เที่ยววัดหนัง..ไหว้พระท่องสาระประวัติศาสตร์ ย่านบางนางนอง

0
1205
kinyupen

ฝั่งธนบุรี ถือเป็นย่านเก่าแก่ที่สำคัญไม่แพ้พระนคร ด้วยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานและวัดวาอารามที่มีอายุหลายร้อยปีอันเกี่ยวโยงกับความเป็นมาชาติไทยจำนวนมาก หนึ่งในนั้น คือ “วัดหนังราชวรวิหาร” หรือที่ผู้คนคุ้นหูกันในชื่อ วัดหนัง ซึ่งเต็มไปด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันวิจิตรที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชุมชนในอดีตได้อย่างลึกซึ้ง

 

1 ใน 3 วัดสำคัญ ย่านบางนางนอง

วัดหนัง ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง ถูกจัดว่าเป็น 1 ใน 3 วัดที่สำคัญ บริเวณริมคลองด่านหรือ คลองสนามชัย คลองสายสำคัญที่เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางการค้าและคมนาคมจากอยุธยาออกสู่ปากอ่าว ควบคู่กับ วัดนางนองวรวิหาร และ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร โดยผู้คนในอดีตจะเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าย่าน “บางนางนอง” (บางขุนเทียนในปัจจุบัน)

วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยหลักฐานทางโบราณวัตถุสำคัญ เช่น ระฆังหล่อด้วยโลหะสำริด ที่ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ และ พระประธานปางมารวิชัยในพระวิหารที่เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ส่วน เหตุที่เรียกกันว่า “วัดหนัง” ปรากฏเป็นเรื่องเล่าจากคนรุ่นเก่าว่า บริเวณนี้เคยเป็นแหล่งค้าขายหนังสัตว์ หรือ บ้างก็เล่าว่าเป็นวัดที่มีมหรสพ หรือ หนังใหญ่ให้ชมเป็นที่เดียว จนกลายเป็นชื่อเรียกที่คุ้นปากของคนแถบนั้น

 

ถูกทิ้งร้าง 200 ปี ได้รับบูรณะสมัย ร.3

วัดหนังถูกปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างมากว่า 200 ปี จนกระทั่ง สมเด็จพระศรีสุลาลัย หรือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม เพื่ออุทิศแก่บบรรพชนของท่านคือ “ท่านเพ็ง” (ท่านยายของรัชกาลที่ 3) ซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่แถวนี้ หากเจ้าจอมมารดาเรียมท่านทรงสิ้นพระชนม์เสียก่อนการบูรณะเสร็จสิ้น

ทำให้ รัชกาลที่ 3 ท่านจึงทรงรับเป็นพระราชภาระในการบูรณะต่อจนเสร็จตามพระราชประสงค์ และทรงสถาปนาจากวัดราษฎร์ให้มีฐานะเป็นพระอารามหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการฉลองวัดหนัง ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2380

 

สักการะขอพรเสด็จพ่อ ร. 5 และ 4 อดีตเจ้าอาวาส

เมื่อเราเดินเข้ามาในบริเวณวัด จุดที่หลายคนมักเข้ามาสักการะเป็นอันดับแรกๆ คือ วิหารพระภาวนาโกศลเถร (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) ตั้งอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญ บริเวณด้านหน้าวิหารมีรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งไว้ให้เราได้ถวายสักการะกัน ขณะที่ภายในประดิษฐานรูปปั้นเสมือนของอดีตเจ้าอาวาสทั้ง 4

(จากซ้ายในภาพ) 1. พระสุนทรศีลสมาจาร (หลวงปู่ผล คุตฺตจิตฺโต) 2. พระภาวนาโกศลเถร (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) 3. พระวิเชียรกวี (หลวงปู่ฉัตร อินฺทสุวณฺโณ) 4. พระธรรมศีลาจารย์ (หลวงพ่อสุกรี สุตาคโม)

 

 

