เปิดตำนานโบราณ TOP 5 เครื่องรางเสริมดวง…เลือกพกติดตัวรับความเฮงกับตรุษจีนปี 2563

0
977
kinyupen

ตรุษจีน เป็นเทศกาลสำคัญของคนจีนทั่วโลก  และยังถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่คนจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 25 มกราคม 2563 ซึ่งนอกจากจะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่กับครอบครัวแล้ว  ชาวจีนยังมีพิธีปฏิบัติตามความเชื่อต่างๆ เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตนเองและครอบครัว  อาทิ ในการไหว้บรรพบุรุษ  ไหว้เทพเจ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการจัดหาสิ่งมงคลเสริมดวง  เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญ ทำมาค้าขายมั่งคั่ง มั่งมี การงานการเงินดี  ตลอดปีกันอีกด้วย

วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ได้รวบรวมสิ่งมงคลยอดนิยม พร้อมความเป็นมาของเครื่องรางสำคัญที่ล้วนมีที่มาและตำนานน่าสนใจ สำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องรางนำโชคติดตัวเสริมดวง เลือกหามาพกติดตัวให้เกิดความมั่นใจว่าจะทำให้เกิดโชคดีตลอดปีใหม่นี้  มีอะไรบ้างลองไปดูกันเลย

1.ปี่เซี๊ยะ

ปี่เซี๊ยะ เป็นวัตถุมงคลที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของโชคลาภ เงินทอง การค้าขาย และ ช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ เป็นสัญลักษณ์แห่งสัตว์เทพสวรรค์ ด้วยรูปทรงที่มีครบตามหลักเบญจธาตุ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ที่สำคัญคือปี่เซี๊ยะนั้นถูกออกแบบมาให้ตรงตามหลักสัตว์มงคลทุกประการ  ได้แก่ มังกร พญาราชสีห์หรือสิงโต อินทรี กวาง และแมว

โดยตามตำนานเล่าว่า ปี่เซียะเป็นลูกมังกรตัวที่ 9 (เทพแห่งโชคลาภ) ของพญามังกรสวรรค์ มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น “เทียนลก (กวางสวรรค์)” เป็นชื่อเดิม ส่วนจีนกวางตุ้งจะเรียกว่า “เผ่เย้า” และคนจีนแต้จิ๋วจะเรียกว่า “ผีซิว” เป็นสัตว์ที่กินเก่งและไม่มีรูทวาร จึงไม่มีการขับถ่าย ในปลายยุคราชวงศ์โจว ตรงกับยุคชุนชิว มีการนำปี่เซียะมาใช้เป็นสัญลักษณ์โดยประดับเป็นรูปบนธงสำหรับการออกรบ โดยรวมในอดีตสันนิษฐานว่า ปี่เซียะให้ความหมายในทางความกล้าหาญ การปกป้องคุ้มภัย และการต่อสู้เพื่อจะให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้แล้ว ปี่เซียะยังเป็นสัญลักษณ์ของการพิทักษ์และคุ้มครองทรัพย์สมบัติอีกด้วย อันเนื่องจากเป็นสัตว์ที่กินอย่างเดียวไม่มีการขับถ่าย จึงมีการปั้นเป็นรูปปั้นเฝ้าหน้าท้องพระโรง ภายในพระราชวัง เช่น ฮ่องเต้ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงและประเทศจีน

ปี่เซียะ ไม่มีรูทวารหนักและเบา จึงถือเป็นการกักเก็บทรัพย์ ไม่ให้เงิน ทอง รั่วไหลออกไปไหนได้ การนำปีเซี๊ยะขนาดเล็กติดตัวจึงมีความเชื่อว่าจะทำให้มีแต่โชคลาภ ทรัพย์มีแต่เข้าไม่มีออก ขณะเดียวกันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยขจัดอาถรรพณ์ ภูตผีปีศาจ และป้องกันสิ่งชั่วร้าย

