5 เรื่องใหญ่ใกล้ตัว เตือนสติมนุษย์ คืนวันลอยกระทง

0
1486
5-เรื่องใหญ่ใกล้ตัว-เตือนสติมนุษย์คืนวันลอยกระทง_web
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของเทศกาลวันลอยกระทง ที่ทุก ๆ ปี หน่วยงานหลายภาคส่วนให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันลอยกระทง เป็น 5 เรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และมนุษย์ควรต้องรู้และให้ความสำคัญให้มาก ๆ

“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง” ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่ง และวันนี้ (22 พ.ย.61) ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่พระจันทร์เต็มดวง แม่น้ำหลายสายจะหลากเต็มตลิ่ง “ลอยกระทง” เวียนมาบรรจบครบอีกหนึ่งปีแล้ว ปีนี้คนไทยก็เตรียมเนื้อเตรียมตัววางแผนชวนครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง ไปลอยกระทงตามแม่น้ำคูคลองต่าง ๆ เพื่อขอขมาแม่น้ำคงคาที่มนุษย์ได้ใช้น้ำ เพื่อชำระร่างกาย ดื่มกิน ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงไปในแม่น้ำ นอกจากนี้ยังเป็นการลอยความทุกข์ ความโศก ความเศร้าต่าง ๆ ให้ลอยทิ้งไปกับแม่น้ำอีกด้วย

ปัจจุบัน หลายสถานที่มีการจัดกิจกรรมวันลอยกระทงกันแทบทุกจังหวัด ไม่เพียงแค่วัดวาอารามเท่านั้น ตอนนี้ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สวนสาธารณะหลาย ๆ แห่ง ก็เริ่มเปิดพื้นที่จัดกิจกรรม เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณีลอยกระทง ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของไทยอย่างหนึ่ง ไฮไลท์สำคัญนอกเหนือจากการลอยกระทงในแม่น้ำแล้ว ยังมีกิจกรรมการประกวดนางนพมาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สาว ๆ หลายคนให้ความสนใจ ใฝ่ฝันอยากขึ้นเวทีประชันความสวย ชิงเงินรางวัล สายสะพายกลับบ้าน ส่วนหนุ่ม ๆ เองก็ไม่พลาดที่จะเกาะขอบเวทีจ้องมองผู้เข้าประกวดนางนพมาศอย่างไม่ละสายตากันเลยทีเเดียว

สำหรับเทศกาลวันลอยกระทงในทุก ๆ ปี หน่วยงานหลายภาคส่วนให้ความสำคัญและเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันลอยกระทง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างเรา ๆ เอง แต่กลับกลายเป็นว่า มนุษย์กลับปล่อยปละละเลยไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าวมากนัก เรื่องบางเรื่องคิดเพียงแค่ว่า “ปล่อย ๆ ไป เพราะเดี๋ยวก็มีเจ้าหน้าที่มาดำเนินการให้” เปลี่ยนความคิดแบบนี้ แล้วหันมาใส่ใจกับเรื่องสำคัญที่มนุษย์ต้องรู้ในคืนวัยลอยกระทง เรื่องอะไรบ้างที่หน่วยงานหลายฝ่ายให้ความสำคัญและย้ำอยู่ทุก ๆ ปี

 

1. “ลอยกระทง” ใช้วัสดุจากธรรมชาติ
ทุก ๆ ปี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนออกมาประชาสัมพันธ์และรณรงค์ว่า “ลอยกระทง” ทุก ๆ ปี ขอให้ใช้วัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่เราจะพบกระทงที่ทำมาจากต้นกล้วย ใบตอง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ๆ ที่เกิดจากธรรมชาติล้วน ๆ ใช้ระยะเวลาวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน กระทั่งต่อมา เริ่มมีการผลิตกระทงที่ทำมาจากโฟม , กระดาษ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการสร้างมลพิษและเพิ่มปริมาณขยะให้กับแม่น้ำ แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อแม่น้ำ กลับกลายเป็นโทษต่อแม่น้ำมากกว่า เพราะกระทงที่ทำจากโฟม จะใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 50 ปีเลยทีเดียว ดังนั้น หลายหน่วยงจึงรณรงค์ไม่ให้ใช้วัสดุจากโฟมในการทำกระทง เพื่อดปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง

 

 

 

 

 

 

2. งดการเล่น “พลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ”
ทุก ๆ ปี ในคืนวันลอยกระทง นอกจากกระทงจะขายดีในคืนดังกล่าวแล้ว “พลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ” ยังเป็นสินค้าที่ขายดี โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน วัยรุ่น ที่ชื่นชอบการจุดประทัด ดอกไม้ไฟกันอย่างสนุกสนาน ถึงแม้ว่าตำรวจจะออกมาตรการคุมเข้มเรื่องของการจำหน่ายและจุดประทัดและดอกไม้ไฟแล้ว ก็ยังมีรายงานว่าพบการจุดประทัดในพื้นที่ต่าง ๆ แต่ที่น่าสลดใจก็คือ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเล่นประทัดและดอกไม้ไฟ จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ 33 แห่ง ของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างปี 2556-2560 พบผู้บาดเจ็บจากการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ และพลุ เฉลี่ยปีละ 505 ราย ในปี 2560 พบผู้ขาดเจ็บ 279 ราย โดยร้อยละ 92.48 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และร้อยละ 90.3 เป็นเพศชาย ฉะนั้น เจ้าหน้าที่และตำรวจจึงพยายามกวดขันให้งดการเล่น “พลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ” เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการได้รับอันตรายของ “พลุ-ประทัด-ดอกไม้ไฟ”

