การใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรีในประเทศไทย สังคมไทยทุกวันนี้ “เป็นอยู่” กันแบบไหน?

0
616
kinyupen
…เพราะอยู่ในวัยกลางคน
…เพราะยังไม่มีครอบครัว
…เพราะเป็นนักกฎหมายที่สนใจสิทธิสตรีและสิทธิครอบครัว พอๆ กับสิทธิมนุษยชน

และ..เพราะคับข้องใจกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่มีข่าวการใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรี ไม่ว่าผู้กระทำผิด โดยใช้ความรุนแรงตลอดช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมาไม่ว่า จะเป็นบิดาทำร้ายลูกจนเลือดคั่งสมองเข้าไอซียู แม่ผลักลูกวัยสามขวบจมน้ำจนเสียชีวิต หรือ กระทั่งล่าสุดกรณีไลฟ์สดทำร้ายแฟนสาวผ่านโซเชียลออนไลน์ จนกลายเป็นประเด็นไปทั่วประเทศ

เกิดข้อสงสัย ..สังคมไทยทุกวันนี้ “เป็นอยู่” กันแบบไหน?

เหตุใดสถาบันครอบครัว ชุมชนที่เล็กที่สุดในสังคม ถึงได้มีปัญหาแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ??

สาเหตุเกิดจากอะไร ??  และอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ??

นักกฎหมายอย่างดิฉันเอง ถูกสอนให้เชื่อมั่นว่า “กฎหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม” และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว “กฎหมายจะเป็นกลไกให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหานั้นได้” บัดนี้ ได้แต่ตั้งคำถามในใจว่า .. จริงหรือ ??  หรือจะต้องทำอย่างไรที่ทำให้เครื่องมือนี้ศักดิ์สิทธิ์ ?

ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร ถูกเขียนบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักของประเทศ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  เช่น  บุตรมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา อยู่ในมาตรา ๑๕๖๓  แต่ในขณะบุตรอยู่ในวัยเยาว์ บิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร และหากบุตรบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ บิดามารดาก็ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไป อยู่ในมาตรา ๑๕๖๔

ในระหว่างที่บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ บุตรต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา  โดยบิดามารดามีสิทธิ (๑) กำหนดที่อยู่ของบุตร (๒) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน (๓) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป และ (๔) เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งบัญญัติในมาตรา ๑๕๖๖ และมาตรา ๑๕๖๗ เป็นต้น

หรือในกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ประเทศไทยก็ได้บัญญัติกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ไว้ เมื่อสิบปีที่แล้ว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อคุ้มครองสมาชิกในครอบครัวและสถาบันครอบครัว ได้มีการระบุบทลงโทษไว้ใน มาตรา ๔ ผู้ใดกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ให้ความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่ไม่ลบล้างความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น หากการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ด้วย ให้ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา ๕ ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

รวมทั้งกำหนดมีกลไกหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ประเทศไทยก็ได้บัญญัติกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ไว้ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเช่นกัน คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่อบอกว่า ประเทศไทยได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก หากผู้ปกครองไม่สามารถดูแลเด็กได้ ก็ให้มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาทำหน้าที่คุ้มครองและดูแลเด็กแทน ..

หากดูแค่ว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ดูแลปัญหาเรื่องเด็กและสตรีแล้ว เราอาจอนุมานว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ดี  แต่ถ้าหันมาดูสถิติจำนวนเด็กสตรีที่ถูกทำร้ายร่างกายในสังคมไทย ในแต่ละรอบปี พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น และบางปีก็สูงกว่าปีอื่นๆ อย่างน่าแปลกใจ

ตารางข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ปี พ.ศ. โรงพยาบาล เด็กที่ถูกทำร้าย สตรีที่ถูกทำร้าย เด็กและสตรีที่ถูกทำร้าย เฉลี่ยการถูกทำร้าย
๒๕๕๐ ๒๕๐ ๙,๕๙๘ ๙,๔๖๙ ๑๙,๐๖๗ ๕๒
๒๕๕๒ ๖๑๗ ๑๒,๓๕๙ ๑๑,๑๔๐ ๒๓,๔๙๙ ๖๔
๒๕๕๔ ๕๗๘ ๑๑,๔๙๑ ๑๑,๐๔๗ ๒๒,๕๖๕ ๖๒
๒๕๕๖ ๖๓๑ ๑๙,๒๒๙ ๑๒,๖๓๗ ๓๑,๘๖๖ ๘๗
๒๕๕๘ ๕๒๓ ๑๐,๗๑๒ ๑๓,๒๖๕ ๒๓,๙๗๗ ๖๖

 

กฎหมายอาจไม่ใช้ทางออกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาสังคมแบบนี้ .. แล้วเราจะใช้กลไกอะไรที่จะแก้ไขปัญหานี้ บางคนคิดถึงโรงเรียน คิดถึงสถาบันการศึกษา แต่เราก็ยังอยู่ในวังวนห้วงคำนึงว่า เราไว้ใจโรงเรียนและครูได้มากน้อยแค่ไหนกัน .. เมื่อเห็นข่าว “ครูมีความสัมพันธ์กับเด็กม.๒”  หรือข่าว “เด็กนักเรียนประถมข่มขืนเด็กรุ่นน้อง” .. เพลียใจแทนคุณครู หากเราจะฝากอนาคตของสังคมไทยไว้กับโรงเรียน  ท่ามกลางสภาพสังคมไทยแบบทุนนิยม บริโภคนิยม กระแสสังคมสื่อโลกาวินาศ เน็ตไอดอลแบบที่วัยกลางคนอย่างดิฉันไม่เข้าใจว่าเป็นเน็ตไอดอลได้อย่างไร ??

โลกเราจะเป็นอยู่อย่างไรในอนาคต น่าห่วงยิ่งนัก ความแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำ ที่ถ่างขยายออกอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเรื่องเงินทอง สติปัญญา และการใช้ชีวิต .. มานึกอีกที  ไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก ก็ดีแล้วสำหรับดิฉัน 

นี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

////////////////////////

อารีวรรณ จตุทอง

นักวิชาการกฎหมายด้านสตรี ครอบครัว และเด็ก

kinyupen