รู้จัก “เขายะลาอายุ 3,000 ปี” ที่กรมศิลปากรประกาศลดขอบเขต..ให้เอกชนทำเหมืองหิน

0
637
kinyupen

กำลังกลายเป็นประเด็นร้อน หลังกรมศิลปากรประกาศแก้ไขขอบเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา ในพื้นที่ ต.ลิดล – ต.ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา จากเดิมขนาด 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา ลดเหลือ 697 ไร่ 75 ตารางวา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการผ่อนคลายสภาวะขาดแคลนหินอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และลดการก่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้สังคมออกมาเรียกร้องคัดค้านประกาศดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีเขายะลา ที่มีอายุมากกว่า 3,000 ปี

 

 

 

แหล่งโบราณคดีเขายะลา คือ พื้นที่อะไร และมีความสำคัญอย่างไร กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีคำตอบให้

 

จากฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทยของ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า โบราณคดีที่เขายะลาประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนที่ พิเศษ 127ง ประกาศวันที่ 21 ธันวาคม 2544 เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ยุคก่อนประวัติศาสตร์, ยุคประวัติศาสตร์ อายุกว่า 3,000-2,000 ปีมาแล้ว

เขายะลา เป็นภูเขาหินปูน ทอดตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดยะลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 80-270 เมตร ยาวประมาณ 2.7 กิโลเมตร สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา และ หจก.คูน้ำคันดิน สำรวจทางโบราณคดีพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สัมพันธ์กับการพำนักอาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์และภาพเขียนสี

 

 

โดยพบศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีแดงเป็นภาพมือทาบและภาพสัญลักษณ์ บริเวณเพิงผาด้านทิศตะวันตกของเขายะลา ภาพเขียนสีแดงที่เพิงผาตอแลหรือตอลัง สะท้อนให้เห็นถึงการเขียนแบบคตินิยม (Idealism) หรือภาพสัญลักษณ์ (Symbolism) หรือภาพอรูปลักษณ์ (Non-figures) ซึ่งไม่ทราบถึงความหมายที่ชัดเจน

 

แต่จากการพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) บนลานหน้าเพิงผา ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาพเขียนสีเขายะลา รวมถึงแนวคิดจากการศึกษาเปรียบเทียบภาพเขียนสีเขายะลากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่เป็นภาพเขียนสีแดงเช่นเดียวกัน โดยมีการศึกษาเชื่อมโยงความสัมพันธ์และน่าจะมีอายุร่วมกับแหล่งศิลปกรรมบนผนังหินสมัยโบราณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จึงสันนิษฐานว่ามีกลุ่มคนขนาดเล็กเข้ามาอาศัยพักพิงชั่วคราวและสร้างสรรค์ภาพเขียนสีที่เขายะลาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 3,000-2,000 ปีมาแล้ว

 

 

ภาพเขียนสีอาจเป็นสัญลักษณ์แทนกลุ่มคนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณนี้ และอาจจะรู้จักการใช้ระบบตัวเลขหรือการนับกับระบบปฏิทินหรือการนับวันที่ เห็นได้จากภาพลายขีดเส้นขนานหรือลายบันได เพื่อวัตถุประสงค์บางประการที่ไม่อาจทราบได้แน่ชัด และกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับการใช้มือซ้าย และพิธีกรรมอุดมสมบูรณ์ เพื่อการสร้างขวัญกำลังใจสำหรับการผลิตอาหาร

 

นอกจากนี้ยังพบศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีเป็นภาพคนเป่าไม้ซาง เป็นภาพเดี่ยวบริเวณเพิงผาด้านทิศใต้ของเขายะลา เป็นภาพที่สะท้อนถึงการเขียนแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพสัจนิยม (Realistic) หรือแบบรูปลักษณ์ (Figure) จากการศึกษาเปรียบเทียบภาพลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีรูปคนเป่าไม้ซางที่แหล่งโบราณคดีถ้ำศิลป์ จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4 กิโลเมตร และแหล่งภาพเขียนสีถ้ำทากุต (Tagut Cave) กัวราเบอริง รัฐกลันตัง ประเทศมาเลเซีย

 