 

2. เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีน เชื่อจะนำโชคลาภมาสู่ผู้ครอบครอง นิยมบูชาในบ้านเรือน ร้านค้า และพกติดตัวในรูปของเหรียญไฉ่ซิงเอี้ย หรือ จ่ายสินเอี้ย (อักษรจีน: 财神; พินอิน: Cái-shén; อังกฤษ: Cai Shen, God of wealth, God of fortune) เป็นเทพเจ้าของจีนที่ให้คุณทางด้านเงินทอง และโชคลาภ (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) ซึ่งสำหรับชาวจีนแล้วถือเป็นเทพเจ้าที่มีความสำคัญมากที่สุดในการเริ่มเข้าสู่ปีนักษัตรใหม่ (ตรุษจีน) เนื่องจากเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการกราบไหว้เป็นองค์แรกทีเดียว

โดยคำว่า “ไฉ่สิ่ง” หรือ “ไฉ่ซิง” มีความหมายว่า “ทรัพย์สิน” หรือ “สิริมงคล” “เอี้ย” หมายถึง “เทพเจ้า” โดยเทพที่ได้รับการนับถือว่าเป็นไฉ่ซิงเอี้ย มีด้วยกันหลายองค์ แต่องค์ที่ได้รับการบูชามากที่สุด คือ ฟ่านหลี และปี่ กั้น ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยถือว่าเป็นไฉ่ซิงเอี้ยฝ่ายบุ๋น ขณะที่จ้าวกงหมิง และกวนอู ถือเป็นไฉ่ซิงเอี้ยฝ่ายบู๊

มีความเชื่อว่าไฉ่สิ่งเอี้ย จะเสด็จมายังโลกมนุษย์เพียงปีละครั้ง คือ ในวันตรุษจีน ดังนั้น ชาวจีนตั้งแต่โบราณเมื่อเข้าสู่วันตรุษจีน (นับตั้งแต่ 0.00 น.) จะทำการตั้งโต๊ะบูชาไฉ่ซิงเอี้ย โดยการหันหน้าไปทิศต่าง ๆ ที่เชื่อว่าไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จลงมา ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยเวลาที่จะทำการบูชา คือ 23.00–01.00 น. ของวันตรุษจีน โดยทำการบูชาที่ดาดฟ้าบ้านหรือหลังคาบ้าน หรือระเบียงบ้านชั้นสองหรือสาม หรือหน้าบ้านก็ได้ ซึ่งของที่ทำการบูชาใช้ของหวาน เช่น ผลไม้, อาหารเจ, บัวลอย, สาคู หรือของรับประทานต่าง ๆ ที่มีสีสันสดใส แต่ไม่ใช้ของคาวหรือเนื้อสัตว์ พร้อมกับนำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเงินทอง เช่น สมุดบัญชีธนาคาร, เช็ค หรือกระเป๋าเงิน มาตั้งวางไว้ด้วย เป็นต้น และเมื่อธูปที่ใช้บูชาใกล้มอดให้รีบนำเข้าบ้าน และปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อให้ควันธูปที่เหลือนั้นตลบอบอวลอยู่ภายในบ้าน เชื่อว่าเป็นการอัญเชิญไฉ่ซิงเอี้ยเข้ามาประทับในบ้าน

การบูชาไฉ่ซิงเอี้ย สามารถพบได้ในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ทิเบต, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี, อินเดีย, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเก๊า, ฮ่องกง เป็นต้น

 

3 .ยันต์ 8 ทิศ “โป๊ยข่วย” หรือ “ปากั้วถู” เปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากไม่มีเป็นมี จากบวกเป็นลบ จากร้ายกลายเป็นดี จากทุกข์กลายเป็นสุข ยันต์นี้ เป็นผังสัญลักษณ์แห่งฟ้าและดินในลัทธิเต๋า มีต้นกำเนิดในคัมภีร์โบราณ “อี้จิง” ซึ่งมีอายุกว่า 5,000 ปีล่วงมาแล้ว

