New Normal Same Cancer รณรงค์ผู้ป่วยมะเร็ง อย่า! หยุดรักษา

0
562
kinyupen

ในช่วงที่โควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลก และกลับมาระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้บางจังหวัด และบางอำเภอ ต้องล็อกดาวน์ สถานที่ต่างๆ กลับมาเว้นระยะห่างกันอย่างเคร่งครัด หลังจากผ่อนคลายมาหลายเดือน โรงพยาบาล อาจต้องมีการเลื่อนนัดพบแพทย์ หรือผ่าตัดออกไป เช่นเดียวกับการระบาดในระลอกแรก

 

น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มผู้ป่วยมะเร็ง เนื่องจากความรุนแรงของโรคที่ต้องพบแพทย์ตามกำหนด เพื่อรับการรักษาและได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ส่งผลโดยตรงต่อผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย บางประเทศมีจำนวนผู้เข้ารับการรักษา รวมถึงการคัดกรองมะเร็งลดลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุเพราะผู้ป่วยมะเร็งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง ทำให้กลัวที่จะมาโรงพยาบาล

 

จากการเก็บข้อมูลของสถาบันมะเร็ง มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2564 พบว่าการเข้าพบเพื่อปรึกษาเป็นครั้งแรกของผู้ป่วยมะเร็ง (First Consultation) ลดลง 9% และการเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามผล (Follow-up Consultation) ลดลง 30% แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะฟื้นตัวแล้วก็ตาม แต่ยังมีผู้ป่วยหลุดจากกระบวนการรักษาไปไม่น้อย

 

รักษาช้า 1 เดือนเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่ม 6%

ทางด้านการสำรวจจากศัลยแพทย์มะเร็ง 480 คนทั่วประเทศอินเดีย ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ป่วย 192,000 ราย จะเลื่อนการเข้ารับการวินิจฉัยโรคมะเร็ง รวมถึงการตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรีทุกปี ก็ลดลงถึง 75%

แต่เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเป็นผู้ป่วย ที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ และAstraZeneca จึงร่วมกันรณรงค์โครงการ New Normal Same Cancer เพื่อสร้างการรับรู้ และความตระหนัก เกี่ยวกับโรคมะเร็ง ให้ทั่วโลกร่วมมือกันจัดการกับปัญหาการเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งหยุดพักการรักษาชั่วคราวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา กลับมาเข้าการรักษาต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยที่มีแนวโน้ม หรือความเป็นไปได้ ที่จะเป็นโรคมะเร็งให้เข้ารับการตรวจตัดกรอง หรือตรวจเช็คตามระยะเพื่อการรักษาทันท่วงที เพราะผลวิจัยล่าสุด ชี้ออกมาว่า หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษามะเร็งล่าช้าไป 1 เดือน มีผลต่อความเสี่ยงในการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 6%

 

นานาชาติรณรงค์ผู้ป่วยมะเร็งอย่าหยุดรักษา

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งจากนานาชาติ ทั้งจากสิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ได้ออกมาบอกกล่าวกับประชากรโลก ผ่านการเสวนาออนไลน์ ตามมาตรการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง

 

ศาสตราจารย์ ชึง วี จู (Chng Wee Joo) ผู้อำนวยการสถาบัน มะเร็งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NCIS) ย้ำว่า การทำให้ประชาชนทั่วไป และผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่หายจากโรคมะเร็งเกิดความมั่นใจ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นที่จะกลับมารับการตรวจคัดกรอง และรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

ผศ. นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข

 

ขณะที่ ผศ. นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ระบุว่าแม้ว่าโรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดเชื้อ แต่หากขาดการรักษาอย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การลุกลามของโรค ทำให้อาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนร่วม จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องจัดอันดับความเร่งด่วนของการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง

 

ผู้ป่วยมะเร็ง 2 กลุ่มต้องมาหาหมอตามนัด

โดยกลุ่มที่ต้องมารักษาอย่างต่อเนื่อง เลื่อนไม่ได้เลย จะเป็นกลุ่มที่พบมะเร็งระยะแรก ต้องรับการผ่าตัด และมีโอกาสหายขาดได้ หากเลื่อนการผ่าตัดออกไป เสี่ยงให้ผลกลับกัน คือ โรคไม่สามารถหายขาด อีกกลุ่มที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง คือ มะเร็งที่เป็นระยะแพร่กระจาย ที่ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล เช่น ต้องได้รับเคมีบำบัด ซึ่งมีผลต่ออัตราการรอดชีวิต

 

“อย่ากลัวโควิด-19 จนเลื่อนนัด เพียงแต่มาอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งทางโรงพยาบาลต่างๆ ก็ได้ปรับการบริหารจัดการภายในมาอย่างต่อเนื่อง แยกโซนจากการตรวจรักษาผู้ป่วย ที่เข้าข่ายโควิด-19 ทั้งจัดสถานที่ และตรวจรักษามะเร็งให้อยู่ในโซนเดียวกัน เป็นต้น “

 

สำหรับกลุ่มที่เป็นมะเร็ง แต่มะเร็งไม่ Active แล้ว เพราะผ่านการรักษามาแล้ว อยู่ในช่วงติดตามโรค หมายถึง คุมโรคได้ กลุ่มนี้ก็อาจไม่ต้องมาโรงพยาบาล แต่ก็ต้องไม่ให้เสียโอกาสในการติดตามผู้ป่วยด้วย โดยบุคลากรทางการแพทย์สามารถ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น Telemedicine เพื่อให้ผู้ป่วย และแพทย์ พูดคุยกันได้แบบ Real-time หรือจะติดต่อคนไข้ผ่าน Line หรือ VDO Call