ส่วนศิลปกรรมบนผนังหินของภาพเขียนสีดำเป็นภาพกลุ่มคน คนติดอาวุธ โขลงช้าง และช้างติดสัปคับ ที่โพรงถ้ำทางทิศใต้ของเขายะลา จากผลการศึกษาที่ผ่านมาโดยสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร กำหนดอายุภาพเขียนสีกลุ่มนี้อย่างคร่าวๆ ได้ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และอาจมีการเขียนทับซ้อนอีกครั้งในภายหลังช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น สะท้อนถึงการเขียนแบบธรรมชาติ (Naturalistic) หรือภาพสัจนิยม (Realistic) หรือแบบรูปลักษณ์ (Figure) ทราบถึงเรื่องราวและความหมายของภาพ

 

ภาพเขียนสีแห่งนี้น่าจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือการอพยพเคลื่อนย้ายที่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับภาพเขียนสีที่ถ้ำไวกิ้งหรือถ้ำพญานาค เกาะพีพีเล จ.กระบี่ ซึ่งภาพเขียนสีที่เขายะลาประกอบด้วยคนติดอาวุธประเภทหอกและมีด โขลงช้างและช้างติดสัปคับ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ในราชสำนักของไทยจะเห็นได้ว่ามีการใช้ช้างติดสัปคับสำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นพระคชาธารประเภทหนึ่ง อันหมายถึงช้างทรงของกษัตราธิราช ช้างพระที่นั่งที่มีเครื่องแต่งหลังช้างใช้งาน 3 ลักษณะ คือ

 

พระคชาธารเครื่องมั่น สำหรับใช้ในการสงคราม พระคชาธารพุดตานทอง สำหรับผูกช้างพระที่นั่ง ใช้ในกระบวนอิสริยยศ และพระคชาธารกาญจนฉันท์ สำหรับผูกช้างประดิษฐานพระชัยวัฒน์ ตกแต่งด้วยลวดลายอันประณีต ประดับอาวุธและวัสดุคุณค่าสูง เช่น ทองคำ งา ไม้สัก และผ้า เป็นต้น

 

ส่วนช้างผูกสัปคับสามัญสำหรับขุนนาง มเหสี หรือเจ้าเมืองสำคัญ ตกแต่งด้วยความสวยงามรองจากพระคชาธาร และใช้วัสดุทั่วไป เช่น ไม้ และผ้า จากหลักฐานทางศิลปกรรมและโบราณคดีพบว่ามีการใช้สัปคัปมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เช่น ประติมากรรมรูปช้างทรงเครื่องพระคชาธารทองคำประดับอัญมณี กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา) เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น สัปคับงาช้างของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในพระที่นั่งพิมุขมณเฑียร,มนเทียร อาคารหมู่วิมานจัดแสดงพระราชยาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ)

 

ภาพโขลงช้างมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพช้างในศิลปกรรมบนผนังหินที่พบในรัฐเปรัค ประเทศมาเลเซีย แต่ในปัจจุบันไม่ปรากฏการอยู่อาศัยของช้างตามธรรมชาติในพื้นที่บริเวณจังหวัดยะลาและบริเวณใกล้เคียง

 

ภาพคนติดอาวุธสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนสะพายหอก กลุ่มคนไม่ติดอาวุธ และคนมีดาบสั้นในมือซ้าย การครองอาวุธที่แตกต่างกัน พิจารณาได้ว่าอาจมีการแบ่งตำแหน่งสถานะหรือชั้นยศภายในกลุ่ม ภาพคนถือมีดจะเห็นได้ว่าผู้วาดภาพเจตนาเขียนขนาดให้ใหญ่กว่าคนอื่นๆ จึงสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าอาจจะเป็นผู้ควบคุม ผู้นำ หรือผู้มีอำนาจในหมู่กลุ่มคนติดอาวุธและไม่ติดอาวุธ ส่วนภาพคนติดอาวุธในลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงกับภาพเขียนสีรูปคนสะพายหอกที่ถ้ำไวกิ้งหรือถ้ำพญานาค เกาะพีพีเล จ.กระบี่

 

 

