ในใต้หล้านี้…ประเทศจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล กว้างขวางถึง 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก ด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ทำให้การเดินทางระหว่างมณฑลใช้เวลาไม่น้อย ล่าสุดการเดินทางระหว่างมณฑลจะไม่นานอีกต่อไป ด้วยทางด่วนแห่งใหม่ ไต่เขาจากจีนสู่ทิเบต รูปลักษณ์คดไปวนมา สมชื่อ “แดนมังกร”
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปดูเรื่องราวของกรมการขนส่งประจำมณฑลเสฉวนของประเทศจีนเปิดทางด่วนแห่งใหม่ขึ้น ที่มณฑลเสฉวน เส้นทางระหว่างเมืองหย่าอาน-เมืองคางติ้ง ความยาว 135 กิโลเมตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเส้นทางสู่แคว้นปกครองตนเองทิเบตกานจื่อของมณฑลเสฉวนลำดับที่ 2 รองจากทางหลวงหมายเลข 318 ที่มุ่งสู่กรุงลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งเส้นทางแห่งใหม่นี้สามารถย่นระยะเวลาเดินทางเหลือเพียง 3 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ถือว่าเป็นของขวัญชิ้นใหม่ที่มณฑลเสฉวนมอบให้กับพี่น้องชาวจีนในปีนี้เลยก็ว่าได้
การก่อสร้างทางด่วนเชื่อมต่อระหว่าง เมืองหย่าอาน กับ เมืองคางติ้ง เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2557 ถือเป็นอีกหนึ่งงานท้าทายในการก่อสร้างอย่างยิ่ง เนื่องจากต้องเผชิญความท้าทายทางภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะลักษณะภูมิประเทศคับแคบและสูงชัน ประกอบกันหนึ่งในอุโมงค์ลอดภูเขาของทางด่วนแห่งนี้จะต้องตัดผ่าน 13 แนวรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ซึ่งการก่อสร้างครั้งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 23,000 ล้านหยวน (คิดเป็นเงินไทยอยู่ประมาณ 115,000 ล้านบาท) กระทั่งสามารถสร้างแล้วเสร็จก่อนกำหนดภายใน 9 เดือน
สำหรับโครงข่ายทางด่วนของประเทศจีน เป็นระบบรวมของทางด่วนระดับชาติและระดับมณฑลของประเทศ โดยเมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ.2560 โครงข่ายทางด่วนของประเทศจีนมีระยะทางรวมทั้งหมด 136,000 กิโลเมตร เรียกได้ว่าระยะทางประมาณ 1 ใน 3 ของความห่างจากโลกไปดวงจันทร์เลยทีเดียว! นับเป็นระบบทางด่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก…
ทางด่วนสายแรกที่ได้มีบันทึกไว้ในประเทศจีน คือในสมัยราชวงศ์ฉิน เมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน สืบเนื่องจาก “จิ๋นซีฮ่องเต้” จักรพรรดิพระองค์แรก ได้สร้างทางหลวงรัฐระยะทาง 750 กิโลเมตร เชื่อมต่อจากเมืองหลวงชื่อเสียนหยางไปยังพรมแดนทางด้านเหนือของออร์ดอส เพื่อเป็นการวางแผนป้องกันประเทศ ต่อมาทางหลวงแห่งชาติจีนสมัยใหม่สายแรกที่ก่อสร้าง คือ ทางด่วนเซี่ยงไฮ้–เจียติ้ง เปิดใช้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2531 มีระยะทาง 17.37 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางด่วนของเซี่ยงไฮ้ นี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : สำนักข่าว China Xinhua News