มัดรวมทุกข้อสงสัย ก่อนใช้แอปฯ “ทางรัฐ”

0
175
kinyupen

พร้อมแล้วยังงงงง…. มานับถอยหลังสู่การรับ “เงินหมื่น” จากแอปฯ “ดิจิทัล วอลเล็ต” กันค่ะ วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ได้มัดรวมทุกข้อตกลง เงื่อนไขต่างๆที่หลายคนสงสัย พร้อมสิทธิประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับมาฝากกันค่ะ

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” จะเริ่มให้ประชาชนทั่วไป ลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 สิงหาคม เป็นต้นไป ส่วนร้านค้าที่ต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการคาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 สำหรับ “ทางรัฐ” เป็นแอปฯ ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐที่รวบรวมบริการรัฐมาไว้ในแอปฯ เดียวเพื่อตอบไลฟ์สไตล์ในแบบ New Normal ช่วยให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถตรวจสอบสิทธิ์ จ่ายบิล หรือติดตาม สถานะการขอใช้บริการจากภาครัฐได้ง่ายๆ

5 เหตุผลที่ต้องโหลดแอปฯ ทางรัฐ

1. เข้าถึงบริการของรัฐที่หลากหลายผ่านช่องทางเดียว

2. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

3. สามารถติดต่อรัฐได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านโทรศัพท์มือถือ

4. ประหยัดเวลา สะดวก และรวดเร็ว

5. เช็กสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่พึงได้อย่างเท่าเทียม.

เงื่อนไขและคุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ

1.เป็นประชากรที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน

2.มีสัญชาติไทย

3.มีอายุตั้งแต่ 16 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน (15 กันยายน 2567)

4.ไม่เป็นผู้มีรายได้เกิน 840,000 บาท สำหรับปีภาษี 2566

5.ไม่เป็นผู้ที่มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันเกิน 500,000 บาท*

6.ไม่เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ

7.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

8.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

(*คุณสมบัติเรื่องเงินฝาก จะตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ (1) เงินฝากกระแสรายวัน (2) เงินฝากออมทรัพย์ (3) เงินฝากประจำ (4) บัตรเงินฝาก (5) ใบรับเงินฝาก และ (6) ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นใดที่มีลักษณะเดียวกับข้อ (1) – (5) ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวให้หมายความถึงเฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึง เงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567)

กำหนดการเข้าร่วมโครงการ

ประชาชนทั่วไปที่ใช้สมาร์ตโฟน จะเปิดให้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 15 ก.ย. 2567 โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นทางรัฐไว้ก่อนได้เพื่อความสะดวก

ประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน** ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการให้เข้าร่วม โครงการฯ ได้ในระยะต่อไป โดยจะให้มีการลงทะเบียนและยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ระหว่างวันที่ 16 ก.ย. – 15 ต.ค. 2567 จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ สถานะบุคคล และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีสมาร์ตโฟน

การลงทะเบียนร้านค้า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไปซึ่งจะมีการแถลงข่าวเพิ่มเติม เพื่อแจ้งเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้านค้า ช่องทางและวิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และเงื่อนไขอื่น ๆ ให้ทราบต่อไป

(**ส่วนของการใช้จ่ายเงินในโครงการของประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ใช้สิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน แต่การใช้จ่ายผ่านช่องทางนี้จะทำได้ในวงแคบกว่า จึงแนะนำให้ลงทะเบียนผ่านสมาร์ตโฟนหากทำได้)

การลงทะเบียนรับสิทธิจะทำผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เท่านั้น โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทาง Google Playstore และ Apple Appstore

หลังจากทำการดาวน์โหลดแอปฯ ทางรัฐ เรียบร้อย คุณสามารถเลือกวิธีในการสมัครสมาชิกและลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ 6 ช่องทางตามที่ท่านสะดวกได้ ดังนี้

1. ลงทะเบียนโดยการกดปุ่ม ‘สมัครด้วยบัตรประชาชน’ บนแอปฯ ทางรัฐเลย!

2. ยืนยันตัวตนผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น 7-11 เคาน์เตอร์เซอร์วิส ทุกสาขาทั่วประเทศ

3. ยืนยันตัวตนผ่านตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ

4. ยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม โดยสามารถสมัครได้บริเวณตู้ที่มีกล้องเท่านั้น

5. ยืนยันตัวตนผ่านเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ (ยกเว้น ไปรษณีย์อนุญาต และ ร้านไปรษณีย์)

6. ยืนยันตัวตนผ่านแอปฯ ThaID

ข้อกำหนดในการใช้จ่ายเงินในโครงการฯ

จะเริ่มใช้จ่ายเงินในโครงการได้ในช่วงไตรมาสที่ 4(ตุลาคม-ธันวาคม)ของปี 2567 โดยมีเงื่อนไขการใช้งานดังต่อไปนี้

การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า : ประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้กับร้านค้า ขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น และในการซื้อสินค้า หากประชาชนมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอใด ก็ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้า ในอำเภอเดียวกันเท่านั้น และต้องซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) เท่านั้น

การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า : ร้านค้าทุกประเภทสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ **และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการซื้อขายแบบพบหน้า (Face to Face) จึงซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ แม้จะอยู่ต่างพื้นที่

สินค้าทุกประเภทสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ยกเว้นสินค้า Negative List ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชา และกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี น้ามันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือสื่อสาร(กระทรวงพาณิชย์อาจพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายการสินค้า Negative List เพิ่มเติมได้) ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายใต้โครงการฯ จะไม่รวมถึงบริการต่าง ๆ

ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือพิมพ์เป็นภาษาไทยว่า www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย หรือ สามารถสอบถามผ่านศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Call Center) สายด่วน โทร. 1111 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here