“ไอเรื้อรัง” อีกหนึ่งอาการที่สร้างความรำคาญให้กับตัวเองและคนรอบข้าง ต้นเหตุของอาการ “ไอเรื้อรัง” เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ถ้าอยากหายต้องรักษา
“อาการไอ” ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงสิ่งผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการไอเป็นกลไกป้องกันของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรคและเสมหะ แต่หลายคนคงรู้สึกแย่ หากต้องไออยู่บ่อย ๆ เพราะนอกจากจะรำคาญตัวเอง ยังสร้างความรำคาญให้คนรอบข้าง
อันที่จริง อาการไอ แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. อาการไอเฉียบพลัน จะมีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
2. อาการไอเรื้อรัง จะมีระยะเวลาของอาการไอมากกว่าหรือเท่ากับ 8 สัปดาห์ ถือเป็นปัญหาที่ประชาชนมีโอกาสพบเจอได้ง่าย และหากไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ จะมีความเสี่ยงสูงเป็นหลอดลมอักเสบอีกด้วย แต่ในทางการแพทย์ ไอเรื้อรัง คืออาการไอติดต่อกันนานเกินกว่า 3 สัปดาห์ และพบว่ามีอาการไอเรื้อรังและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาโดยเร็ว
สำหรับอาการ “ไอเรื้อรัง” มีต้นเหตุจากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่
1. การสูบบุหรี่ : การสูบบุหรี่เป็นประจำ ทำให้เนื้อเยื่อภายในร่างกายที่สัมผัสกับควันบุหรี่เกิดอาการระคายเคืองและอาจเป็นบาดแผล มีอาการอักเสบ จนเป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบได้
2. มีเสมหะ : การที่มีเสมหะในลำคอ มีปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งอาการของโรคภูมิแพ้ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ กรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ติดเชื้อเรื้อรังในคอ หรือแม้แต่การใช้เสียงด้วยวิธีผิดๆ เป็นต้น
3. ติดเชื้อเรื้อรังบริเวณลำคอ : เป็นโรคในลำคอที่เกิดจากเชื้อรา เชื้อวัณโรค เชื้อซิฟิลิส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสต่าง ๆ
4. ระคายเคืองลำคอ : เกิดจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ อาทิ สารเคมี สารระเหย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากปล่อยทิ้งไว้ เป็นอันตรายต่อร่างกายแน่นอน
5. อาการข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ : เป็นอาการข้างเคียงที่เกิดจากโรคอันตราย อาทิ หัวใจวาย ไอกรน ปอดติดเชื้อ และโรคปอดอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการป่วยเป็นไอเรื้อรังได้
“ไอเรื้อรัง” รักษาเบื้องต้นได้!
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก โรงพยาบาลพระรามเก้า แนะนำวิธีรักษาง่าย ๆ หากมีอาการไอเรื้อรัง เพียง
1. หยุดสูบบุหรี่
2. หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ลดการรับประทานอาหารที่ใช้น้ำมัน เป็นการช่วยบรรเทาหลอดลมรวมถึงเนื้อเยื่อภายในลำคอจากอาการระคายเคือง
4. หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ ๆ มีไรฝุ่น ฝุ่นละออง หมั่นพยายามทำความสะอาดเครื่องนอนเป็นประจำทุกสัปดาห์
5. ไม่ควรวางตุ๊กตาไว้บนเตียงนอน และไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขหรือแมว สายพันธุ์ที่มีขนต่าง ๆ
6. ใช้เครื่องฟอกอากาศ เพื่อกรองไรฝุ่นซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
7. หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ใกล้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลม ที่พัดอากาศเย็น ๆ มายังศีรษะโดยตรง
สุดท้าย อาการไอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคไม่ร้ายแรง และโรคร้ายแรง ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาและอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทางที่ดี หากรู้ตัวว่ากำลังป่วย อาการไอไม่ดีขึ้น หรือเป็นหนักขึ้นกว่าเดิม ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา อย่างปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายอย่างแน่นอน