เปิดมุมใหม่เที่ยวบางกะเจ้า….ยลวัดเก่า เล่าอดีต (ตอน 2)

0
1183
kinyupen

จากที่ได้ทราบความเป็นมาของ 5 วัดข้างต้นจากตอนแรกแล้ว ทีมงานได้หาข้อมูลมาแชร์ให้ทุกท่านทราบกันต่ออีก 5 วัด ซึ่งเรียกได้ว่ามีเกร็ดเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันได้เลย

 

Credit : www.tourwatthai.com, Facebook : พระประแดงที่รัก

 

6. วัดทรงธรรมวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชั้นวรวิหาร เป็นวัดในพุทธศาสนารามัญนิกายที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นวัดแรกพร้อมการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 โดยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์) โดยพระอุโบสถเป็นเครื่องไม้ฝายกกระดาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2360 รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ซึ่งเป็นแม่กองสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เพิ่มเติม สร้างป้อม “ป้อมเพชรหึงษ์” ในบริเวณวัดทรงธรรม จากนั้นโปรดเกล้าให้ย้ายวัดทรงธรรมมาอยู่ในกำแพงป้อม มีกุฏิเป็น 3 คณะ

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ พระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงได้มีการรื้อกุฏิทั้ง 3 คณะ แล้วสร้างรวมเป็นหมู่เดียว พร้อมรื้อโบสถ์ สร้างใหม่ให้เป็นแบบก่ออิฐถือปูน หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะทรงเปลี่ยนชื่อวัดทรงธรรม เป็น “วัดดำรงค์ราชธรรม” แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อกลับเป็น “วัดทรงธรรม” หากไม่ปรากฏว่าเมื่อใด

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัยที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเลือกอัญเชิญมาถวาย เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการถวายผ้าพระกฐิน พระอุโบสถหลังนี้ยังเคยได้ใช้เป็นสถานที่ที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการในสมัยที่ยังเป็นจังหวัดพระประแดงด้วย

ปัจจุบันวัดทรงธรรมวรวิหาร ถือเป็นเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญในพระประแดง ภายในวัดมีพระมหาธาตุรามัญเจดีย์ในรูปแบบมอญ เสาหงส์ ธงตะขาบ สัญลักษณ์แสดงตัวตนของชาวมอญ ที่ได้รับการสืบทอดทางวัฒนธรรมประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นศูนย์กลางการจัดงานประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ ในช่วงสงกรานต์ประจำทุกปี

 

Credit : Facebook : พระประแดงที่รัก, Pantip : slow and steady

 

7. วัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดปากลัด เพราะตั้งอยู่บริเวณปากคลองลัดหลวง บ้างก็เรียกว่า วัดวังหน้า หรือ วัดกรมศักดิ์ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ในปี พ.ศ.2362 ซึ่งทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กอง มาดำเนินการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ ป้อมปราการ และขุดคลองลัด ให้เสร็จลุล่วงจากที่ค้างไว้

เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพ สร้างเมืองเสร็จท่านจึงได้สร้างวัดขึ้นด้วย และเรียกวัดนี้ว่า วัดกรมศักดิ์ แต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า วัดวังหน้า (ตามตำแหน่งของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานนามให้วัดใหม่ว่า วัดไพชยนต์พลเสพย์ โดยคำว่า “ไพชยนต์” มีความหมายถึงบุษบกยอดปรางค์ที่อยู่ภายในพระอุโบสถ ส่วนคำว่า “พลเสพ” นำมาจากคำท้ายชื่อของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ

ภายในวัดมีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมและจิตรกรรมโบราณที่ทรงคุณค่า สิ่งที่เด่นที่สุดคือบุษบกยอดปรางค์ภายในพระอุโบสถ ซึ่งบุษบกดังกล่าวเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (สมัยรัชกาลที่ 1)  อันเป็นงานช่างสกุลวังหน้าที่หาชมได้ยาก ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 3 กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ได้นำบุษบกนี้มาประดิษฐานพระประธาน ณ วัดไพชยนต์พลเสพย์แทน

 

Credit : Pantip : slow and steady และ gratisod

 

8. วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แล้วเสร็จในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถือวัดไทย-พุทธเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดงที่มีมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ทั้งถือเป็นวัดเดียวในพระประแดง ที่ได้มีโอกาสรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8  และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขณะยังทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

