มุมมองของคนรุ่นเก่าเกี่ยวกับ “เงินๆ ทองๆ” ที่อยากส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

0
1140
kinyupen

เมื่อครั้งเรายังเด็ก ผู้ใหญ่มักจะสอนและปลูกฝังในเรื่องของการประหยัด อดออม ให้ความสำคัญในเรื่องการใช้เงิน โดยฝึกให้เรียนรู้และประพฤติกันตั้งแต่เด็กๆ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีวิธีรับมือง่าย ๆ 5 ข้อ ที่จะนำมาแนะนำให้กับคนรุ่นหลัง

เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีการถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันแต่ละคนมีวิธีการประหยัดที่แตกต่างกันแต่ก็ยังคงมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ “ไม่ใช้จ่ายเงินเกินความจำเป็น” บางคนเลือกวิธีการประหยัดง่ายๆ ด้วยการหิ้วปิ่นโตมาจากบ้าน เดินและขับจักรยานมาทำงานแทนการเสียเงินค่าโดยสารรถสาธารณะ เป็นต้น

เพราะช่วงนี้เงินๆ ทองๆ เป็นอะไรที่หายาก กว่าจะได้มาแต่ละบาท ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำพักน้ำแรง หยาดเหงื่อของแรงงาน และเงินก็จะต้องหมดไปรายจ่ายประจำ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ฯลฯ ล้วนแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้นในการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด

มาดูกันดีกว่าว่าแนวคิดการประหยัดของคนรุ่นปู่ย่าหรือพ่อแม่เรา ที่ดูแล้วไม่ตกยุค สามารถนำมาใช้ในยุคปัจจุบันได้

 

1. “อาหาร” อย่ากินทิ้งขว้าง

เคยเป็นไหม อาหารต่างๆ นาๆ ทั้งอาหารคาวหรืออาหารหวาน เมื่อรับประทานไม่หมดหรือรับประทานเหลือ ก็มักจะนำไปเก็บในตู้กับข้าวหรือตู้เย็น แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ คืออาหารอาจจะเน่าเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะละลืมไปโดยมิได้ตั้งใจที่จะให้อาหารเหล่านั้นเน่าเสียไป เพราะอาหารบางอย่างมีโอกาสเน่าเสียได้ ถึงแม้จะใส่ไว้ในตู้เย็นหรือตู้กับข้าวก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองและเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นขึ้น ผู้หลักผู้ใหญ่จึงมักย้ำอยู่เสมอว่า “อาหารอย่ากินทิ้งกินขว้าง”

 

2. “การศึกษา” เป็นสิ่งสำคัญจำเป็น อย่าได้ละทิ้งเป็นอันขาด

สังเกตไหมว่าคนในยุคสมัยก่อนอยากจะให้ลูกหลานของตนเองได้มีโอกาสเรียนสูงๆ ก็เพราะคนสมัยก่อนไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนสูงๆ เต็มที่ก็คือจบ ประถมศึกษาชั้นปีที่่ 4 หรือ 6 ระดับมัธยมศึกษา เนื่องจากอายุถึงเกณฑ์แล้วก็ต้องออกมาช่วยที่บ้านทำมาหากินกันแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีโอกาสที่จะได้เรียนต่อจนถึงระดับมหาวิทยาลัยกันมากขึ้น เพราะในตลาดแรงงานบ้านเราต้องการคนมีประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษามาประกอบในการสมัครงานแต่ละแห่ง จึงไม่แปลกที่คนสมัยก่อนถึงมักย้ำว่า “อย่าละทิ้งการศึกษา” เพราะในยุคนี้คนที่มีความรู้และความสามารถย่อมได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ ยิ่งมีวุฒิการศึกษาสูง ก็ยิ่งมีโอกาสได้เงินค่าแรงสูงเช่นกัน

 

3. “บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด” ไม่จำเป็นอย่าใช้!

คนสมัยก่อนจะย้ำเตือนเสมอว่า ใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ก่อหนี้ใหม่ขึ้นมา โดยเฉพาะการใช้ “บัตรเครดิต-บัตรกดเงินสด” เพราะบัตรดังกล่าวจะก่อหนี้สินขึ้นมาทันที ไม่ได้มีเพียงแค่เงินต้นเท่านั้น แต่มีเงินดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอีกด้วย หากเราใช้งานไม่เป็นหรือไม่มีวินัยในการชำระเงิน ทางที่ดีนั้นควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้จากบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสดจะดีที่สุด

 

4. การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ

การเป็นหนี้จากการหยิบยืมหรือกู้ยืมจากคนรอบข้าง นอกจากจะสร้างภาระให้ตัวเองแล้ว ยังเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับคนให้ยืมอีกด้วย นอกจากที่จะไม่ได้เงินคืนแล้ว ยังอาจทำให้ผิดใจกันจนสุดท้ายก็มีเรื่องให้ลาดหมางใจจนมองหน้ากันไม่ติดเหมือนเช่นเดิมอีกต่อไป เพียงเพราะเรื่องหนี้สินจากการหยิบยืมเงินนี่เอง คนสมัยก่อนจึงย้ำอยู่เสมอว่า อย่าสร้างหนี้หรือก่อหนี้ด้วยมือของตัวเอง และอย่าหยิบยืมเงินจากคนรอบข้าง ถ้าไม่อยากมีปัญหาบาดหมางกันในภายหลัง ฉะนั้น หากต้องการสร้างมิตรภาพที่ดีและยืนยาวจะต้องไม่มีเรื่องการหยิบยืมเงินๆ ทองๆ จะดีที่สุด

 

สุดท้าย ชีวิตของคนเราหากรู้จักประหยัดอดออมอย่างที่คนรุ่นเก่าสมัยปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่เราย้ำอยู่เสมอ ก็จะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้สินและการเดือดร้อนจากการไม่มีเงินพอใช้เอาได้ เป็นไปได้อยู่อย่างพอดี พอเพียง ไม่โลภมากจนเกินไปดีที่สุดแน่นอน

นี่คือวิถี กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen