“โซเชียลมีเดีย” แพลตฟอร์มสำคัญที่มีผู้ใช้งานมากมายทั่วโลก จนกลายเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญของชีวิตของมนุษย์เลยก็ว่าได้ สามารถใช้งานได้ง่ายๆ ทั้งในคอมพิวเตอร์ ไอแพด และโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟน เพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้อย่างเสรี แต่จะดีไหม? วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอพาไปดูว่าหากมีการเข้าถึงเพื่อควบคุมเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกไป คุมเข้มการใช้โซเชียลมีเดียให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ ยูทูป ฯลฯ เป็นแอปพลิเคชันที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในอันดับต้น ๆ จนกลายเป็นอีกแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม เปรียบเสมือนพื้นที่ส่วนตัวหรือช่องทางในการโพสต์เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อให้สาธารณะได้เห็น และมีส่วนร่วมในโพสต์ของเรา ทั้งการกดไลค์ กดแชร์ แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ เปรียบเสมือนโลกอีกใบหนึ่งที่สามารถแสดงตัวตนได้อย่างอิสระ ไร้ขอบเขต แสดงความคิดเห็นสื่อสารแบบสองทางโต้ตอบอย่างเสรีในกลุ่มคนวงกว้าง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายคนหลงไหลในโซเชียลมีเดีย
สื่อ “โซเชียลมีเดีย” ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ก่อเกิดผลดีและผลร้ายได้ หากผู้ใช้งานใช้โซเชียลมีเดียในทางที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะการโพสต์แสดงความคิดเห็นในมุมมองอิสระ ไร้ขอบเขต จนไปพาดพิงต่อบุคคลหรือหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น และสิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นดาบอีกด้านที่หวนกลับมาทำร้ายตัวเองเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการโพสต์ภาพหรือวีดิโอที่นำเสนอถึงการใช้ความรุนแรง ภาพที่น่ากลัว สยดสยอง รวมไปถึงการใช้คำพูดหรือภาษาที่ไม่สุภาพ และมีการส่งต่อกันเป็นไวรัล จึงทำให้น่าเป็นห่วงว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ใช้โซเชียลมีเดียอาจจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจากคอนเทนท์ที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย
ล่าสุด กับเหตุการณ์กราดยิงมัสยิด 2 แห่งในนครไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งผู้ก่อการร้ายได้ทำการเฟซบุ๊กไลฟ์เหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวและมีการแชร์ลงสู่เว็บไซต์ยูทูป จนทำให้มีผู้ใช้สังคมออนไลน์เห็นคลิปดังกล่าว มีการส่งต่อเป็นไวรัลอย่างต่อเนื่อง แม้เฟซบุ๊กและยูทูปพยายามลบคลิปวิดีโอดังกล่าวแล้วก็ตาม
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้แต่ละประเทศต้องตระหนักกับเรื่องดังกล่าว พยายามหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ประชาชนใช้โซเชียลมีเดียไปในทางที่ผิด แม้จะมีการตั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงกำหนดโทษของผู้กระทำผิดแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียเกิดความตระหนักหรือหวาดกลัวแต่อย่างใด จนบางประเทศต้องมีการควบคุมเนื้อหาของโซเชียลมีเดีย อย่างออสเตรเลียได้ยื่นเสนอร่างกฎหมายควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ต่อรัฐสภา เพื่อป้องกันการเผยแพร่เนื้อหาที่มีความรุนแรงต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดีย โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุว่า ผู้บริหารสื่อสังคมออนไลน์จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี และปรับเป็นเงินร้อยละ 10 ของผลประกอบการบริษัท หากไม่สามารถควบคุมการเผยแพร่เนื้อหาและภาพความรุนแรงได้ทันเวลา
เรื่องนี้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เห็นด้วยว่ารัฐบาลคววรมีอำนาจในการเป็นผู้มีบทบาทสำหรับควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชน เพื่อปกป้องชุมชนให้มีความปลอดภัย และปกป้องภัยอันตรายที่เกิดมากขึ้นในโลกสังคมออนไลน์ อย่างบางประเทศก็มีการบล็อคการเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตเลย อาทิ สาธารณรัฐชาด ในแถบแอฟริกากลาง ตัดขาดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง เฟซบุ๊ก ว้อทส์แอพ และทวิตเตอร์ , ประเทศจีน บล็อคการใช้แอปพลิเคชันไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดียประเภทอื่น ๆ เพราะที่นั่นมีความเข้มงวดเป็นอย่างมากในการบล็อคเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาต่อต้านกลุ่มรัฐบาล ค่านิยมทางสังคม และ การกำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อความมั่นคงของชาติ
สุดท้าย ไม่ว่าจะใช้โซเชียลมีเดียด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังและใช้อย่างมีสติ โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องต่าง ๆ แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของคุณก็ตาม แต่ก็ควรระวัง เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา คุณเองจะต้องเดือดร้อนเอง และกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะความเสียหายเกิดขึ้นมาแล้ว ยากต่อการเรียกกลับคืนมา อย่าลืมว่าข้อความเพียงข้อความเดียว อาจจะสร้างความสะเทือนและเดือดร้อนไปถึงคนรอบข้างและคนในสังคมได้
นี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต