จากลานยุทธหัตถี…สู่วัดที่พระนเรศสร้างให้พระพี่นาง(คลิปแนะนำท่องเที่ยว)

0
982
kinyupen

สุพรรณบุรี เป็น 1 ในจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าอยุธยา โดยเฉพาะเรื่องราวที่สัมพันธ์กับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับเหตุการณ์สำคัญตอนทำยุทธหัตถี แต่ไม่ว่าข้อสรุปว่าเป็นลานยุทธหัตถี หรือเป็นเพียงพื้นที่เส้นทางเดินทัพ หากประวัติศาสตร์ก็ยังมีเค้าร่าง มีความสำคัญในแต่ละสถานที่ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตชวนไปดูวัดลาดสิงห์ ที่เป็นสถานที่อิงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของพระองค์ท่าน โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอดอนเจดีย์และอำเภอศรีประจันต์

ก่อนที่จะมาวัดแห่งนี้หากท่านเดินทางจากกรุงเทพ หรือเดินทางเข้าสุพรรณบุรี  กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตอยากเชิญชวนให้ทุกท่านเริ่มต้นที่พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ เพื่อซึมซับ หรือปูพื้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก่อนมาวัดลาดสิงห์

เพราะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ ที่ตั้งอยู่ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระคชาธารออกศึก และองค์เจดีย์ยุทธหัตถี ว่ากันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2135 ซงเจดีย์แห่งนี้ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2456 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และในปี พ.ศ. 2495 กองทัพบกได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นเจดีย์แบบทรงลังกาครอบพระเจดีย์องค์เดิมไว้

ภายในองค์เจดีย์ได้มีห้องแสดงประวัติศาสตร์ ทั้งภาพแสงสีเสียง  และหุ่นจำลองการยกทัพของพม่าและไทย หลายร้อยตัว ถัดจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร เป็นที่ตั้งของพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา ปัจจุบันมีผู้นิยมไปสักการบูชาอยู่เสมอ

จากพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  มายังวัดลาดสิงห์จะใช้เวลาไม่นานเพราะมีระยะห่างประมาณ 10 กิโลเมตรโดยวัดแห่งนี้  ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านสระ ริมถนนเลียบคลองชลประทาน ที่แยกจากทางหลวงหมายเลข 3038 ประมาณ 7 กิโลเมตรระหว่างอำเภอดอนเจดีย์และอำเภอศรีประจันต์ เมื่อเข้ามาในบริเวณวัดก่อนถึงทางเข้าโบสถ์จะมีอนุสาวรีย์ 3 พระองค์ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และพระสุพรรณกัลยา

มีคำเล่าสืบทอดกันมาและจารึกเป็นแผ่นโลหะในโบสถ์ว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2009  สมัยกรุงศรีอยุธยาต่อมาปีพ.ศ.   ​2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณปฏิสังขรณ์และยกฐานะเป็นพระอารามหลวง หลังจากที่ประสบชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีและทรงทราบข่าวว่า พระสุพรรณกัลยาที่เป็นตัวประกันอยู่ที่เมืองพม่าถูกประหารชีวิตเป็นการล้างแค้นที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยพระแสงของ้าว

นอกจากนี้ยังมีการเล่าขานกันว่า เดิมวัดนี้ชื่อ “วัดราชสิงห์”หมายถึงสิงห์ของพระราชา ต่อมาเพี้ยนเป็นลาดสิงห์ และบริเวณวัดยังเคยเป็นที่พักของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีบ่อน้ำรายรอบและหลักฐานที่ชี้ชัดคือหมู่บ้านลาวที่อยู่ด้านตะวันตกของวัดเพราะในการเดินทัพจะมีพนักงานกองเสบียงติดตามมาและส่วนมากเป็นชาวเวียงจันทน์

ลักษณะอาคารโบสถ์ที่น่าสนใจคือคงความประวัติศาสตร์ด้วยโครงสร้างภายในที่จะเห็นเป็นอิฐเปลือย มีพระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร (มารวิชัย) เกตุบัวตูม หน้าตักกว้างประมาณ 6ศอก ชาวบ้าน เรียกหลวงพ่อดำ (ตามพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช : พระองค์ดำ) มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทอง คือพระพักตร์เหลี่ยม  พระขนงต่อกันคล้ายปีกกา พระโอษฐ์หนา พระนลาฏกว้าง มีขอบไรศก พระเม็ดศกเล็ก รัศมีรูปดอกบัวตูม ประทับขัดสมาธิราบ (เห็นฝ่าพระบาทหงายขึ้นเพียงข้างเดียว) พระหัตถ์แสดงปางมารวิชัย ครองจีวรเฉียง ชายจีวร เป็นแผ่นใหญ่ปลายตัดตรง

สิ่งที่น่าสนใจคือบทสวดบูชาหลวงพ่อดำ จะใช้บทหัวใจพาหุงมหากา “พา มา นา อู กา สะ นะ ทุ” ซึ่งเป็นบทสวดที่สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วให้สมเด็จพระนเรศวรสวดอยู่ประจำก่อนออกรบ สำหรับผู้ตั้งใจขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อดำ เล่าขานกันและมีแจ้งไว้ในโบสถ์คือ ให้ถวายด้วยขนมจีน 1หาบ  หรือไข่ต้มอย่างน้อย 50 ฟอง (มีหาบเปล่าวางไว้ในโบสถ์) นอกจากนี้ผู้ไปกราบขอพรยังนิยมถวายน้ำดื่ม เพราะเชื่อกันว่าถวายเป็นเสบียงให้กับทหารที่ออกทัพในสมัยอยุธยา

ทั้งหมดคือเรื่องเล่าขาน คือความเชื่อหากที่สำคัญคือประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้ได้ย้อนรำลึก

kinyupen