หนีค่าธรรมเนียม ด้วย Mobile Banking

0
366
kinyupen

เหนื่อยไหม สิ้นเดือนทีไร ครบรอบบิลเมื่อไหร่ ต้องหอบบิล ค่าน้ำ ค่าไฟเอย ค่าอินเทอร์เน็ต เอย ค่าบัตรเครดิต ค่า กยศ. ฯลฯ ต่อคิวยาวเหยียด โดยเสียค่าบริการ 5 – 30 บาท ต่อใบ! สมมติใบละ 10 บาท 4 ใบก็ 40 บาทแล้ว ยังไม่นับค่าเดินทางอีกต่างหาก

วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตมีแนวทางประหยัดคุ้ม ทำธุรกรรมออนไลน์ ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ค่าธรรมเนียม 0 บาท ด้วย “Mobile Banking”

 

หลายคนอาจใช้ Mobile Banking เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะใช้โอนจ่ายตามปกติเท่านั้น เวลาจ่ายบิลก็ไปจ่ายที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสเหมือนเดิม (อ่าว..) แต่ในความเป็นจริง Mobile Banking สามารถประหยัดได้มากกว่านั้น

 

ใช้ Mobile Banking ประหยัดตรงไหน?

แอปฯ ธนาคารสามารถใช้จ่ายอะไรได้หลากหลาย โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และทุกรายการจะมีหลักฐาน e-Slip บันทึกให้อัตโนมัติ

  1. ถอนเงิน ไม่ใช่บัตร
    โดยปกติการถอนเงินผ่านบัตร ATM แม้เป็นธนาคารเดียวกัน แต่หากใช้บริการข้ามเขตก็จะเสียค่าธรรมเนียม 10-15 บาทต่อครั้งอยู่ดี แต่สำหรับการถอนเงินไม่ใช้บัตร ผ่าน Mobile Banking ยังไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แม้ทำรายการข้ามเขตหรือต่างจังหวัดก็จะไม่เสียในส่วนของค่าธรรมเนียมต่างๆ
  2. ค่าน้ำ-ค่าไฟ
  3. ค่าอินเทอร์เน็ต
  4. ค่าโทรศัพท์มือถือ
  5. จ่ายบิล ค่าบัตรเครดิต
  6. ทำบุญ บริจาค ช่วยเหลือมูลนิธิเข้าบัญชีโดยตรง
    หลายคนกังวลเรื่องการโอนเงินการทำบุญมาก ว่าเป็นมูลนิธิจริงหรือไม่ เขาขัดสนจริงหรือเปล่า? แต่ไม่ต้องคิดมากเรื่องมิจฉาชีพอีกต่อไป เพราะแอปฯ ธนาคารได้คัดกรองมาอย่างดีแล้ว
  7. อื่นๆ เช่น ประกันภัย ค่าเรียนพิเศษ

 

 

โลกเปลี่ยนไปแค่ไหน

ถ้าดูตัวเลขโดยรวมที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดเก็บไว้ของปี 2563 ที่ผ่านมา มีการชำระ ค่าบริการทั้งในธนาคารและเคาน์เตอร์บริการ นับเฉพาะจำนวนที่ชำระเป็นเงินสด รวมทั้งสิ้น 2,510,000,000,000 บาท (สองล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท) 298,545,000 รายการ (สองร้อยเก้าสิบแปดล้านห้าแสนสี่หมื่นห้าพันรายการ)

ซึ่งจำนวนค่าธรรมเนียมคร่าวๆ ของปี 2563 (ถ้าคิดค่าบริการครั้งละ 10 บาท) คือปีนั้นเสียค่าบริการไปประมาณ 2,985,450,000 บาทเลยทีเดียว

 

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการใช้บริการชำระเงินเหล่านี้มีแนวโน้มที่ลดลงจากปีก่อนๆ มาก เนื่องจากอิทธิพลจากสมาร์ทโฟน เราจึงเปลี่ยนจากการชำระค่าบริการที่ธนาคารพาณิชย์และเคาน์เตอร์บริการ เป็นการชำระบนระบบออนไลน์หรือแอปพลิเคชันแทน

 

 

ดังนั้นการก้าวทันตามเทคโนโลยี ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ลืมว่าการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ระวังโจรกรรมออนไลน์ ดูดเงินเกลี้ยงบัญชีด้วย โดยมีวิธีระมัดระวังดังนี้

  1. อ่านรายละเอียดแจ้งเตือนให้ครบถ้วนทุกครั้ง ก่อนกด “ยอมรับ” หรือ “ตกลง”
  2. ใช้เน็ตผ่านทางเครือข่าย 3G , 4G บนมือถือ จะปลอดภัยกว่าใช้ Wi-Fi
  3. ทางธนาคารไม่มีนโยบายส่ง SMS , E-mail เพื่อให้ดาวน์โหลดแอปฯ หรือเข้าสู่ระบบผ่านทางออนไลน์ หากมีลิงค์ไปเว็บธนาคารเพื่อกรอก ให้คิดไว้ก่อนว่าเป็นเว็บปลอม
  4. หากพบลิงค์ที่น่าสงสัย ให้แจ้งติดต่อธนาคารที่คุณใช้บริการ

 

เพียงเท่านี้ก็ทั้งประหยัดเงิน ประหยัดเวลา มีเวลาไปใช้ทำอย่างอีกได้อีกเยอะ

kinyupen