 

ยกตัวอย่างมะเร็งเต้านม ที่ผ่านการผ่าตัดรักษาแล้ว ก็สามารถใช้ช่องทางนี้ในการติดตามรักษาได้ ลดความเสี่ยงการรับเชื้อโควิด-19 ส่วนยาสามารถรับยาทางไปรษณีย์ได้อีกด้วย โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 349 แห่งที่จัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ และยังมีโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน มีโรงพยาบาล และร้านยาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างดี

 

 

ไม่ลืม! ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงมะเร็ง

ป่วยแล้วก็ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ยังไม่ป่วย ผศ.นพ.ไนยรัฐ ฝากให้หมั่นดูแลสุขภาพ โดยต้องป้องกัน และสังเกตตัวเอง อย่างมะเร็งเต้านม ซึ่งผู้หญิงเป็นกันมากอันดับหนึ่งนั้น สามารถคัดกรองด้วยตัวเองจากภายนอก ว่าบริเวณเต้านมมีรูปทรงผิดปกติหรือไม่ โดยคลำเต้านมให้ทั่ว รวมไปถึงรักแร้ด้วย เดือนละครั้ง ส่วนมะเร็งปากมดลูก ให้เข้าสู่ระบบตรวจคัดกรอง ปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น

และทุกๆ คน ต้องลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงของที่จะเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ทั้งการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือรมควัน เป็นต้น

 

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แพทย์จำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ป่วยมะเร็งให้มากๆ เพื่อติดตามอาการและการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลุกลามของโรค หรือภาวะแทรกซ้อนจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยเองก็ต้องดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมรักษา และตรวจติดตามอาการของโรคเป็นระยะ ๆ ห้ามขาดการรักษา และการติดต่อกับทีมรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด ผศ.นพ.ไนยรัฐ ทิ้งท้าย

 

ผู้ป่วยมะเร็งต้องรักษาต่อเนื่อง

สำหรับผู้ป่วยอย่างคุณหลี สุภาวรรณ ก้องวัฒนา แบ่งปันประสบการณ์การรักษาโรค “มะเร็งปอด” ระยะสุดท้ายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ในช่วงล็อกดาวน์ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาได้สั่งจ่ายยา และให้ที่บ้านเป็นผู้ไปรับยา ไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ก็หลีกเลี่ยงการเดินทาง โดยเก็บตัวอยู่ที่บ้านคนเดียวรวมๆ แล้ว 45 วัน ไม่พบปะกับครอบครัวและบุคคลอื่นๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ขณะเดียวกันก็มีการพูดคุยกับแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

ต่อมาหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ทางแพทย์จึงให้สามารถกลับไปที่โรงพยาบาลได้ แต่โรงพยาบาลที่ไปรักษาก็มีการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการรักษาอย่างเคร่งครัด เช่น การแยกลิฟต์ แต่ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป ยิ่งในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดรอบ 2 คุณหลี ย้ำว่า ผู้ป่วยต้องระมัดระวังตนเอง เพราะภูมิคุ้มกันน้อยกว่าคนทั่วไปที่ไม่ป่วย

 

คุณหลี สุภาวรรณ ก้องวัฒนา

 

แนะป่วยกายรักษา-ป่วยใจยอมรับ

มาถึงวันนี้ แม้มะเร็งปอดจะยังอยู่ แต่โรคก็สงบลง จนผ่านมาได้ถึง 6 ปี ทั้งที่แพทย์ฟันธงในตอนแรกว่าจะอยู่ได้เพียง 6 เดือน คุณหลี เล่าอย่างมีความสุขว่า เพราะอยู่กับโรคมะเร็งด้วยกำลังใจที่ดี ควบคู่กับการดูแลตัวเอง ทั้งด้านการติดตาม และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนการรักษาทางอื่นเช่น สมุนไพร ให้เป็นการรักษาทางเลือกควบคู่กัน รวมถึงต้องหมั่นออกกำลังกาย และดูแลเรื่องอาหารการกิน

สำคัญที่สุดที่คุณหลีย้ำหนักแน่น ก็คือ การดูแลสุขภาพใจ ให้ผ่องใส เพราะเชื่อมั่นว่ายารักษาจะดีแค่ไหน ราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สู้การอยู่ด้วยกำลังใจที่ดี นอกจากได้จากครอบครัวแล้ว คุณหลี ยังได้ความอิ่มเอมใจจากผู้คนมากมาย หลังจากอุทิศตนเป็นจิตอาสามาหลายปี ทั้งให้คำแนะนำ และให้กำลังใจสำหรับคนทั่วไป ที่มีความกังวล รวมถึงผู้ป่วยมะเร็ง

 

คุณหลี ฝากบอกว่า ขอให้เชื่อมั่นในระบบการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน และเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่รอบตัวเรา โอกาสที่จะหายจากโรคมะเร็งมีอยู่มาก ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็ง หรือหากไม่หายขาด เราก็สามารถอยู่กับมะเร็งอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อยู่ที่ใจของเราเท่านั้น

 

ป่วยกายต้องบำบัด ให้เป็นหน้าที่หมอ ป่วยใจอยู่ที่เรา ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้หมายถึงยอมตาย แต่ใช้ชีวิตกับมันอย่าง positive ไม่ทำตัวเป็นคนป่วย และห้ามอุปาทาน หรือจินตนาการ ว่ามะเร็งมาเล่นงานเรา ทั้งที่มะเร็งอาจยังไม่ได้ทำอะไรเราเลย เพียงต้องนึกถึงสัจธรรมเสมอว่า คนเราทุกคนต้องตาย ความตายไม่น่ากลัว แต่การกลัวตายน่ากลัวกว่า 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

kinyupen