“อี้” หมายถึงความเปลี่ยนแปลงของจักรวาล อาจถอดตัวอักษรได้เป็นพระจันทร์กับพระอาทิตย์ เราเรียกกันว่า “หยินกับหยาง” หรือความมืดความสว่าง ความร้อนความเย็น หญิงกับชาย หรือฟ้ากับดิน

ต้นกำเนิดของอี้จิงเกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิอวี่ บ้านเมืองเกิดอุทกภัยร้ายแรง ปรากฏมีมังกรแบก “ภาพเหอถู” ผุดขึ้นมาจากแม่น้ำฮวงโห และมีเต่าวิเศษคาบ “ตำราลิ่วซู” ผุดขึ้นมาจากลำน้ำลั่วสุ่ย องค์จักรพรรดิได้นำแผนภาพและตำรามาประกอบกัน ปรับเปลี่ยนภูมิลักษณ์ของฟ้าดิน แก้ปัญหาขุนเขา ลำน้ำ ขจัดปัดเป่าอุทกภัยให้กับประชาชนได้สำเร็จ จึงเกิดเป็น “ตำราเหลียงซาน” ที่รวมความพิสดารอันมิอาจล่วงรู้และเปลี่ยนแปลงฟ้าดินสืบทอดกันต่อมา และเรียกในชื่อ “โจว อี้” และกลายเป็นคัมภีร์ “อี้จิง” ในที่สุด

ดังนั้น แผ่นภาพยันต์แปดทิศจึงเป็นผังความเปลี่ยนแปลงของจักรวาล โดยเชื่อว่าองค์จักรพรรดิจีนได้สังเกตลวดลายแผนผังบนหลังกระดองเต่าวิเศษ ผังดังกล่าวจึงสามารถใช้แก้ไขความบกพร่องของภูมิประเทศ และความเป็นไปในจักรวาล และยังสามารถใช้ทำนายทายทักความสัมพันธ์ของฟ้า ดิน และมนุษย์ได้ยันต์แปดทิศ

แผ่นยันต์โป๊ยข่วย หรือยันต์แปดทิศ ที่พบเห็นจะมีสัญลักษณ์ของหยิน-หยางอยู่ตรงกลาง และมีเส้นขีดล้อมรอบแปดทิศ ขีดเป็นรอยประ (–) และขีดเต็ม (-) เรียงจากบนลงล่างทิศละ 3 ชั้น “ขีดประ” หมายถึงหยิน “ขีดเต็ม” หมายถึงหยาง “ขีดบน” แทนฟ้า “ขีดกลาง” แทนมนุษย์ “ขีดล่าง” แทนดิน รวมกับธาตุทั้ง 5 อันได้แก่ ดิน น้ำ ทอง ไม้ ไฟ

ด้วยหลักแห่งความสัมพันธ์ของจักรวาลและการเปลี่ยนแปลงของฟ้าดิน ทำให้ “ยันต์โป๊ยข่วย” สามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากไม่มีเป็นมี จากบวกเป็นลบ จากร้ายกลายเป็นดี จากทุกข์กลายเป็นสุข นับเป็นแผ่นภาพสำคัญตามความเชื่อแห่งลัทธิเต๋า ที่กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง

 

4.ฮก ลก ซิ่ว เป็น 3 เทพเจ้าจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล 3 ประการของจีน แห่งการอวยพร

ฮก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ฝู (ภาษาจีนกลาง) (อักษรจีน: 福) หมายถึง โชคลาภและความมั่งคั่ง บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ คือ ประกอบพร้อมด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค แก้วแหวนเงินทอง และบริบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติ มีบุตร ภรรยา ญาติมิตร คนใช้สอย เป็นต้น ลักษณะของฮก เป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเส้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงโภคสมบัติ มือหนึ่งอุ้มเด็ก แสดงถึงบริวาร สมบัติ นิยมให้เป็นเด็กผู้ชาย เพราะหมายถึงการสืบต่อวงศ์ตระกูล มีค้างคาวเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ความสุข วาสนา

