ละครสัตว์ฉายโฮโลแกรมแทนสัตว์จริง ไม่ทำร้ายน้อง

0
779
kinyupen

ถ้าคุณอายุเกิน 40 ปี น่าจะรู้จัก “รพินทร์ ไพรวัลย์” สุดยอดพรานไพรใจฉกาจของ ม.ร.ว.ดาริน วราฤทธิ์ พระเอก “เพชรพระอุมา” สุดยอดนวนิยายผจญภัยที่ “พนมเทียน” ใช้เวลาค่อนชีวิตเขียนนานถึง 25 ปี

 

แต่ถ้าคุณอ่านเพชรพระอุมาเมื่อตอนวัยเยาว์ แล้วหยิบมาอ่านใหม่ในวันนี้ ความรู้สึกอาจไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะฉากไล่ล่าสัตว์ป่าเป็นโขยงที่เคยอ่านแล้วมันมือ กลับกลายเป็นความรู้สึกเวทนา เช่นเดียวกับพนมเทียน ที่บรรยายความรู้สึกภายในใจที่เปลี่ยนแปลงไปในห้วงสองทศวรรษ รพินทร์ ไพรวัลย์ในเพชรพระอุมา-ภาคสอง แทบจะครองตนเหมือนนักบวช

 

บริบทของสังคมทำให้ “Perception” หรือการรับรู้ของเราเปลี่ยนแปลง

ไม่นานมานี้ มีการแชร์ในเฟซบุ๊ก เป็นคลิปเด็กหญิงฝรั่งคนหนึ่งที่ร้องไห้สะอึกสะอื้นตอนไปเที่ยวสวนสัตว์กับครอบครัว บอกว่าสงสารสัตว์ที่ต้องอยู่บ้านเล็กจิ๊ดเดียว แต่พวกวัยเพชรพระอุมาอย่างเราๆ กลับตื่นเต้นที่ได้ดูสัตว์ในกรง หรือเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เอากอริลลามา “โชว์” ตัว คนก็แห่ไปดูกันแน่น

 

วันนี้ สังคม (และสิ่งแวดล้อม) เปลี่ยนไป ไม่มีใครอยากดูสัตว์นั่งตาแป๋วแหววในกรง แต่กอริลลาผู้น่าสงสารก็กลับเข้าป่าไม่ได้แล้ว จำต้อง “ติดคุก” ตลอดชีวิตบนยอดตึก

 

เพราะการรับรู้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป จึงเกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้กับการแสดงละครสัตว์เป็นครั้งแรกในโลก คณะละครสัตว์นี้ชื่อว่า The Circus Roncalli เป็นคณะละครสัตว์สัญชาติเยอรมัน ซึ่งต่อจากนี้ไม่อยากจะเรียกว่าละครสัตว์เลย เพราะมีการละเล่นหลากหลายผสมผสาน ขอทับศัพท์ว่า “เซอร์คัส” เห็นภาพชัดกว่า

 

ภาพจาก truththeory.com

 

ภาพจาก truththeory.com

 

ใครๆ ก็รู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่หลังม่านของบรรดาสัตว์ที่อยู่กับคณะนั้นน่าเวทนาเพียงใด เลวร้ายกว่าอยู่ในสวนสัตว์หลายเท่า ทั้งขนาดที่อยู่ (กรง) บวกกับการเดินทางนานๆ อาหารจำกัดจำเขี่ย และการถูกโบยตีเป็นประจำ ซึ่งเป็นวิธีการสอนให้เชื่อฟังคำสั่ง แทบทุกตัวถูกการุณยฆาตเมื่ออายุมาก-เกินกว่าจะแสดงต่อไป (ขอบคุณ-สหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายห้ามใช้สัตว์ป่าตระเวนเพื่อการแสดง)

 

แต่การแสดงแบบเซอร์คัสของฝรั่งทำกันในระดับอุตสาหกรรม ไม่ใช่เล็กๆ แบบงานวัดของเรา เซอร์คัสคณะหนึ่งมีผู้คนนับร้อยๆ ชีวิตเกี่ยวข้อง จึงมีการเฟ้นหารูปแบบใหม่ๆ มานำเสนออยู่เรื่อยๆ The Circus Roncalli เลือกใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรม (holographic) ฉายภาพสัตว์ป่าบนพื้นที่วางกลางเวที ไม่ต้องเอาตัวเป็นๆ มาโชว์ งานนี้มีทั้งลิง ปลา ม้าป่า ช้างน้ำ (หมายถึงช้างว่ายน้ำ!) มาเล่นกายกรรม วิ่งตี่จับกันสนุกสนาน

 

ภาพจาก truththeory.com

 

นี่นับว่าเป็นการปฏิวัติภาพลักษณ์เซอร์คัสยุคใหม่ หลังจากเวียนนาเคยทำมาเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ตอนนั้นเวียนนาใช้ระบบเลเซอร์ ยิ่งภาพสัตว์ต่างๆ บนจอภาพที่วางอยู่รอบพื้นที่ ภาพที่ได้น่าตื่นเต้นพอสมควร แต่มันก็ยังแบนๆ แบบสองมิติ สู้ระบบโฮโลแกรมที่ The Circus Roncalli นำมาใช้เมื่อปลายปีที่แล้วไม่ได้ ตื่นตาตื่นใจ เดินกันอ้วนกลมกว่ากันเยอะ

 

ถ้านึกภาพ ภาพที่ได้จากโฮโลแกรมไม่ออก แนะนำให้ดูหนังเรื่อง A Hologram for the King (2016) ทอม แฮงส์ แสดง เป็นบทที่แปลกไปจากที่เราคุ้นกัน โดยเฉพาะเลิฟซีนของลุง…น่ารักเชียว

 

ถ้าอยากดูว่าเซอร์คัสที่ใช้โฮโลแกรมจะออกมายังไง ลองชมตัวอย่างกันเลย

kinyupen