บิ๊กดาต้าผู้ป่วย…ช่วยลดเสี่ยงเลี่ยงทรุด สู่ทางรอดจากโรคร้ายในยุคดิจิตอล

0
604
kinyupen

โลกกำลังเปลี่ยนไปพร้อมกับการพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความก้าวหน้าทางการแพทย์เองก็พัฒนาไปอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีตอันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ คงดีไม่น้อยหากความร่วมมือกันระหว่างองค์กร ผลักดันเทคโนโลยีขับเคลื่อนความก้าวหน้าไปด้วยกัน เพื่อการรักษาผู้ป่วยมีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาแชร์แนวคิดดีๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนโลกของวงการสาธารณสุขไทย จากโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่มผู้ป่วย ในงาน Thailand EEPO 2020 ในหัวข้อ “พลังแห่งข้อมูล และการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลของระบบดูแลสุขภาพ”

 

ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง IEEPO (International Experience Exchange with Patient Organization) มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (TCS: Thai Cancer Society) และ ชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย (THPC: Thai Hemophilia Patient Club) ภายใต้การสนับสนุนของบริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อกระชับความสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมประเมินผลประโยชน์และความท้าทายที่มาพร้อมกับการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Healthcare) การใช้ข้อมูลในระบบสุขภาพ และการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในระบบสุขภาพ

 

คุณเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย

หนึ่งในประเด็นหลักของงาน Thailand EEPO 2020 ได้แก่ ความก้าวหน้าของการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลหรือ Personalized Healthcare ที่เข้ามามีบทบาทต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ด้วยการดึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย อาทิ ข้อมูลทางพันธุกรรม หรือประวัติของโรคแทรกซ้อน เพื่อวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

โดย คุณเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย และเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน Thailand EEPO 2020 กล่าวว่า “แม้ผู้ป่วยแต่ละคนจะแสดงอาการเหมือนกัน แต่อาจมีสาเหตุความเจ็บป่วยแตกต่างกัน ดังนั้น บทบาทของการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลจึงเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับรู้พื้นฐานทางสุขภาพของตนเอง และมีวิธีการดูแลและเฝ้าระวังอาการของตนเองได้อย่างเหมาะสม ในกรณีของผู้ป่วยโรคหายาก การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะโรคหายากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีน ทำให้การวินิจฉัยที่แม่นยำและการวางแผนการรักษาที่ตรงจุดเป็นเรื่องจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลยังป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัวขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น การดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล จึงเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเราเอง แล้วยังช่วยปกป้องคนในครอบครัวของเราได้อีกด้วย”

คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

จากข้อมูลเบื้องต้น จะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลต้องอาศัยข้อมูลของผู้ป่วยจำนวนมาก ดังนั้น การจัดเก็บและการเข้าถึงข้อมูลจึงนับเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้

คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน Thailand EEPO 2020 ได้เผยถึงการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลผ่านมุมมองของอดีตผู้ป่วยมะเร็งว่า “ความฝันและความหวังของดิฉันในฐานะผู้ป่วยมะเร็ง คือการได้เห็นว่าการตรวจยีนมะเร็งอย่างครอบคลุม (Comprehensive Genomic Profiling) ก่อนกระบวนการการรักษาจะกลายมาเป็นสิ่งพื้นฐานในระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ป่วยถือเป็นสิ่งที่มีค่ามากต่อการรักษา เพราะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาที่ตรงจุดมากขึ้น ช่วยลดอาการแทรกซ้อน ลดความเสี่ยงการไม่ตอบสนองต่อยา ทั้งยังเตรียมพร้อมรับมือและป้องกันโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์และนักวิจัยไทยสามารถพัฒนายารักษามะเร็งได้จำเฉพาะเจาะจงกับยีนคนไทย ซึ่งในอนาคตอาจลดค่าใช้จ่าย และทําให้คนไทยทุกเศรษฐานะสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

 

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ขับเคลื่อนผ่านการนำระบบสาธารณสุขเข้าสู่ยุคดิจิตอลนั้นอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง จากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีจุดประสงค์ร่วมกันคือเพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในระยะยาว

นอกจากนี้ ยังมีการจัดเก็บและนำข้อมูลของผู้ป่วยมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล ซึ่งปัจจัยหลักในการบริหารจัดการข้อมูลของผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ประกอบด้วย การเข้าถึงประวัติการรักษาของผู้ป่วย การเชื่อมต่อข้อมูลส่วนกลางระหว่างโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย และมาตรการการจัดเก็บและใช้ข้อมูล (Data Governance)

 

นายแพทย์ธนกฤต จินตวร รองประธานสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวช.)

นายแพทย์ธนกฤต จินตวร รองประธานสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวช.) กล่าวว่า “เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้มนุษย์สามารถทำงานและบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมหรือจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ โดยข้อมูลจะถูกส่งมาจัดเก็บในระบบกลาง (Hospital Information System) ของโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ผู้ป่วย ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งในแง่ของการบริการ การเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง”

 

“ในฐานะตัวแทนของผู้ป่วยมะเร็ง ดิฉันอยากให้กลุ่มผู้ป่วยตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ รับรู้สิทธิการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง สังเกตและบันทึกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต รวมถึงมีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์วางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ดิฉันอยากเห็นความร่วมมือจากประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อทำให้การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเป็นไปได้ง่าย ปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้น” คุณศิรินทิพย์ กล่าวเสริม

 

นอกจากความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคลแล้ว การเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพก็นับเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันการพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงติดเชื้อที่สูงขึ้นของผู้ป่วย หรือภาระที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ ส่งผลให้เทคโนโลยีโทรเวชกรรม (Telemedicine) เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ ในปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงนวัตกรรมการรักษาและวินิจฉัยเพื่อช่วยย่นระยะเวลาที่โรงพยาบาลให้แก่ผู้ป่วย ทำให้ลดความเสี่ยงและความแออัดในโรงพยาบาลลงได้

 

“เทคโนโลยีโทรเวชกรรมซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยขอคำปรึกษาและได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยบุคลากรทางการแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ผ่านระบบวิดีโอคอล นอกจากนี้ บริการส่งยาถึงบ้านยังอำนวยความสะดวกในแง่การประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง ช่วยให้ผู้ป่วยในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการรักษาได้ อีกทั้งยังลดความแออัดในสถานพยาบาลลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยีควรอยู่ใต้การควบคุมที่เหมาะสม อาทิ การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล การนำข้อมูลไปแสวงหาประโยชน์ หรือการใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลและจัดเก็บข้อมูลอย่างโปร่งใส ป้องกันไม่ให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ” นายแพทย์ธนกฤต กล่าวเสริม

 

มร. ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว

มร. ฟาริด บิดโกลิ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โรช ไทยแลนด์ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว กล่าวว่า “บทบาทหลักของเราในฐานะภาคเอกชนที่มีต่อการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะบุคคล คือการสนับสนุนการลงทุนงานวิจัยทางคลินิกในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของเมืองไทย และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข โรชมุ่งมั่นที่จะพัฒนายานวัตกรรมและแนวทางการตรวจวินิจฉัย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ โรชจะร่วมมือกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบสุขภาพในเมืองไทย”

 

นิวนอร์มอลมีทุกวงการ เทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของการทำงานในสายอาชีพแพทย์ สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกได้เผชิญทำให้เรารับรู้แล้วว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มีบทบาทมากแค่ไหน และเชื่อว่ามันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราลดการสูญเสียในด้านต่างๆ น้อยที่สุด

kinyupen