เช็คลิสต์ตามช่วงวัย รู้ไหมแต่ละเจนฯ “เสี่ยงเป็นโรคอะไร”

0
372
kinyupen
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว BBC ประเทศอังกฤษ รายงานว่า กลุ่มเจเนอเรชั่น Y (เกิดช่วง พ.ศ.2523 – 2540) มีแนวโน้มจะเป็นเจเนอเรชั่นที่ “อ้วนที่สุด” ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยโรคมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (Cancer Research UK) ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนแต่ละเจเนอเรชั่น พบว่ากว่า 7 ใน 10 ของคนเจเนอเรชั่น Y เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนจะอ้วนเกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็งถึง 13 ชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้  ฯลฯ เพราะไขมันส่วนเกินที่สะสมในร่างกาย จะทำให้เซลล์ต่างๆเสียหายทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น

 

แต่นั่นเป็นเพียงผลวิจัยจากเพียงหนึ่งกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ “กินอยู่เป็น” จึงได้รวบรวมข้อมูลน่ารู้ น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่มักเกิดในคนแต่ละเจเนอเรชั่นมาดังนี้

เบบี้บูมเมอร์ (เกิดช่วง พ.ศ.2490 – 2507) ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา ซึ่งตรากตรำผ่านการทำงาน และ ความเครียดสะสมมาเป็นเวลานาน รวมถึงความวิตกกังวลในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ  จึงมักเสี่ยงต่อ “โรคหัวใจ และ ความดันโลหิตสูง” เป็นพิเศษ

เจเนอเรชั่น X (เกิดช่วง  พ.ศ.2508 – 2522) วัยกลางคนที่อยู่ในช่วงสร้างตัว สร้างฐานะเพื่อความมั่นคง ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเน้นกินอยู่เรียบง่าย เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา จนอาจละเลยดูแลสุขภาพที่ดีพอ  “โรคเบาหวาน ปวดหลัง และโรคกระเพาะ” จึงเป็นความเสี่ยงที่มักตามมา

เจเนอเรชั่น Y (เกิดช่วง  พ.ศ.2523 – 2540) นอกจากโรคอ้วนแล้ว ด้วยความเครียดจากการทำงาน ประกอบกับพฤติกรรมการดื่มกินสังสรรค์ตามช่วงวัย  และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้ “ไมเกรน มะเร็ง กรดไหลย้อน” มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกับกลุ่มนี้

เจเนอเรชั่น Z ( เกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ขึ้นไป) ด้านการใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี และ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงอาหารการกินที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย  โรคที่เกิดจึงมักกระทบต่อชีวิตประจำวันและระดับพัฒนาการ อันได้แก่ “โรคสมาธิสั้น โรคภูมิแพ้ รวมถึงโรคอ้วน” เป็นต้น

 

ข้อมูลข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคน แต่เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ในเจเนอเรชั่นใด เพียงแค่หันมา “ใส่ใจอาหารการกิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จัดสรรตารางเวลาในชีวิตประจำวันให้สมดุล รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพอและตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอ” เท่านี้สุขภาพที่ดีก็จะเกิดขึ้นกับคุณได้ง่ายๆ และลดความเสี่ยงจากโรคร้ายได้ดียิ่งขึ้นด้วย 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :  ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ โดย นพ. วรวุฒิ เจริญศิริ

             จุลสารโรงพยาบาลสระบุรี โดย ภญ.สุมาพร ไทยเจริญ

kinyupen