การก่อสร้างวัดนี้เกิดขึ้นโดย พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุล “เกตุทัต” ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (หง) ต้นสกุล “หงสกุล” ได้ขอสร้างวัดในฝั่งตรงข้ามกับวัดไพชยนต์พลเสพย์ ตามที่รัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองในการสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ และป้อมปราการต่างๆ โดยนำวัสดุที่เหลือจากการสร้างวัดไพชยนต์พลเสพย์ ที่กรมหมื่นศักดิพลเสพ สร้างขึ้น มาตกแต่งที่วัดโปรดเกศฯ นี้ วัดทั้งสองจึงเสมือนเป็นวัดพี่วัดน้องที่สร้างเสร็จในปีเดียวกัน

ช่วงแรกชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดปากคลอง จนกระทั่งภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า “วัดโปรดเกศเชษฐาราม” และได้รับวิสุงคามสีมา (เขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถ) ในปี พ.ศ.2368

ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ความยาว 6 วา 2 ศอก ที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสมุทรปราการ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2 นับเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม ทั้งยังเป็นต้นแบบของการหล่อพระนอนวัดโพธิ์อีกด้วย

 

Credit : Pantip : slow and steady

 

9. วัดคันลัด ก่อสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2349 สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นวัดที่มีความเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นสุสานของช้างมาก่อน โดยย้อนกลับไปในช่วงที่ชาวรามัญอพยพมาจาก ปทุมธานี และนนทบุรี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พ.ศ.2358  ผู้นำชาวรามัญมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ นามว่า “พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดีศรีสิทธิสงคราม” ( ทอมาคชเสนี )โดยเมื่อชาวรามัญแยกย้ายกันมาอยู่  ก็อยู่กันเป็นกลุ่มๆ โดยกลุ่มที่มาอยู่ที่ตำบลทรงคนอง ก็เลือกเอาวัดคันลัดที่มีอยู่เดิมแล้วเป็นวัดประจำหมู่บ้าน แล้วก็นิมนต์เอาพระชาวรามัญมาปกครองวัด เพื่อที่จะได้เอาบุตรหลานของตนบวชและศึกษาธรรมวินัยเป็นที่เลื่อมใสและเคารพสืบต่อกันมา

พระพุทธรูปประจำวัด คือหลวงพ่อหินอ่อน (มัณฑะเล) เป็นพระพุทธรูปศิลปะมอญที่มีความสวยงาม เดิมอยู่ประดิษฐานอยู่ในตู้ลายไม้สักตั้งอยู่ที่หอสวดมนต์ แต่ภายหลังมีโจรขโมยพระปรากฏขึ้นบ่อย จึงต้องยกเก็บไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส เมื่อถึงงานปี หรือ เทศกาลสำคัญจึงจะยกมาให้ประชาชนสักการะ

 

Credit : Facebook : เที่ยววัด, Pantip : slow and steady

 

10. วัดป่าเกด เดิมชื่อ “วัดถนนเกด” ตามชื่อของตาเกด ชาวบ้านที่เป็นคนขุดถนนเข้าวัดเป็นคนแรก แต่เนื่องจากบริเวณวัดมีต้นเกดขึ้นมากมาย สมัยต่อมาจึงหันมาเรียกว่า “วัดป่าเกด” แทน โดยถูกสร้างขึ้นเมื่อครั้งฟื้นฟูพระพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรในรัชกาลที่ 2 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2360 ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3  สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เสด็จฯ มาเป็นประธานสร้างอุโบสถ โดยหน้าบันเป็นรูปครุฑลวดลายวิจิตรตระการตา สันนิษฐานว่าหลังจากที่สร้างพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำแล้วจึงได้มาสร้างอุโบสถนี้ขึ้น

ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอัน จากฝีมือ ” ช่างสิบหมู่ “ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่หาชมได้ยาก ขณะที่หน้าบันมีเครื่องไม้สักแกะสลักเป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑ เป็นเครื่องแกะสลักลอยตัว นำมาประกอบติดประดับที่หน้าบันจึงสวยงามกว่าภาพแกะสลักบนพื้นผนังธรรมดาเป็นอย่างมาก หากน่าเสียดายที่ไม้สักแกะสลักนารายณ์ทรงครุฑของเดิมถูกขโมยไปเมื่อครั้งกรมศิลป์เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถหลายปีก่อน

สำหรับ วัดป่าเกด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์เป็นการเฉพาะเพื่อใช้สร้างอุโบสถ) ครั้งหลังเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ.2509 ขณะที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและพระเจดีย์ไว้เป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2510  ต่อมาใน พ.ศ.2513 ได้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม อุโบสถหลังเก่าจึงกลายเป็นวิหารไป 

kinyupen