ทั้ง 4 ท่านล้วนเป็นเกจิชื่อดังแห่งวัดหนัง โดยเฉพาะ “หลวงปู่เอี่ยม” ถือเป็นพระสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างสูง เพราะเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปที่ประเทศฝรั่งเศส ได้ทรงใช้คาถาของหลวงปู่เอี่ยมเสกหญ้าให้ม้าพยศกินจนม้าเชื่อง และสามารถประทับขี่บนหลังม้าตัวนั้นได้อย่างสง่างาม ซึ่งถ้าใครอยู่ในสายพระเครื่องก็คงพอจะทราบกันดีว่า เหรียญหลวงปู่เอี่ยมรุ่นแรกๆ นั้นล้วนเป็นที่ถวิลหาและมีสนนราคาค่อนข้างสูงถึงเลขเจ็ดหลักกันเลยทีเดียว

 

 

ถัดมาเมื่อก้าวผ่านประตูที่เรียกว่าแนวกำแพงแก้วเข้ามาในเขตพุทธาวาสจะพบ “พระปรางค์สีขาว” องค์ใหญ่สูงถึง 22.20 เมตร ประดิษฐานอยู่ระหว่างกลางพระอุโบสถกับพระวิหาร มีลานประทักษิณ 3 ชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยมภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ให้ได้สักการะ บริเวณหน้าพระปรางค์มีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ 1 แท่น เรือนไฟหิน 1 คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ 1 คู่ ซึ่งเป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ 3 นั่นเอง

 

พระปรางค์ประดิษฐานระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร

 

กราบ “พระพุทธปฏิมากร” ณ พระอุโบสถ

หากหันหน้าเข้าหาพระปรางค์ ด้านซ้ายมือจะเป็น “พระอุโบสถ” ก่ออิฐถือปูนขนาด 5 ห้อง มีเฉลียงโดยรอบ กรอบประตูและหน้าต่างปั้นลวดลายช่อดอกไม้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อคราวสถาปนาวัดหนัง ซึ่งๆด้มีการปรับปรุงแผนผังของวัดและก่อสร้างเสนาสนะอาคารต่างๆ ขึ้นใหม่

ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธปฏิมากร” พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยเป็นพระประธาน องค์พระหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทองปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่บนฐานแว่นฟ้า 2 ชั้น ฐานพระ 1 ชั้น แบบชุกชีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ แต่ย่อส่วนให้เล็กลง

 

พระพุทธปฏิมากร

 

พระวิหารพระเจ้า 5 พระองค์ อดีตอุโบสถเก่าสมัยอยุธยา

“พระวิหาร” หรือ ที่บางคนจะเรียกว่า “วิหารพระเจ้า 5 พระองค์” ด้านอยู่อีกด้านของพระปรางค์ สันนิษฐานว่าเคยเป็นพระอุโบสถเก่าของวัดหนังในสมัยอยุธยา ก่อนที่จะถูกบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 ปรับปรุงและแปลงให้เป็น “พระวิหาร” ภายนอกมีขนาดทรงจิตรกรรคล้ายกับพระอุโบสถทุกอย่าง หากต่างกันตรงที่มีประตูหน้า 1 ช่อง และ ประตูหลัง 1 ช่อง ภายในพระวิหารทาสีขาวไม่มีภาพเขียน เพดานเขียนลายทองรูปดาว และมีผนังก่อด้วยกระเบื้องปรุกั้นกลางแบ่งภายในเป็น 2 ห้อง โดยห้องแรกประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์

 

 

เมื่อถัดเข้ามาภายในอีกห้องเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัย” ศิลปะอยุธยาตอนต้น ทำด้วยหินทรายแดงเป็นแกนแล้วพอกปูนลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 2.10 เมตร ด้านซ้ายและขวาประดิษฐานพระสาวกยืน 2 องค์ สันนิษฐานว่าเดิมเคยเป็นพระประธานของวัด ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดย่อม หล่อด้วยโลหะลงรักปิดทองเรียงอยู่ 5 องค์ เรียกกันว่า “พระเจ้า 5 พระองค์”

 

พระพุทธรูปศิลา และ พระเจ้า 5 พระองค์ ภายในวิหาร

 

“พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร”

นอกจากส่วนที่เกี่ยวกับศาสนสถานแล้ว ภายในวัดหนังยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมและจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ ข้าวของ เครื่องใช้ น่าสนใจหลากหลายที่สามารถบอกเล่าร้อยเรียงเรื่องราวความเป็นมาของวัดและวิถีชีวิตในอดีตของชุมชนท้องถิ่นในแถบนั้น โดยในส่วน “พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร” แห่งนี้เปิดให้เข้าชมเฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์ ในเวลา 13.00-16.00 น.

 

kinyupen