ท่ามกลางกระแสสังคมในยุคดิจิตอลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์ตลอด 24 ชั่วโมง จนเป็นที่มาการตื่นตัวของภาคธุรกิจเกี่ยวกับกระแสดิจิตอลดิสรัปชั่น ว่าต้องเปลี่ยนแปลง ปรับบทบาท หรือ เตรียมคนอย่างไรเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ซึ่งท้ายสุด แรงงาน หรือ มนุษย์เงินเดือนฟันเฟืองของภาคธุรกิจ คงหนีไม่พ้นการต้องปรับตัวควบคู่ไปกับองค์กร ดังนั้นเพื่อเตรียมตัวให้เท่าทันต่อกระแสดังกล่าว กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอนำมุมมอง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เกี่ยวกับ 7 ความท้าทายยุคดิจิตอล จากการงานสัมมนาดีๆ ของฐานเศรษฐกิจ มาฝากกัน
1.Career Migration เทคโนโลยีจะทำให้บางอาชีพนั้นหายไป คนมีโอกาสจะตกงานมากขึ้น
2.Jobless Growth ในอนาคตเมื่อ ดาต้า และ เอไอ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหโตมากขึ้น นั่นจะทำให้การจ้างงานมนุษย์ลดลง หรือ อาจไม่มีการจ้างงานเลย
3.Skill Divide แรงงานยุคดิจิตอลแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่มีทักษะดิจิตอลจะเป็นกลุ่มที่เอาตัวรอดได้ และกลุ่มขาดทักษะดิจิตอลซึ่งปัจจุบันยังถือเป็นกลุ่มใหญ่จะอยู่ยากขึ้น ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างมากเกินไป
4.Competing for Talents มหาวิทยาลัยไทยจะลำบากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยต่างชาติจะเข้ามาขอทุนเพื่อแย่งตัวเด็กเก่งๆ ออกไปมากขึ้น
5.Multistage Life วิถีชีวิต รูปแบบการใช้ชีวิตของคนจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องรีบตัดสินใจ เพราะชีวิตไม่ใช้แค่เรียน ทำงาน เกษียณ แบบเดิมแล้ว
6.Intellectual Capital Investment เข้าสู่สังคมสูงวัย คนมีอายุยืนขึ้น ดังนั้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็น
7.Career of the Future การเตรียมพร้อมเรื่องคน และระดมสมองเพื่อหาทิศทางขับเคลื่อนประเทศเป็นเรื่องสำคัญ
จากมุมมองข้างต้น จะเห็นได้ว่านี่คือความท้าทายสำคัญที่กำลังถาโถมเข้ามาไม่สามารถเลี่ยงได้ ซึ่งการจะผ่านความท้าทายเหล่านี้โดยเฉพาะในกลุ่ม แรงงาน หรือ มนุษย์เงินเดือน เพื่อสร้างความมั่นคงในยุคดิจิตัลได้นั้น “ทัศนคติ” คือ สิ่งสำคัญ เพราะหากพร้อมที่จะเปิดรับองค์ความรู้ ทักษะ หรือ สิ่งใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มอยู่เสมอ ไม่ทำตัวเป็นคนน้ำเต็มแก้ว ก็จะทำให้สามารถทรานฟอร์ม หรือ อัพเกรดตัวเองผ่านความท้าทายเหล่านี้ไปได้ เพราะเทคโนโลยี หรือ ดิจิตอล ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้แค่เพียงเปิดใจ
ขอบคุณที่มาข้อมูล : งานสัมมนา “พลิกวิกฤติสร้างเศรษฐกิจไทย : Do or Die” โดยฐานเศรษฐกิจ