ผลการศึกษาที่ผ่านมา หลักฐานบางประการที่พบที่เขายะลายังไม่สามารถกำหนดอายุได้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการค้นพบจากการสำรวจบนผิวดิน ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดี แต่หลักฐานทางโบราณคดีบางประเภทสามารถกำหนดอายุได้จากการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นที่มีการกำหนดอายุอย่างแน่นอนหรือมีการกำหนดอายุด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ โดยสามารถแบ่งหลักฐานทางโบราณคดีตามอายุสมัยได้ดังนี้

 

นอกจากนี้ยังมี หลักฐานทางโบราณคดีที่ยังกำหนดอายุไม่ได้ ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ พบในพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีแดงที่เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นชิ้นส่วนกะโหลกมนุษย์ ของวัยผู้ใหญ่ 4 ชิ้น และชิ้นส่วนกระดูกเชิงกรานของมนุษย์วัยเด็ก 1 ชิ้น อย่างไรก็ตามยังมีชิ้นส่วนกระดูกอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้

 

ส่วนหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่

 

เศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthenware sherd) พบจากการสำรวจพื้นที่บริเวณหน้าภาพเขียนสีที่เพิงผาตอแล (ตอลัง) ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนปากและส่วนลำตัวขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนและมือ เนื้อเห็นเม็ดกรวดชัดเจน กดประทับลายเชือกทาบและผิวเรียบเคลือบผิวด้วยน้ำดินและขัดมันผิวนอก สันนิษฐานว่าใช้ในชีวิตประจำวันของคน เช่น การบรรจุหรือการหุงหาอาหารหรือน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค เป็นต้น คาดว่ามีอายุประมาณ 3,020±230 ปีมาแล้ว

 

เครื่องมือหินกะเทาะ (Stone Axe) สำรวจพบในพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา ทำจากหินดินดานปนผลึกทราย (Siliceous shale) มีลักษณะเป็นเครื่องมือแกนหิน (Core tool) ทรงค่อนข้างเหลี่ยมมนและยาว กะเทาะสองหน้า เห็นผิวหินเดิมเพียงด้านเดียว ปลายด้านหนึ่งแหลมมนมีการกะเทาะซ่อมเพื่อใช้งานซ้ำ (Re-sharpening) สันนิษฐานว่าเป็นเครื่องมือใช้ขูดสับ

 

โกลนขวานหินขัด (Pre-Polished Axe) สำรวจพบในโครงถ้ำในหุบเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลาเช่นเดียวกัน ทำจากหินปูน (Limestone) ทรงสามเหลี่ยม บางด้านโค้งมน ส่วนปลายมีรอยขัดฝนด้านเดียว ซึ่งเป็นลักษณะเตรียมหินก่อนทำเป็นขวานหินขัด เครื่องมือหินลักษณะนี้มีความคล้ายคลึงโกลนขวานหินที่พบในแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จ.กระบี่ ซึ่งมีการกำหนดอายุได้ไม่เก่ากว่า 4,000 ปีมาแล้ว หรือในสมัยหินใหม่ตอนต้น (Early Neolithic)

 

ขวานหินขัดไม่มีบ่า ทำจากหินปูน ค้นพบและอยู่ในความครอบครองของชาวบ้านในเขตบ้านยะลา ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา (คูน้ำคันดิน 2549)

 

หลักฐานทางโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบ (Glazed Stoneware) พบจากการสำรวจพื้นที่โพรงถ้ำในหุบเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขายะลา เป็นส่วนก้นภาชนะมีฐาน เคลือบใสทั้งด้านนอกและใน ไม่มีลวดลาย ด้านในมีร่องรอยไม่มีเคลือบใสเป็นวงกลม สันนิษฐานว่าเป็นรอยของการวางภาชนะซ้อนในขั้นตอนการเผา จึงทำให้เคลือบหลุดติดไปกับส่วนฐานของภาชนะอีกใบที่วางซ้อนกันอยู่ ด้วยลักษณะของเศษภาชนะดินเผาชิ้นนี้กำหนดอายุในเบื้องต้นได้ว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ แต่ไม่ทราบถึงแหล่งเตาผลิตหรืออายุสมัยที่ชัดเจน

 

ขอขอบคุณภาพจาก : สํานักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, www.timenews2017.net, สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม

kinyupen