 บาทต่อโดสเท่านั้น นับเป็นวัคซีนที่ถูกที่สุดในโลก วัคซีนเหล่านี้ยังมีความจำเป็น เช่น วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ โรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (Diphtheria-Tetanus-Pertussis) วัคซีนป้องกันโรคฮีป (Hib) หรือวัคซีนพื้นฐาน เข็มเดียวป้องกันได้ 5 โรคคือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (r-Hepatitis B) วัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles) โรคคางทูม (Mumps) และโรคหัดเยอรมัน (Rubella) เป็นต้น

ประมาณว่าเด็กๆ ร้อยละ 65 ในโลก ล้วนได้รับวัคซีนที่ผลิตจาก SII ทั้งนั้น

 

ว่าที่จริง วัคซีนต้านโควิด-19 ที่กำลังทดลองใช้ตอนนี้ สหรัฐฯ ก็ทำงานร่วมกับ SII ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมาสองประเทศนี้ทำโครงการพัฒนาวัคซีนร่วมกันมานานกว่าสามทศวรรษ วัคซีนแต่ละตัวเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ที่ SII ร่วมมือกับโคดาจีนิกซ์ (Codagenix) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ พัฒนาวัคซีนประเภท live attenuated ซึ่งเป็น 1 ใน 89 วัคซีนต้นแบบต้านโควิด-19 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรอง

หลังจากสหรัฐฯ เดินหน้าฉีดวัคซีนต้นโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 โดยใช้วัคซีนจากสองบริษัทคือ ไฟเซอร์ (Pifzer) กับโมเดอร์นา (Moderna) เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา อินเดียก็เริ่มปฏิบัติการฉีด Covishield หรือวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก วัคซีน 300 ล้านโดสกระจายออกไปทั่วประเทศภายในวันเดียว!

 

นี่คือผลงานระดับเหรียญทองของสองผู้ยิ่งใหญ่ในโลกวัคซีน ดร.ไซรัส พูนนาวัลลา (Cyrus Poonawalla) เจ้าของฉายา “ราชาวัคซีนแห่งอินเดีย” (Vaccine King of India) กับ อาดาร์ พูนนาวัลลา (Adar Poonawalla) บุตรชายที่ครองตำแหน่ง CEO ของ SII ผู้ผลิต Covishield แต่เพียงผู้เดียวในอินเดีย

 

ก่อน SII จะเกิดขึ้น ครอบครัวพูนนาวัลลาเป็นเจ้าของคอกม้า ทำธุรกิจเพาะพันธุ์ม้าในมุมไบ รวมถึงการแข่งม้า ความมั่งคั่งของตระกูลนี้เป็นที่เลื่องลือไม่เพียงในรัฐมหาราษฏระ แต่ยังติดอันดับมหาเศรษฐีลำดับ 7 ของอินเดีย

ม้าที่หมดอายุขัยจะถูกขายต่อให้กับสถาบันฮาฟฟ์ไคน์ (Haffkine Institute) เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับม้า จนกระทั่งหมอคนหนึ่งแนะนำดร.ไซรัส ว่าไหนๆ ก็ทำธุรกิจกับสิ่งมีชีวิตอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองธุรกิจเกี่ยวกับยาหรือวัคซีนที่ช่วยชีวิตคนดูบ้าง ดร.ไซรัส จับมือกับน้องชาย-ซาวารี พูนนาวัลลา ช่วยกันก่อตั้งสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียขึ้นในปี 2509 เริ่มจากผลิตเซรุ่มสำหรับแก้พิษงู วัคซีนป้องกันบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโปลิโอ ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่ใหม่มากในอินเดีย ณ เวลานี้

 

กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียผลิตและส่งออกวัคซีนให้องค์กรระดับโลก ทั้งองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ มูลนิธิของบิลเกตส์ (Gates Foundation) วิธีการบริหารงานของ ดร.ไซรัส คือผลิตวัคซีนจำนวนมากเพื่อลดต้นทุน ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บสต๊อกสำรองแม้จะยังไม่มีออร์เดอร์ แต่เมื่อเกิดโรคระบาดที่ไหนในโลก SII จะเป็นแหล่งเดียวที่สามารถส่งวัคซีนไปได้ทันท่วงที

 

ในวัย 76 ปี ดร.ไซรัส พูนนาวัลลา ส่งไม้ต่อให้แก่ลูกชายคนเดียว-อาร์ดา พูนนาวัลลา เข้าบริหารงานแทน CEO หนุ่ม (และหล่อ) วัย 33 ปี ได้รับฉายาว่า “เจ้าชายวัคซีนแห่งอินเดีย” (Vaccine Prince of India) แทนที่ “ราชา” ที่ลงจากบัลลังก์

