หน้าร้อนสยบ COVID-19 ได้จริงหรือ? คำถามที่ไม่มีคำตอบ..รอเวลาพิสูจน์

0
355
kinyupen

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงสร้างความวิตกกังวลเมื่อมันเริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่ามันจะไม่สามารถทนทานต่อความร้อนได้นานนัก ดังนั้นความหวังว่าหากฤดูกาลที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อนในเวลาอันใกล้นี้ ก็อาจจะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ชะลอการแพร่กระจายลงได้

แต่ความหวังนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนนั้นดูเหมือนจะยังไม่มีใครออกมายืนยันได้

 

และด้วยคำถามที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายนี้ ทำให้มีความพยายามในการค้นหาความจริงนี้ ซึ่งข้อมูลที่มีการเผยแพร่ล่าสุดที่มีการเผยแพร่อยู่ทั่วไป กลับพบเพียงว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากทั่วโลก ต่างก็ตอบคำถามไปในทิศทางเดียวกัน คือ ยังคงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าอากาศอุ่นจะส่งผลต่อการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เชื้อแพร่กระจาย หรืออาจจะทำให้มันสิ้นสุดการระบาดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ประสิทธิภาพของตัวไวรัสเอง สภาพอากาศ รวมไปถึงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้

 

ดร. เกรกอรี่ เกรย์ จากแผนกโรคติดเชื้อทั่วโลกของสถาบันสุขภาพมหาวิทยาลัยดุ๊ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้จะลดน้อยลงหรือหายไปในช่วงฤดูร้อนหรือไม่ และเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างนั้น แต่ก็มีความหวังว่าช่วงฤดูร้อนอาจทำให้การแพร่เชื้อลดลงเล็กน้อย เพราะโดยปกติแล้วเชื้อไวรัสโคโรนาปกติที่ทำให้เกิดอาการไข้หวัดทั่วไปมักจะจางหายไปในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากอาคารมีการไหลเวียนของอากาศมากกว่า ผู้คนก็สัมผัสกับแสงยูวีมากกว่าซึ่งสามารถฆ่าไวรัสได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะมีการชะลอตัวของการแพร่ระบาดประมาณ 10% ถึง 20% แต่ก็ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ดีว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

 

“ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ ซึ่งมันก็อาจจะหายไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็จะยังมีการแพร่กระจายอยู่ในมุมอื่นๆ ทั่วโลก”

 

ขณะที่เว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ว่า ยังไม่มีใครทราบว่าสภาพอากาศและอุณหภูมิจะส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของเชื้อชนิดนี้หรือไม่ และแม้ว่าฤดูร้อนจะทำให้มีโอกาสน้อยที่เกิดอาการป่วยไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่จากเชื้อไวรัสโคโรนา แต่ก็มันก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ทุกคนจะสามารถเจ็บป่วยด้วยเชื้อโรคนี้ตลอดทั้งปี

 

นอกจากนี้จากการตรวจสอบของนักวิชาการด้านสาธารณสุข โดยทำการศึกษาจากสมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิตด้วยเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) และโรคเมอร์ส หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) พบว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ในอดีตไม่ได้แสดงหลักฐานชัดเจนว่าอุณหภูมิหรือฤดูกาลจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการระบาด โดยพบว่าการระบาดของโรคซาร์สสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม ที่สภาพอากาศยังไม่ชัดเจน ขณะที่โรคเมอร์สไม่ได้แสดงว่าฤดูกาลเกี่ยวข้องกับการระบาด

 

แม้จะพบว่ากลุ่มประเทศที่มีการระบาดใหญ่ที่สุดอยู่ในตำแหน่งเหนือเส้นศูนย์สูตร ได้แก่ จีนแผ่นดินใหญ่, เกาหลีใต้, อิตาลี, ญี่ปุ่นและอิหร่าน ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจได้ว่าสภาพอากาศที่หนาวเย็นอาจจะส่งผลต่อการแพร่ระบาดอย่างหนักได้ แต่ในตอนนี้ไวรัสกลับแพร่กระจายไปทั่วทุกทวีปยกเว้นแอนตาร์กติกา ซึ่งรวมถึงประเทศต่างๆ เช่นบราซิล และออสเตรเลียในซีกโลกใต้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในซีกโลกเหนือ แต่ฤดูกาลที่แตกต่างกันก็อาจจะความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายมากขึ้นในกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่นๆ

 

ถึงตอนนี้จะดูว่า COVID-19 มีความรุนแรงของการแพร่ระบาดน้อยลงในช่วงฤดูร้อน แต่มันก็อาจกลับมาและก็กลายเป็นไวรัสตามฤดูกาลในทุกประเทศทั่วโลกไปในที่สุด หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

kinyupen