จริงไหม? “สังคมออนไลน์” บ่อนทำลายสุขภาพจิต

0
1022
kinyupen

ปัจจุบัน “สังคมออนไลน์” กลายเป็นสื่อที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่การคลุกคลีอยู่กับสังคมออนไลน์มากจนเกินไป ย่อมไม่ส่งผลดีต่อตัวเราแน่นอน เพราะส่งผลต่อสุขภาพจิต ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้น

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เชื่อว่าจะรู้จักกับคำว่า “โซเชียลมีเดีย” หรือ “สังคมออนไลน์” กันอย่างแน่นอน เพราะเป็นสื่อสมัยใหม่ ที่มีปัจจัยทางด้านของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเราสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น สามารถติดต่อหรือพูดคุยกับผู้คนหลากหลายประเภทได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท คนรู้จัก คนไม่รู้จัก รวมไปถึงย่อโลกใบใหญ่ให้เล็กลงได้ เพราะการติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ไกลบ้านจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

 

แต่เมื่อทุกคนเกือบทั้งโลกราว ๆ 3 ใน 4 ติดการใช้โซเชียลมีเดียอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีสมาร์ทโฟน แบบว่า 5 นาทีกดโทรศัพท์ทีหนึ่ง จนทำให้ ณ ตอนนี้ เราจะพบเจอกับผู้คนที่ไม่มองหน้าสบตายิ้มกัน แต่กลายเป็นบุคคลประเภทสังคมก้มหน้าไปเสียแล้ว ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียมากจนเกินไปส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราด้วย

 

นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพเด็ก UCL Great Ormond Street Institute of Child Health เปิดเผยว่า การใช้โซเชียลมีเดียอาจกระทบกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่น เช่น การนอนหลับ และการออกกำลังกาย ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงเนื้อหาที่เป็นอันตรายและกระทบจิตใจ อย่างการถูกระรานหรือบูลลี่บนโลกออนไลน์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นเพศชายหรือหญิง หากใช้โซเชียลมีเดียมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีระดับความเครียดมากเท่านั้น ซึ่งผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นหญิงเกือบร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบทางจิตใจ มีปัญหาด้านคุณภาพการนอนหลับและถูกระรานบนโลกออนไลน์ ขณะที่วัยรุ่นชายที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง มีเพียงร้อยละ 12 ซึ่งได้ผลกระทบทางจิตใจ

 

แล้วโซเชียลมีเดียส่งผลต่อสุขภาพจิตได้อย่างไร ?

 

ข้อมูลจาก น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โซเชียลมีเดียหากใช้ไม่เป็นหรือติดโทรศัพท์บ่อย ๆ จะผลเสียต่อสุขภาพกายอย่างมาก นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดอาการสายตาสั้น โรคอ้วน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง นอนหลับยาก ในส่วนของผลเสียต่อสุขภาพจิต จะมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า มีอาการเสพติด ส่งผลต่ออารมณ์ อารมณ์รุนแรง หงุดหงิดง่าย ต้องก้มหน้าดูโซเชียลบ่อย ๆ  โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ย่อมส่งผลกระทบต่อ สมาธิ ความจำ การควบคุมตนเอง และมีผลการเรียนที่แย่ลงกว่าเดิมอีกด้วย

 

ปัจจุบันยิ่งน่ากังวลเข้าไปใหญ่ ในคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี และแอปพลิเคชันมากมาย หากใช้อย่างไม่ระวัง ไม่เหมาะสม ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง พวกเขาก็จะได้รับปัญหาสุขภาพจิตในหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงอาชญากรรมที่อาศัยข้อมูลบนโซเชียลมีเดียอีกมากมาย

 

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ กำลังจะบอกว่า ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะคอยกำชับและดูแลพวกเขาเหล่านี้ ในการจำกัดเวลาใช้โซเชียลมีเดีย อย่างน้อยไม่ควรเกิน 3 ชั่วโมง/วัน เพื่อให้สุขภาพกายและใจของวัยรุ่นเป็นผลดี และที่สำคัญ ไม่ควร “สั่งห้าม” โดยเด็ดขาด เพราะการห้ามไม่ให้พวกเขาใช้โซเชียลมีเดีย จะยิ่งทำให้เกิดปัญหา วัยรุ่นมีพฤติกรรมที่ต่อต้าน ยิ่งทำให้พ่อ-แม่ ผู้ปกครองเข้าไม่ถึง ฉะนั้น ควรปล่อยให้เขาเล่น และค่อยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ แทน ว่าเขาเสพสื่ออะไร อย่างน้อยควรเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก แสดงความคิดเห็น โดยที่เราเข้าไป รับรู้พร้อมเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับเขา

 

หรือควรให้ตัวเองไปทำกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น การนอนหลับ การออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งหากเลือกปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพ และแก้ปัญหาการระรานบนโลกออนไลน์ให้ลดน้อยลงได้ สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีเป้าหมายคือการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ก็ยังคงมีด้านดีหลงเหลืออยู่ แต่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะเลือกใช้ให้เป็น และนี่คือวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen