วันวิสาขบูชาหลากความเชื่อบนแก่นเดียวกัน

0
903
kinyupen

 

  • สันนิษฐานว่าแบบแผนพิธีวิสาขบูชา สืบทอดมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.420 โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ก่อนเข้ามาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยและค่อยเลือนหายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จนกระทั่ง รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2360 สืบมาจนปัจจุบัน
  • องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันสำคัญสากล โดยทุกปีที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก จะอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) มาให้ประชาชนสักการะ

วันวิสาขบูชา คือ 1 ใน 3 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาร่วมกับวันมาฆบูชา และ วันอาสาฬหบูชาที่คนไทยรู้จักกันดี ถือเป็นวันแห่งการ “ประสูติ – ตรัสรู้ – ปริพนิพพาน” ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวียนมาบรรจบตรงกันในวันเพ็ญเดือน 6 โดยคำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดียตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทยซึ่งถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แทน

 

สำหรับ ประเทศไทย สันนิษฐานว่าพิธีวิสาขบูชาเข้ามาไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย หากต่อมาค่อยๆ ได้รับอิทธิพลศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่มีปรากฏหลักฐานการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2360) ทรงมีพระราชดำริที่จะฟื้นฟูขึ้นใหม่และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ โดยสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 2360 ซึ่งถือเป็นแบบอย่างปฏิบัติสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

 

วันสำคัญสากลของพุทธศาสนิกขนโลก

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา โดยให้เหตุผลไว้ว่า “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน”

 

พร้อมกำหนดให้เป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย และทุกๆ ปีที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นิวยอร์ก จะอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ) ซึ่งประดิษฐานอที่นั่นเป็นการถาวร มาให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะด้วย

 

ปัจจุบันวันวิสาขบูชาถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญ หรือ วันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย , ศรีลังกา , สิงคโปร์ , ไทย,พม่า , บังคลาเทศ , อินโดนีเซีย , มาเลเซีย (วันสำคัญ ไม่ใช่วันหยุดราชการ), เนปาล, เกาหลีใต้, กัมพูชา, ภูฏาน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศอาจกำหนด วันวิสาขบูชา ไม่ตรงกับของไทย ด้วยเหตุผลด้านเวลา หรือ ความเชื่อ อาทิ ประเทศที่ไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม หรือ พุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 เกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน  อาทิ

 

ศรีลังกา นับถือพุทธเถรวาท กำหนดวันทางจันทรคติตรงกับไทย โดยงานวิสาขบูชาที่นี่ถือเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มีการปล่อยนักโทษเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตามบ้านเรือนมีการตั้งโรงทาน และประดับประดาธงและโคมไฟต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีลังกา โดยทำเป็นรูปเรื่องราวในพุทธประวัติหรือ อรรถกถาชาดกต่างๆ โดยจัดงานติดต่อกันถึง 7 วัน 7 คืน

 

สิงคโปร์ แม้เป็นพุทธมหายาน หากวันวิสาขบูชาจะถูกกำหนดกำหนดตามปฏิทินเถรวาท และถือเป็นวันหยุดราชการของประเทศ โดยมีการจัดงานเฉลิมฉลองตามวัดพุทธต่างๆ และมีพิธีเวียนเทียนโดยนำพระพุทธรูปประดับประดาด้วยดวงไฟสว่างไสวเวียนไปตามถนนสายต่างๆ  มุ่งหน้าไปยังวัดพอร์คาร์กซี (Phor Kark See Temple) บนถนนไบรท์ฮิลล์ (Bright Hill Road) ซึ่งที่นี่จะมีพิธี “ทุกสามขั้น ก้มกราบหนึ่งครั้ง” ที่ผู้ศรัทธาจะคลานขึ้นบันไดด้วยเข่าทั้งสองข้าง และก้มลงกราบทุกๆ สามขั้นบันได พร้อมสวดวิงวอนให้โลกจงมีแต่สันติสุข ขอพรให้ตนเอง และเพื่อการสำนึกผิด

 

ญี่ปุ่น นับถือพุทธมหายาน เชื่อว่าวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าอยู่ต่างเดือนกัน โดยแต่เดิมกำหนดว่าวันที่ 8 ของเดือนที่ 4 เป็นวันประสูติ วันที่ 8 ของเดือน 12 เป็นวันตรัสรู้ และวันที่ 15 เดือนที่ 2 เป็นวันปรินิพพาน ซึ่งกำหนดวันตามเดือนในปฏิทินจันทรคติจีน จนถึงสมัยเมจิ ญี่ปุ่นเปิดรับคตินิยมปฏิทินสุริยคติจากประเทศตะวันตก จึงมีการปรับเปลี่ยน เช่น วันปรินิพพาน จะอยู่ในวันที่ 15 กลางเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติที่ใช้อยู่ทั่วโลก โดยไม่อิงปฏิทินจันทรคติจีน ทั้งนี้ปัจจุบันญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดวันเหล่านี้ให้เป็นวันหยุดราชการ และไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นเท่าใดนัก โดยผู้ร่วมพิธีส่วนใหญ่มีเพียงพระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เคร่งครัดเท่านั้น

 

อินโดนีเซีย ประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ในอดีตพระพุทธศาสนาเคยเป็นที่นับถือของชาวชวา หรือ อินโดนีเซียมากทสุด พิธีวิสาขบูชาในยุคสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองจึงเป็นพิธีใหญ่ แต่หลังการเสื่อมลงของราชวงศ์ไศเลนทร์ที่นับถือพระพุทธศาสนา ผู้ปกครองต่อมาเปลี่ยนไปนับถืออิสลาม ทำให้พิธีวิสาขบูชาจึงไม่มีผู้สืบทอด

 

อย่างไรก็ตาม ระยะหลังรัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มให้ความสำคัญกับชาวพุทธมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่นับถือมหายาน แต่ก็มีบางส่วนที่นับถือเถรวาทด้วย ทำให้การจัดงานวิสาขบูชาระยะหลังจึงเป็นงานใหญ่ โดยศูนย์กลางอยู่ที่พระมหาสถูปบุโรพุทโธ ซึ่งทุกปีประธานาธิบดีอินโดนีเซียจะมาเป็นประธานเปิดงาน โดยเชิญผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมงาน ทั้งประกาศให้เป็นวันหยุดราชการด้วย

 

เวียดนาม ในอดีตสมัยแยกเป็นเหนือ – ใต้ กิจกรรมทางพุทธศาสนาเคยถูกประกาศห้ามโดยเด็ดขาดจากรัฐบาลเวียดนามใต้ที่นับถือคริสต์และมีการปราบปรามอย่างรุนแรง หากปัจจุบันพุทธศาสนาก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเท่าใด แต่ยังคงมีการจัดงานวิสาขบูชาบ้างจากชาวพุทธเวียดนาม แต่งานไม่ใหญ่โตมากนัก

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าพิธีแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร หากท้ายสุดแล้วแก่นสำคัญของวันวิสาขบูชา คงตั้งอยู่บนเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การที่พุทธศาสนิกชนทุกคนได้ตั้งจิตอธิษฐาน บำเพ็ญกุศล ทำความดีและประกอบพิธีต่างๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

ทั้งยังเป็นการเตือนตนให้นำหลักธรรมคำสอนมาเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิต พร้อมช่วยกันรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบไป

 

//////////////////////////////////////////////////////////////////////

ขอบคุณข้อมูล

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

https://th.wikipedia.org

www.visitsingapore.com

kinyupen