อย่าชะล่าใจ “โรคสมองเสื่อม” เกิดได้ในวัยทำงาน

0
561
kinyupen

ข้อมูลสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ พบว่าตอนนี้พบผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง มีภาวะสมองเสื่อมรุนแรงภายในรวดเร็ว หรือ 1-2 ปี ซึ่งไม่ได้เป็นกับผู้สูงอายุ แต่กลับเกิดในกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุ 40-60 ปี เรียกโรคกลุ่มนี้ว่า “กลุ่มโรคสมองเสื่อมที่มีการถดถอยรวดเร็วและรุนแรง” (Rapidly progressive dementia) หรือ ซีเจดี

 

เจ้าโรคซีเจดี เกิดจากการทำงานผิดปกติของโปรตีนในสมอง ที่เรียกว่า พรีออน (Prion) ซึ่งเป็นโปรตีนลักษณะพิเศษ ที่ทำให้โปรตีนอื่น กลายสภาพเป็นโปรตีนพรีออนผิดปกติ ที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเข้าสู่สมองคนในระยะเวลารวดเร็วไม่กี่เดือนเซลล์ประสาทจะตาย ทำให้ความสามารถของสมองถดถอย ไม่สามารถฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

 

3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ก็คือ

  1. ความเสื่อมถอยของโปรตีน และสารเคมีในสมอง
  2. โรคพันธุกรรมในครอบครัว
  3. ถ่ายทอดแบบการติดเชื้อ เช่น เคยมีการติดเชื้อจากการกินเนื้อวัว ที่เป็นโรควัวบ้า ที่เคยระบาดในยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษ จากสัตว์สู่คนและคนสู่คนได้

 

โรคนี้ไม่จำกัดเพศ พบได้ทุกเพศ สถิติมักเกิดได้บ่อยจริงๆ ในช่วงอายุ ประมาณ 55-75 ปี สังเกตได้ว่าผู้ป่วยจะมีภาวะเสื่อมถอย ด้านความคิดความจำในระยะเวลาที่รวดเร็วและรุนแรงไม่กี่เดือน อาการที่แสดงออกมาจะเพิ่มระดับตามความรุนแรง ได้แก่

  • ความจำแย่ลง
  • การทำงานผิดพลาด
  • ผู้ป่วยมีพฤติกรรม และจิตใจผิดปกติ เช่น เห็นภาพหลอน เอะอะโวยวาย หรือ เฉยเมย
  • การพูดและการเคลื่อนไหวช้าลง
  • บางรายมีอาการกระตุกตามแขนขา และลำตัว แบบไม่รู้สาเหตุ

 

อ่าน สมองเสื่อม…กลัวแล้วทำไง ?

 

สิ่งที่เกิดตามมาแน่นอน คือ ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ กระทั่งนอนติดเตียง และเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน หรือ 1 ปี

 

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ที่เป็นแล้ว แพทย์จะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ส่งตรวจMRI ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และตรวจเลือดหรือน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจสารเคมีในสมอง และอาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยา ควบคุมอาการพฤติกรรมวุ่นวาย และลดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ เป็นต้น

ด้านการป้องกันเน้นไปที่ป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อจากโปรตีนพรีออน 2 ด้าน 1.จากคนสู่คน และ 2.จากสัตว์สู่คน เช่น การหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ

 

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาด แต่มีการตรวจพบผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สถาบันประสาทวิทยา ย้ำว่า ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการเข้าได้กับโรคซีเจดี ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว เพราะมีโรคอื่นอีกหลายโรคที่อาจอาการคล้ายกับโรคซีเจดี แต่หากพบว่าเป็นโรคนี้ และพบได้เร็ว จะช่วยควบคุมความเสี่ยง ในการแพร่กระจายโรค รักษาทั้งคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และผู้ดูแล

kinyupen