 

 

 

 

3. “ลอยกระทง” คืนแห่งการเสียตัว
เทสกาลลอยกระทงเป็นเทศกาลเดียวที่หนุ่มสาวสามารถพบเจอกันในยามวิกาล จากผลสำรวจพบว่า วันลอยกระทงเป็นวันที่เป็นการเสียตัวมากที่สุดอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 40 โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียตัวขึ้น ด้วยบรรยากาศที่ชวนเพลี้ยงพล้ำที่หนุ่มสาวจะได้พบเจอกันในยามวิกาล ประกอบกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้เคลิ้ม จึงทำให้เกิดการเสียตัวกันขึ้น
ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรมจึงพยายามรณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชนร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทง แนะนำผู้ปกครองให้ดูแลอบรมสั่งสอนให้วัยรุ่นบุตรหลานรู้จักความหมายของประเพณีที่ดีงามของการลอยกระทง เลิกการใช้ชีวิตแบบเสเพลที่ใช้เทศกาลลอยกระทงเป็นข้ออ้างในการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะต้องมีความรักนวลสงวนตัว เพื่อให้เทศกาลลอยกระทงอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมอันดีงามของไทยต่อไป

 

 

 

 

 

 

4. ลดปริมาณกระทงขยะในแม่น้ำคูคลอง
ในปี 2560 มีรายงานจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ถึงจำนวนการจัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยในคืนวันลอยกระทง ปี 2560 พบว่า มีขยะกระทงรวมจำนวน 811,945 ใบ โดยกระทงส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 760,019 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93.6 และกระทงที่ทำจากโฟม จำนวน 51,926 ใบ คิดเป็นร้อยละ 6.4 จะเห็นได้ว่าประชาชนเริ่มให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แต่ก็ยังมีส่วนน้อย ร้อยละ 6.4 ที่มองข้ามเรื่องสำคัญเรื่องนี้ไป
ดังนั้น ปีนี้หลายหน่วยงานจึงรณรงค์ให้มีการลอยกระทง โดย 1 ครอบครัว 1 กลุ่มเพื่อนฝูง ให้ใช้กระทงร่วมกันเพียง 1 กระทงเท่านั้น เนื่องจากหากมีปริมาณกระทงในแม่น้ำที่มากไป ก็อาจจะทำให้เกิดการเน่าเปื่อย ส่งกลิ่นเหม็น เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและสภาพแวดล้อมด้วย ดังนั้น จึงมีการรณรงค์เพื่อเป็นการช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำคูคลอง ร่วมรักษาแหล่งน้ำให้ใสสะอาดต่อไป

 

 

 

5. คนจมน้ำในคืนลอยกระทง
ทุก ๆ ปี จะมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกลงไปในแม่น้ำในคืนวันลอยกระทง นอกจากนี้ ยังพบการเสียชีวิตจากการลงไปในแม่น้ำเพื่องมหาเหรียญในกระทงอีกด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อลอยกระทง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะพลัดตกลื่นลงตกน้ำได้ ที่พบบ่อยคือการลงน้ำไปเก็บเศษเงินในกระทง ซึ่งสถิติผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2551-2560 พบว่า ช่วงเทศกาลลอยกระทง มีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำสะสมเกือบ 400 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มากที่สุด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องคอยจัดเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่มาลอยกระทงบริเวณท่าน้ำทุกแห่ง เพื่อหวังลดการเกิดอุบัติเหตุขึ้น

 

 

 

 

 

ลอยกระทงปีนี้ อย่าเพียงคำนึงแค่เพียง “ลอยกระทง” เพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิง แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องใกล้ตัวที่จะส่งผลต่อมนุษย์ในภายภาคหน้า มาร่วมรณรงค์และปลูกฝังให้มนุษย์ใส่ใจและให้ความสำคัญถึงเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างความยั่งยืนและร่วมรณรงค์ให้ประเพณีลอยกระทง เป็นประเพณีที่ทำให้หลาย ๆ คน มีทัศนคติเชิงบวก เป็นประเพณีที่ล้วนมีแต่ความสุข ไม่มีเรื่องโศกเศร้าหรือเสียหายเกิดขึ้น และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเพณีลอยกระทงนี้เป็นประเพณีที่ดี มีความศักดิ์สิทธิ์ ให้ชาวต่างชาติได้เห็นให้มุมนี้มากกว่าการมาเห็นเรื่องที่น่าสลดใจอีกแง่หนึ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen