…เพราะอยู่ในวัยกลางคน
…เพราะยังไม่มีครอบครัว
…เพราะเป็นนักกฎหมายที่สนใจสิทธิสตรีและสิทธิครอบครัว พอๆ กับสิทธิมนุษยชน
และ..เพราะคับข้องใจกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรี ไม่ว่าผู้กระทำผิด โดยใช้ความรุนแรงตลอดช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมาไม่ว่า จะเป็นบิดาทำร้ายลูกจนเลือดคั่งสมองเข้าไอซียู แม่ผลักลูกวัยสามขวบจมน้ำจนเสียชีวิต หรือ กระทั่งล่าสุดกรณีไลฟ์สดทำร้ายแฟนสาวผ่านโซเชียลออนไลน์ จนกลายเป็นประเด็นไปทั่วประเทศ
เกิดข้อสงสัย ..สังคมไทยทุกวันนี้ “เป็นอยู่” กันแบบไหน?
เหตุใดสถาบันครอบครัว ชุมชนที่เล็กที่สุดในสังคม ถึงได้มีปัญหาแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ??
สาเหตุเกิดจากอะไร ?? และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ??
นักกฎหมายอย่างดิฉันเอง ถูกสอนให้เชื่อมั่นว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม” และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว “กฎหมายจะเป็นกลไกให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหานั้นได้” บัดนี้ ได้แต่ตั้งคำถามในใจว่า .. จริงหรือ ?? หรือจะต้องทำอย่างไรที่ทำให้เครื่องมือนี้ศักดิ์สิทธิ์ ?
ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร ถูกเขียนบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักของประเทศ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เช่น บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา อยู่ในมาตรา ๑๕๖๓ แต่ในขณะบุตรอยู่ในวัยเยาว์ บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร และหากบุตรบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ บิดามารดาก็ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป อยู่ในมาตรา ๑๕๖๔
ในระหว่างที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุตรต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา โดยบิดามารดามีสิทธิ (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป และ (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบัญญัติในมาตรา ๑๕๖๖ และมาตรา ๑๕๖๗ เป็นต้น
หรือในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ประเทศไทยก็ได้บัญญัติกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ไว้ เมื่อสิบปีที่แล้ว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวและสถาบันครอบครัว ได้มีการระบุบทลงโทษไว้ใน มาตรา ๔ ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา ๕ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง
รวมทั้งกำหนดมีกลไกหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย
ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ประเทศไทยก็ได้บัญญัติกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ไว้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเช่นกัน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่อบอกว่า ประเทศไทยได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก หากผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้ ก็ให้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองและดูแลเด็กแทน ..
หากดูแค่ว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ดูแลปัญหาเรื่องเด็กและสตรีแล้ว เราอาจอนุมานว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ดี แต่ถ้าหันมาดูสถิติจำนวนเด็กสตรีที่ถูกทำร้ายร่างกายในสังคมไทย ในแต่ละรอบปี พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น และบางปีก็สูงกว่าปีอื่นๆ อย่างน่าแปลกใจ
ตารางข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ปี พ.ศ. | โรงพยาบาล | เด็กที่ถูกทำร้าย | สตรีที่ถูกทำร้าย | เด็กและสตรีที่ถูกทำร้าย | เฉลี่ยการถูกทำร้าย |
๒๕๕๐ | ๒๕๐ | ๙,๕๙๘ | ๙,๔๖๙ | ๑๙,๐๖๗ | ๕๒ |
๒๕๕๒ | ๖๑๗ | ๑๒,๓๕๙ | ๑๑,๑๔๐ | ๒๓,๔๙๙ | ๖๔ |
๒๕๕๔ | ๕๗๘ | ๑๑,๔๙๑ | ๑๑,๐๔๗ | ๒๒,๕๖๕ | ๖๒ |
๒๕๕๖ | ๖๓๑ | ๑๙,๒๒๙ | ๑๒,๖๓๗ | ๓๑,๘๖๖ | ๘๗ |
๒๕๕๘ | ๕๒๓ | ๑๐,๗๑๒ | ๑๓,๒๖๕ | ๒๓,๙๗๗ | ๖๖ |
กฎหมายอาจไม่ใช้ทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาสังคมแบบนี้ .. แล้วเราจะใช้กลไกอะไรที่จะแก้ไขปัญหานี้ บางคนคิดถึงโรงเรียน คิดถึงสถาบันการศึกษา แต่เราก็ยังอยู่ในวังวนห้วงคำนึงว่า เราไว้ใจโรงเรียนและครูได้มากน้อยแค่ไหนกัน .. เมื่อเห็นข่าว “ครูมีความสัมพันธ์กับเด็กม.๒” หรือข่าว “เด็กนักเรียนประถมข่มขืนเด็กรุ่นน้อง” .. เพลียใจแทนคุณครู หากเราจะฝากอนาคตของสังคมไทยไว้กับโรงเรียน ท่ามกลางสภาพสังคมไทยแบบทุนนิยม บริโภคนิยม กระแสสังคมสื่อโลกาวินาศ เน็ตไอดอลแบบที่วัยกลางคนอย่างดิฉันไม่เข้าใจว่าเป็นเน็ตไอดอลได้อย่างไร ??
โลกเราจะเป็นอยู่อย่างไรในอนาคต น่าห่วงยิ่งนัก ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ ที่ถ่างขยายออกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องเงินทอง สติปัญญา และการใช้ชีวิต .. มานึกอีกที ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก ก็ดีแล้วสำหรับดิฉัน
นี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
////////////////////////
อารีวรรณ จตุทอง
นักวิชาการกฎหมายด้านสตรี ครอบครัว และเด็ก