รู้หรือไม่? ฝุ่นจิ๋ว PM ที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ในขณะนี้ ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่แท้จริงแล้ว ฝุ่นละออง PM เกิดขึ้นมานานมาก
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา คนกรุงหลายคนอาจจะต้องเผชิญกับหมอกควันจาง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลายคนตั้งคำถามให้กับตัวเองว่า “ที่เห็นอยู่นี่ หมอกหรือควัน” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทั้งหมอก และไม่ใช่ทั้งควัน แต่เป็นมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า PM 2.5 หากเข้าสู่ร่างกายเมื่อไหร่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่นอน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี?
PM 2.5 ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ความจริงคือ “เกิดขึ้นมานานแล้ว”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พัดเข้ามาก่อมลพิษทางอากาศในประเทศไทยบ้านเรา ความจริงแล้ว ในประเทศไทยเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กมานานแล้ว เราลองย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2540 ความหนาแน่นของฝุ่นละอองไทยในช่วงนั้นอยู่ในระดับที่เกินกว่ามาตรฐานใน 4 พื้นที่ของกรุงเทพฯ ได้แก่
ในพื้นที่ห้วยขวาง ความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 เฉลี่ยในแต่ละเดือนของช่วงปี 2539-2549 อยู่ที่ 63 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ก่อนที่จะลดลงมาเหลือเพียง 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ในช่วงปี 2550-2561 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่น PM10 ในแต่ละเดือนลดลงจาก 119 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) มาเป็น 62.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในพื้นที่วงเวียนใหญ่ที่ค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ในแต่ละเดือนของช่วงปี 2539-2549 ลดลงจาก 67 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เหลือ 35.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ในช่วงปี 2550-2561 โดยมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM 10 ในแต่ละเดือนลดลงจาก 111.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) เหลือ 60 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระรามสี่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2545 – 2561 มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ที่ 69.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และมีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นสูงสุดที่ 107.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
และในพื้นที่บางนา ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2561 มีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM10 ที่ 40.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) โดยมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นในแต่ละเดือนอยู่ที่ 72 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
ขณะที่ข้อมูลฝุ่นขนาด PM2.5 พบว่า ค่าเฉลี่ยโดยรวมในแต่ละเดือนยังไม่เกินมาตรฐาน แต่เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดในแต่ละเดือนพบว่าความหนาแน่นเริ่มสูงกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่ความหนาแน่นอาจจะสูงกว่ามาตรฐานไปถึง 2-3 เท่า
ในพื้นที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2559-2561 มีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นโดยรวมในแต่ละเดือนอยู่ที่ 29 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) หากดูที่ค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นอยู่ที่ 57.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวของแต่ละปีที่ค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่นอาจจะเพิ่มขึ้นไปสูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) หรือมากกว่ามาตรฐานของประเทศไทย 2 เท่า
ในพื้นที่บางนา ค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นของฝุ่นอยู่ที่ 23.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นที่ 45.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) โดยในช่วงฤดูหนาวมีค่าแตะระดับ 80-99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
ในพื้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระรามสี่ ซึ่งมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2561 พบว่ามีค่าเฉลี่ยของความหนาแน่นอยู่ที่ 27.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และมีค่าเฉลี่ยของค่าสูงสุดของความหนาแน่นของฝุ่นในแต่ละเดือนที่ 50.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) โดยในช่วงฤดูหนาวความหนาแน่นอาจจะสูงไปถึง 80-120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
สำหรับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในหลายพื้นที่ หากเทียบจากค่ามาตรฐานความหนาแน่นของฝุ่นของประเทศไทยที่กำหนดว่าในระยะเวลาเฉลี่ย 24 ชั่วโมงจะต้องมีปริมาณความหนาแน่นของฝุ่นขนาด PM 10 ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และสำหรับฝุ่นขนาด PM2.5 ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) แม้ว่าจะมีบางเดือนที่ค่าเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐาน ซึ่งมักจะเป็นช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ในแต่ละปี
PM 2.5 สูดบ่อยๆ เสี่ยงเกิดโรคต่างๆ
รู้หรือไม่ว่า หากฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าไปในร่ายกายด้วยปริมาณมากๆ แน่นอนว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพ แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อีกด้วย ดังนี้
– ระคายเคืองจมูก แสบจมูก ไอ มีเสมหะ
– โรคหลอดเลือดในสมอง
– โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
– โรคมะเร็งปอด
– โรคหัวใจขาดเลือด
– โรคหลอดเลือดหัวใจ
– โรคติดเชื้อเฉียบพลัน
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของธนาคารโลก ระบุว่ามลพิษทางอากาศในประเทศไทยเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตก่อนวันอันควรถึงราว 50,000 ราย/ปี และคนไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาอากาศที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศในระดับสูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง
“หน้ากาก” อุปกรณ์ป้องกัน PM 2.5
ในช่วงที่เมืองกรุงกำลังเผชิญกับมลพิษค่า PM 2.5 ทำให้หลายหน่วยงานพยายามประชาสัมพันธ์ให้คนกรุงสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน เพื่อป้องกัน PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน้ากากอนามัยทั่วไปนั้นไม่สามารถป้องกันได้จริงๆ 100% เรื่องนี้ คุณเบญจวรรณ ธวัชสุภา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ให้ข้อมูลว่า หน้ากากอนามัยที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด จะมีอยู่ 2 แบบ คือ หน้ากากอนามัยธรรมดา และ หน้ากากอนามัยแบบ N95 , P 100 ฉะนั้น หากต้องการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ควรใช้หน้ากาก N95 , P 100 จะป้องกันได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา
นอกจากนี้ เมื่อคนกรุงต้องเผชิญกับ PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่เกินมาตรฐานทุกวัน สามารถป้องกันได้ด้วย 5 วิธีป้องกันง่ายๆ เพียงแค่
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นละออง
– ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง
– ใช้หน้ากากอนามัย N95, P 100 ที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นละออง PM 2.5
– หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในที่โล่งแจ้งนานกว่า 12 ชั่วโมง
– ลดการใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และการเผาขยะ เพื่อลดปริมาณควันในอากาศ
PM2.5 ไม่น่ากลัวเท่าควันบุหรี่
จริงหรือที่ว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังไม่น่ากลัวเท่ากับควันบุหรี่ เรื่องนี้ พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผยว่า Dr. Richard Muller นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้ทำการคำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ (PM2.5) กับปริมาณการสูบบุหรี่ พบว่า การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศเทียบเท่า PM2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้สามารถผ่านเข้าสู่ปอด กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมายทั้งโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจและมะเร็ง เป็นต้น
จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2560 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน โดยเฉลี่ยสูบคนละ 10 มวนต่อวัน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าผู้สูบบุหรี่รวมทั้งคนใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่จะได้รับมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 สูงถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ฝุ่น PM10 ส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติเป็นฝุ่นหิน ฝุ่นทราย ส่วนฝุ่น PM2.5 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นหลัก แต่เชื่อว่าสถานการณ์ PM 2.5 ในปีนี้ ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต จึงขอให้คนกรุงอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีความรุนแรงเท่ากับปี 2561 ที่ผ่านมา แต่ก็อย่าละเลยในการป้องกันกันตัวเอง เพียงแค่หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องออกไปนอกบ้านก็อย่าลืมสวมหน้ากาก N95 , P 100 เพื่อป้องกัน PM 2.5 นอกจากนี้ ในส่วนของมนุษย์ก็ควรที่จะลดพฤติกรรมซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่มีควัน ไม่ก่อกองไฟหรือเผาขยะ เป็นต้น เพียงแค่นี้ มลพิษ PM 2.5 ก็จะไม่สามารถมาทำร้ายสุขภาพร่างกายเราได้อย่างแน่นอน