เคล็ดลับปรับนาฬิกาชีวิตสร้างสมดุลกายใจ

0
785
kinyupen

“Social jet lag” ชื่ออาจไม่คุ้นหูนัก แต่หากพูดถึงแต่คำว่า Jet Lag เพียงอย่างเดียว หลายคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะนั่นคืออาการที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ย้ายจากเวลาหนึ่งไปยังอีกเวลาหนึ่ง ส่งผลให้เวลานอนของเราต่างไปจากปกติ แต่ “Social Jet Lag” หรือที่เรียกว่าอาการเมาเวลาที่เกิดจากการใช้ชีวิตและกิจกรรมสังคมที่ไม่ตรงกับตารางทำงานของนาฬิกาชีวิต (Biological Clock) วงจรระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมาทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน ปัญหาสุขภาพกายและ สุขภาพจิต

 

ส่วนใหญ่โรค “Social Jet lag” จะเกิดขึ้นกับวัยทำงานหรือที่เรียกกันว่า “มนุษย์เงินเดือน” ทำให้รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อยง่าย ง่วงหรือเพลีย อยากหลับอยู่ตลอดเวลา สาเหตุเกิดจากกิจกรรมหรือภาระหน้าที่ต่างๆ ที่ทำให้ธรรมชาติการนอนผิดแปลกไป ซึ่งปกติร่างกายจะต้องการพักผ่อนประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่บางคนนอนดึก เพราะทำงานไม่เสร็จ ปิดงบไม่ลงตัว ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ หรือ ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ใช้เวลาไปกับกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น ปาร์ตี้กับแก๊งค์เพื่อนข้ามวันจากเย็นวันเสาร์ถึงเช้าวันอาทิตย์ หรือนอนดูซีรีส์อย่างบ้าคลั่งไม่หยุดจนกว่าจะจบตอน เพราะคิดว่าวันหยุดทั้งทีจะนอนดึกตื่นสายยังก็ได้ นั่นถือเป็นความคิดที่ผิดมาก

 

Top view portrait of woman lying at desk near the laptop Free Photo

 

แบบไหนถึงเรียกว่า Social Jet lag

กินอยู่เป็น 360 องศา แห่งการใช้ชีวิต ชวนมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายมาลองสำรวจตัวเองว่าเข้าข่ายเป็น Social Jet lag แล้วหรือยัง ลักษณะอาการเบื้องต้นที่สังเกตง่ายๆ คือ

  1. รู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย – อ่อนล้า ไม่สดชื่น ไม่กระปรี้กระเปร่า อาการเหมือนคนเมาค้าง
  2. หนังท้องตึงหนังตาก็หย่อน ง่วงนอนตลอดช่วงบ่าย หาวจนน้ำหูน้ำตาไหลไปหมด
  3. อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย ความอดทนต่ำลง จนบางครั้งก็อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว
  4. สมองไม่ค่อยแล่น หัวตื้อ คิดอะไรก็ไม่ออก งานที่ต้องทำก็ไม่เข้าหัว เบลอๆ ลอยๆ

 

หากมีอาการตาม 4 ข้อนี้แล้วละก็ เตรียมระวังไว้ เพราะนั่นคือความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่จะตามมาในอนาคตไม่ว่าจะโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต อ้วน และเครียด โรคติดอันดับทั้งนั้น

 

เคล็ดลับปรับนาฬิกาชีวิตสร้างสมดุลให้ร่างกาย คือ

  • เข้านอนให้ตรงเวลาในทุกๆ คืน หากเป็นคนตื่นยาก ให้ตั้งนาฬิกาปลุก เวลาเดิมทุกวันไม่เว้นเสาร์-อาทิตย์
  • เปิดม่านในห้องนอน รวมถึงภายในบ้าน เพื่อให้แสงสว่างช่วยให้เราตื่นในเวลาที่ควรตื่น
  • หากเมื่อคืนนอนดึก ตื่นเช้าแล้วง่วง อาจนอนพักสายตาระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงบ่ายได้
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอนอย่างต่ำ 6 ชั่วโมง
  • หากตอนกลางคืนนอนไม่หลับหลังจากเข้านอน 30 นาที ให้ฟังเพลงเบา ๆ อ่านหนังสือ ก็ช่วยได้

 

ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่แน่นอน คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ต้องทำให้เป็นกิจวัตร แต่เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวจึงควรถนอมรักษาร่างกายไว้ อย่าปล่อยให้การใช้ชีวิตที่ผิดเพี้ยน มาทำร้ายร่างกายได้อีกต่อไป

kinyupen