ความสุขแต่ละช่วงวัย บนเส้นทางที่ต่างกัน

0
1187
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำความคิดดีๆ ที่เก็บเกี่ยวจากคอลัมน์ของกิเลนประลองเชิง ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ซึ่งหยิบยกเนื้อหาเรื่องเร็วและช้าจากหนังสือเรื่องเล็กๆ ความหมายใหญ่ๆ ของสุริยเทพ ไชยมงคล สำนักพิมพ์อินสไปร์

 

โดยเนื้อหาของเรื่องมีอยู่ว่า ชายหนุ่มจากยุโรปเดินทางมาประเทศแถบตะวันออก เขารู้สึกว่าตนเจอปัญหาความช้าของชีวิตผู้คนในบ้านเมืองนั้น

 

วันหนึ่ง เขาไปซื้อของจากพ่อค้าชรา เขาดูความงุ่มง่ามเงอะงะของพ่อค้าขณะหยิบสินค้าจึงกล่าวถาม   “ชีวิตคนแถวนี้ เชื่องช้ากันอย่างนี้หรือ”  พ่อค้าตอบว่า “ชีวิตคือการเริ่มต้นการเดินทางจากการเกิดไปสู่การตายทำไมเจ้าต้องรีบร้อนไปให้ถึงปลายทางนักเล่า” สิ่งที่ชายหนุ่มซึมซับ ณ ขณะนั้นคือ “นี่คือปรัชญาแบบตะวันออก”

 

ในคอลัมน์ได้กล่าวถึงความต้องการในชีวิตของคนแต่ละช่วงวัย ที่ว่าเหตุที่ “คนวัยหนุ่มสาวชอบความเสี่ยง”  เพราะเวลายังเหลืออีกมากพวกเขาจึงไม่กลัวที่จะเสี่ยงอันตราย  เพราะอันตรายคือประสบการณ์แปลกใหม่

“คนวัยกลางคนชอบเงิน” เพราะเวลาในชีวิตเหลือเพียงครึ่งเดียว ดังนั้นจึงซึมซาบความสำคัญของการมีชีวิตอยู่พวกเขาจึงต้องพึ่งพาเงินทอง

“คนชราชอบความสงบ”  เพราะเวลาเหลืออีกไม่มาก คนชราจึงต้องการความสงบระลึกถึงความทรงจำในอดีต

ดังนั้นถ้าเราเข้าใจที่มาความคิด พฤติกรรมของผู้คนในแต่ละช่วงวัย ก็สามารถใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตทั้งด้านการงาน ครอบครัว

“เรียนจบใหม่ยังเด็กให้ทดลอง เรียนรู้ แสวงหาประสบการณ์ เริ่มกลางคนให้สะสม เก็บออมเพื่อรากฐานที่แข็งแรงและ ช่วงปั้นปลายให้มีความสุขกับชีวิต อยู่แบบไม่ร้อน กินอยู่ให้เป็น”   

 

“คนเราก็แค่ชีวิตหนึ่ง” ประโยคนี้มีความหมายลึกซึ้ง ช่วยให้คนอ่อนแอกลับเป็นคนเข้มแข็ง ความแข็งกระด้างเปลี่ยนเป็นความนอบน้อม จิตใจที่เศร้าซึมเปลี่ยนเป็นกระตือรือร้น เปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นความสุขได้

 

บทสรุปของความหมายใหญ่ๆ…บนโลกนี้มีความหลากหลายคนเราต่างมีอาณาจักรของตัวเอง ความกระตือรือร้น หรือ ความเสี่ยงล้วนเป็นสิ่งที่ดี และความสงบก็เป็นทางเลือกที่ดีเช่นเดียวกัน

หลักคิดที่ได้จากเรื่องเล่าเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าจะมีความสุขอยู่ในโลกนี้ได้ ไม่ว่าโลกจะหมุนเวียนไปกับจีลำดับที่เท่าใดก็ตาม

จากบทความข้างต้น พบว่าสอดคล้องกับข้อเขียน ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ในคอลัมน์เศรษฐศาสตร์ + สุขภาพ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ที่นำเสนอความเห็นของคนต่างช่วงวัยจากการตั้งคำถามที่ว่า 1. หากเลือกระหว่างการได้เงิน 9 ล้านกับการมีอายุยืน และสุขภาพดีมากขึ้นอีก 3 ปี และ 2. หากทำงานหาเงินได้เพิ่มอีก 50 ล้านบาท แต่อายุสั้นลงไป 5 ปีจะเลือกอะไร

 

บทสรุปจากคำตอบสะท้อนสิ่งน่าสนใจได้ว่า “ถ้าเป็นคนที่อายุมากจะเลือกอายุยืนมากกว่าเงิน แต่ถ้าเป็นคนวัยทำงานอายุน้อย ก็ยอมเลือกที่จะให้อายุสั้นลงเพื่อทำงานให้ได้เงินเพิ่มขึ้นมากกว่า”

 

คำตอบทั้งสองข้อนี้ ไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นการกลั่นกรองเพื่อความสุขบนจุดยืนของตนในช่วงเวลา ประสบการณ์และแรงบันดาลใจที่ต่างกันนั่นเอง ซึ่งวันหนึ่งเมื่อคนวัยทำงานมีอายุเพิ่มขึ้นก็อาจจะเลือกคำตอบเป็นสุขภาพเช่นเดียวกันก็เป็นได้

kinyupen