“ตู้ปันสุข” เมล็ดพันธุ์ความดีเล็กๆ ที่กำลังผลิบานทั่วประเทศไทยเวลานี้ กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบรรเทาปัญหาปากท้องผู้เดือดร้อนจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี
ช่วงแรกกระแสตอบรับส่วนใหญ่ของสังคมล้วนเป็นบวก “ผู้ให้” และคนทั่วไปในสังคม ต่างรู้สึกอิ่มเอมไปตามกัน แต่เวลาผ่านไปพฤติกรรมบางอย่างของ “ผู้รับ” ทั้งการกอบโกย ไม่รู้จักพอ การเบียดเบียนหยิบฉวยจากผู้ที่มีโอกาสพร้อมกว่า รวมถึงการตะโกน คุกคาม ระรานของผู้รับบางคน ส่งผลให้เกิดคำวิพากษ์ต่างๆ นานา อาทิ
หรือว่าจริงแล้ว “ตู้ปันสุข” อาจยังไม่เหมาะกับสังคมไทย?
เมื่อ “ตู้ปันสุข” กลายเป็น “ปันทุกข์” แก่ผู้ให้ ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?
ในเรื่องนี้อาจยังไม่มีบทสรุปที่ชี้ชัด แต่อยากให้ลองมองเข้าไปใน “ตู้ปันสุข” ให้ลึกในหลายมิติมากขึ้น โดยเฉพาะฟาก “ผู้ให้” ไม่ว่าท่านที่ทำไปแล้วและอาจกำลังรู้สึกทุกข์ หรือ ผู้ที่ลังเลอยู่ว่าควรทำหรือไม่ อยากให้มองในมิติเหล่านี้ดู อาจช่วยให้สลายก้อนทุกข์ในใจลงได้บ้าง
ทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเรา “ยึดติด” และคาดหวังต่อผู้รับในอุดมคติมากเกินไปหรือไม่
ผู้รับ ต้องเป็นคนที่ลำบากไม่มีกินจริงๆ เท่านั้น (แต่ความเป็นจริงเราไม่สามารถคัดกรองได้หมดทุกคน)
ผู้รับ ต้องเป็นคนที่รู้จักการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม มีน้ำใจ ไม่ละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว ไม่นำมาขายต่อ
ผู้รับ ต้องเป็นคนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ มอซอ คนแก่ คนที่มีสภาพน่าสงสาร
วิธีคิดเช่นนี้ ถือว่าไม่ผิดและล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังที่จะเห็นทั้งสิ้นไม่เว้นแม้แต่ผู้เขียน แต่ในชีวิตจริงของเรานั้น ด้วยสภาวะสังคมปัจจุบันที่สอนให้หลายคนคำนึงถึงแต่ประโยชน์ตนเองเป็นสำคัญ เราจึงเห็นคนหลายแบบ หลายประเภทปะปนทั่วไปในสังคม ซึ่งแต่ละคนก็ถูกหล่อหลอมจากต้นทางที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น
คนมีเงินมีทอง แต่ปรารถนาดีและต้องการแบ่งปันก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
คนมีเงินมีทอง แต่ชอบเอาเปรียบ ติดนิสัยเห็นแก่ได้ก็มีอยู่มาก
คนพอมีพอกิน ไม่ร่ำรวย แต่รู้จักแบ่งปันก็ยังมีให้เห็น
คนอดอยาก แต่มีน้ำใจรู้จักแบ่งปันก็มีให้เห็นอยู่เสมอ
คนที่ห่วงแต่กอบโกยข้าวของด้วยความละโมบก็มีอยู่ถมไป
คนที่กอบโกยของเพราะกลัวตนเองและคนรอบข้างอด เนื่องจากไม่รู้อนาคตก็มี
คนที่หยิบไปแบ่งเพื่อนที่อดเหมือนกันแต่มาไม่ได้ก็มีปะปนอยู่
คนที่ชอบเอาชนะคนอื่น ชอบข่มขู่ใช้กำลังให้ได้มาก็มีไม่น้อย
คนที่เคยมีบ้านมีรถ แต่ต้องตกงาน หมดเงิน หมดตัวก็มีอยู่แต่เราอาจไม่รู้
คนชาชินกับการทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองรอดเป็นพอก็มี
เมื่อต้นทางเจตนาของผู้ให้ คือ การแบ่งปันและต้องการให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์อยากเห็นผู้อื่นมีสุข โดยไม่ต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ของการเข้าถึงสิ่งของ ดังนั้นหากไม่อยาก “ทุกข์” เมื่อให้แล้วก็อย่าไปยึดติดว่าคนที่ได้ต้องเป็นคนแบบนี้เท่านั้น เพราะแต่ละคนที่มาหยิบของในตู้ล้วนมีมุมมองส่วนตัวของเขาเองที่เราไม่อาจรู้ได้ และไม่จำเป็นต้องซักถาม หรือ รับรู้ เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ใดต่อตัวผู้ให้เลย เพียงแค่นี้ก็จะเป็นสุขใจ
ท้ายสุดนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอขอบคุณและชื่นชมทุกท่านที่ช่วยกันทำ ช่วยกันเติมเต็ม “ตู้ปันสุข” ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทยด้วยใจจริง