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน “เจี่ยวช้ง” เป็นพ่อค้า มหาเศรษฐี ในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ร่ำรวยจากการค้าขายที่สุจริต และ คนในครอบครัว ลูกหลาน ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด มีเรื่องเล่าขานกันว่า บ้านพักของท่านเจี่ยวช้งนั้น ห่างจากพระราชวังถึง 20 ลี้ เพียงท่านก้าวพ้นจากเขตที่ดินของท่าน ก็เป็นเขตพระราชวัง ด้วยความที่ท่านมีทรัพย์สมบัติมาก กอปรกับท่านเป็นใจบุญ ให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่ทุกข์ยาก จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน และนับถือท่านเป็นเทพผู้นำความสุขมาให้ ในสมัยก่อน

ลก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ลู่ (ภาษาจีนกลาง) (อักษรจีน: 禄) หมายถึง บุญวาสนา อำนาจ เกียรติยศ ลักษณะของลก เป็นรูปขุนนางจีนสวมหมวก มีปีกหมวกกางออกไปสองข้าง มือถือคทายู่อี่ ซึ่งเป็นคทาแห่งความสมปรารถนา มีกวางเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน “ก๋วยจื่องี้” เป็นข้าราชการระดับอัครเสนาบดี (ข้าราชการระดับสูง) ที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์ ยุติธรรม รับใช้ราชการนานหลายแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อแผ่นดินนั้น เป็นที่ประจักษ์ต่อ ฮ่องเต้หลายพระองค์ จึงมีราชการโองการ ให้อยู่ในตำแหน่งตลอดทั้ง 4 แผ่นดิน และได้รับมอบ ดาบหยก และ เข็มขัดหยก ให้สามารถทำการใดๆ แทนฮ่องเต้ก่อน แล้ว ค่อยทูลถวายภายหลังได้ ท่าน ก๋วยจื่องี้ เป็นข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่ง นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ซิ่ว (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ โซ่ว (ภาษาจีนกลาง) (อักษรจีน: 寿) หมายถึงอายุยืน ลักษณะของซิ่วเป็นรูปชายชราหน้าตาใจดี หนวดเครายาวสีขาว ศีรษะล้าน ส่วนหน้าผากโหนกนูนเห็นชัดเจน มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือหนึ่งถือผลท้อ ซึ่งเป็นผลไม้แห่งความยั่งยืนและมักจะมีนกกระเรียนขาวอยู่ข้างกาย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาว

มีเรื่องเล่าว่า ท่าน “แผ่โจ้ว” เป็นบุคคลที่กลัวความแก่ และความตายมากที่สุด จึงรักษาสุขภาพ ร่างกาย และ จิตใจของตนเองให้มีความสุข แข็งแรง ตลอดเวลา ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวใหญ่ มีภรรยา และ ลูกหลานมากมาย และเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านแผ่โจ้วนั้นมีอายุยืนกว่า 800 ปี มีภรรยาเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 49 คน และ บุตรหลานเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 154 คน

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องรางที่สามารถพกพาฮก ลก ซิ่ว ขนาดเล็กติดตัวไว้เพื่อเสริมดวงด้านการงาน การเงิน การค้าขาย และช่วยปัดเป่าอุปสรรคกับความเลวร้ายต่างๆ ภายในชีวิต เสริมให้ชีวิตพบแต่ความสุขและคลายเคราะห์กรรมให้เบาบางลงได้

 

