กรมควบคุมโรค เตือน 8 โรค 3 ภัยสุขภาพช่วงหน้าฝน

0
530
kinyupen
  1. โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคปอดอักเสบ)
  2. โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง)
  3. โรคติดต่อจากการสัมผัส (โรคมือ เท้า ปาก และโรคเลปโตสไปโรซิส หรือ โรคไข้ฉี่หนู)
  4. โรคติดต่อนำโดยยุงลาย (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา)
  5. ภัยสุขภาพ (การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า อันตรายจากการกินเห็ดพิษ และอันตรายจากการถูกงูพิษกัด)

 

ในช่วงที่ประเทศไทยกับกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งในแต่ละปีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมักทำให้เกิดโรคระบาดประจำฤดูที่อาจจะส่งผลให้เกิดการระบาดเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดกรมควบคุมโรคออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย  โดยระบุว่าโรที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน แบ่งเป็น 5 กลุ่มใหญ่ได้แก่

 

 

1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ

  • โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน

ซึ่งทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น

 

2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

  • โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน

สำหรับการป้องกันกลุ่มโรคทางเดินอาหารและน้ำ คือ ล้างมือ ให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร รับประทานอาหาร หรือหลังจากการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

 

3.โรคติดต่อจากการสัมผัส

  • โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการผู้ป่วยคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น
  • โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาง

 

4.โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่

  • โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้
  • โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
  • โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะสำคัญเช่นเดียวกับโรคไวรัสไข้เลือดออกเด็งกี และไข้เลือดออกชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะมีไข้ และอาจจะมีผื่น ปวดตามข้อ และตาแดง

 

โรคดังที่กล่าวมาสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้

  1. เก็บบ้าน ให้สะอาด
  2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน
  3. เก็บน้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่

 

อาการของโรคส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้ ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน และคุณครูที่ดูแลเด็กควรตรวจคัดกรองโรคในเด็กทุกคน หากพบว่ามีอาการน่าสงสัย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี

 

5.ภัยสุขภาพ ได้แก่

  • การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า
    เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้
  • อันตรายจากการกินเห็ดพิษ
    หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น
  • อันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัด
    ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการให้เซรุ่มพิษงูได้ถูกต้องและรวดเร็ว

 

ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่กำลังจะมาพร้อมกับฤดูฝนในปีนี้

 

ที่มา กรมควบคุมโรค

kinyupen