อาดาร์ พูนนาวัลลา เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาฟังบิล เกตส์บรรยายใน TED Talks (2015) เกี่ยวกับสภาวะโรคร้อน การเปลี่ยนแปลงของโลก การใช้ชีวิตของผู้คนที่รีบเร่ง ความสามารถในการเดินทางที่ไกลกว่าเดิม โรคต่างๆ ที่เกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลง การที่มนุษย์รุกรานพื้นที่ของสัตว์ โรคที่เกิดจากการสัมผัสอันไม่พึงประสงค์ ฯลฯ บิล เกตส์บอกว่า สงครามนิวเคลียร์ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล โรคระบาดต่างหากที่น่ากลัวกว่า ดังนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นเขาจึงไม่แปลกใจนัก แต่แปลกใจตรงที่ว่า โลกส่งสัญญาณบอกเรามานานแล้ว แต่เราก็ยังไม่คิดจะทำอะไรกับมันเลย โรคระบาดแบบนี้ยังไงก็ต้องเกิดอยู่แล้ว แค่รอเวลาระเบิดออกมาเท่านั้น

 

ขณะที่ทั่วโลกชะงักงันเพราะการระบาดของโควิด-19 อาดาร์นับเป็นคนแรกๆ ที่ตั้งรับทันควัน วันที่ 22 เมษายน 2563 เขาประกาศว่า SII ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ชื่อ โควิชิลด์ (Covishield)

 

และเพื่อให้มีวัคซีนมีปริมาณมากสำหรับใช้งาน อาดาร์ทุ่มทุน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เดินเครื่องผลิตโควิชิลด์ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ในช่วงนั้น การผลิตวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนทดลองกับมนุษย์ และเขาไม่สามารถจำหน่ายจนกว่าวัคซีนจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐบาล รวมถึง WHO แต่ CEO หนุ่มมั่นใจว่าวัคซีนจะได้รับการอนุมัติแน่น ซึ่งจะทำให้ SII มีวัคซีนจำนวนมากออกมาทันใช้ในเดือนธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

 

What if โควิชีลด์ไม่ได้ผล?

ก็เท่ากับว่า “เจ้าชาย” เอา 300 ล้านเหรียญไปทิ้งลงมหาสมุทรอินเดียนั่นแล

What if โควิชีลด์เห็นผล?

 

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียจะกลายเป็นบริษัทแรกในโลกที่ผลิตวัคซีนโควิชิลด์ได้จำนวนมากที่สุด รองรับประชากรโลกได้ มาถึงตอนนี้ ดูท่าว่าผลจะออกมาเป็นอย่างหลัง เพราะเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 รถบรรทุกโควิชิลด์เดินทางออกจาก SII มุ่งหน้าสู่ทุกรัฐในอินเดีย

 

สินค้าของอินเดียส่วนใหญ่มักถูกมองว่าเกรดต่ำเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับของอเมริกาหรือของยุโรป แต่คนที่รู้จักอินเดียดีจะรู้ว่าที่นี่คือ สุดยอดเรื่องโปรดักส์เกี่ยวกับอายุรเวช สารพัดยาสมุนไพร และยารักษาโรค ที่ผลิตในอินเดียราคาไม่แพง คุณภาพดี ต้นไม้พันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งไม้ยืนต้น สมุนไพร กว่าครึ่งข้ามทะเลมาจากอินเดียในช่วงเวลาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ยุคสำเภาค้าขายที่มาพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเมื่อกว่าพันปีก่อน

นับจากนี้ Covishield น่าจะออกเดินทางยาวไกล พอๆ กับเส้นทางสายไหมในอดีต

 

ข้อมูลประกอบการเขียนและภาพประกอบ

 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมา อาดาร์ พูนนาวัลลา CEO ของ SII ทวิตข้อความและภาพทีมงานจำนวนมหาศาลที่มารวมตัวกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์การปล่อยวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือ COVISHIELD ล็อตแรก ทำให้แต่ละคนซึ่งมาจากทุกทิศทุกที่ในอินเดีย ได้เดินทางกลับบ้านเกิด หลังจากทิ้งครอบครัวมานานหลายเดือนเพื่องานนี้ (ภาพจาก seruminstitute.com 12 มกราคม 2564)

 

(ซ้าย) อาดาร์ พุนนาวัลลา ถ่ายภาพร่วมกับ ดร.ไซรัส พูนนาวัลลา ในงานแถลงข่าวเรื่องโควิชิลด์
(ขวา) มาดนุ่มของอาดาร์ พูนนาวัลลา ในแล็ปของ SII

kinyupen