5.กบคาบเหรียญ (กิมเซียมซู) หรือกบสามขา เป็นสัตว์เทพที่มีคนนิยมไว้บูชามากที่สุดชนิดหนึ่งไว้เรียกเงิน-ทอง โชคลาภให้เข้าหาตัวเอง บ้าน ร้านค้าขาย กบคาบเหรียญ บางตำนานกล่าวไว้ว่าเป็นสัตว์บนสวรรค์ที่แปลกมหัศจรรย์มาก มีประวัติอันยาวนานมีคนจีนคนไทยนับถือบูชากันเยอะมาก เพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ ประวัติกิมเซียมซู ในอดีตกาลบนสรวงสวรรค์ เจ้าแม่ “เอี่ยวตี๊กิมบ๊อ” ซึ่งเป็นพระชนนีขององค์ ” เง็กเซียนฮ่องเต้ “เทพสูงสุดในสวรรค์ ได้เลี้ยงสัตว์ประหลาดไว้ในสระบัวหน้าพระราชวัง สัตว์ตัวนี้เป็นดุจเซียน มีลักษณะคล้ายกบกึ่งคางคกแต่มี 3 ขา มีหางเป็นปลาช่อนอยู่ด้านในมีสีทองอร่ามไปทั้งตัว โดยที่หลังจะมีดาวอยู่ 7 ดวง

วันๆหนึ่ง กิมเซียมซู ไม่ทำอะไรจะใช้ความสามารถพิเศษเรียกเงินเรียกทองมาเล่นสนุกในสระบัว เจ้าแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า”กิมเซียมซู” อยู่วันหนึ่งกิมเซียมซูได้แอบหนีมาโลกมนุษย์ เจ้าแม่โกรธมากจึงบัญชาให้เซียนมังกรมรกตไปตามตัว กิมเซียมซูได้หนีมาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของจีนเป็นหมู่บ้านที่ยากจนแห้งแล้งกันดาร ประชาชนอดอยากมาก แต่มีหนุ่มคนหนึ่งชื่อนาย “เกี้ยมไฮ้ “ซึ่งเป็นคนดีมีความกตัญญูต่อบิดามารดา กิมเซียมซูได้มาอยู่กับนายเกี้ยมไฮ้ได้เรียกเงินเรียกทองมากให้นายเกี้ยมไฮ้จำนวนมากเพื่อนำมาแจกชาวบ้านแลัยีงนับดาลให้ฟ้าฝนตกมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งหมู่บ้าน จนทั้งนายเกี้ยมไฮ้และทุกคนในหมู่บ้านร่ำรวยไม่มีใครจนเลย

พอเซียนมังกรมรกตมาพบกิมเซียมซูได้เห็นว่ากิมเซียมซูทำความดี จึงนำเรื่องไปรายงานเจ้าแม่เอี๊ยวตี๊กิมขจี เจ้าแม่จึงยินดีมากได้ประธานพรให้กิมเซียมซูว่า เมื่อเจ้านั้นอยู่ที่ไหนก็ให้ที่นั้นมีแต่ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นกิมเซียมซูจะเสกเงินเสกทองได้เองแล้วยังทำให้บริเวณที่กิมเซียมซูอยู่นั้นมีแค่ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมา ค้าขายดีอยู่ที่ไหนให้ที่นั้นไม่ยากจนไม่ขัดสน ให้ร่ำรวย มีทรัพย์สมบัติเงิน ทองมากมายก่ายกอง ต่อมาผู้คนจึงนิยมบูชากิมเซียมซูและทุกคนก็มั่งมีเงินทอง ทำมาค้าขายก็ดีทำธุรกิจการงานก็มีแต่ความเจริญก้าวหน้า

เครื่องรางทั้ง 5 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องรางยอดนิยมตามความเชื่อของชาวจีนที่เกิดจากตำนานโบราณในอดีต ดังนั้นผู้ที่ต้องการเสริมดวง ความเป็นสิริมงคลในปีใหม่จีนในปีนี้ก็สามารถเลือกหามาพกติดตัวกันได้แล้วแต่ความต้องการและจุดประสงค์ต่างๆ

ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดไช้

kinyupen