กรมประมงแนะ 8 ข้อควรปฏิบัติก่อนปล่อยสัตว์น้ำ ชี้ทำผิดวิธีอาจได้บาปแทนได้บุญ

0
792
kinyupen

ปัญหาความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวพุทธที่ต้องการปลดปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ เพราะมีความเชื่อว่าจะได้บุญ แต่หารู้ไม่ว่าบางครั้งอาจจะเป็นการทำบาปโดยไม่รู้ตัว เพราะการปล่อยสัตว์บางชนิดในที่ที่ไม่เหมาะสมก็อาจจะกลายเป็นการทำให้ชีวิตหนึ่งไปทำลายอีกหลายชีวิตด้วย เช่นก่อนหน้านี้ได้มีการรณรงค์ให้เลิกการนำปลาอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมของไทยไปปล่อยในน้ำ ได้แก่ ปลาดุก และปลาซัคเกอร์ เพราะเป็นปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น กรณีของ ปลาซัคเกอร์หรือปลาเทศบาล เป็นปลาที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และยังทำให้เกิดผลกระทบต่อพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยโดยตรง จนทำให้ปลาพื้นเมืองของไทยบางชนิดอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงสูญพันธุ์

 

ล่าสุด ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาน้ำจืด ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กเพื่อรณรงค์อย่าทำบุญด้วยการปล่อยปลาดุก เพราะสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะปลาดุกซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำมาผสมระหว่างปลาดุกพันธุ์ไทย กับพันธุ์แอฟริกา จนได้ปลาดุกพันธุ์ที่เรียกว่าปลาดุกบิ๊กอุย มีไว้สำหรับการบริโภค เมื่อถูกปล่อยลงในแม่น้ำจำนวน 1 ตันมันสามารถกินสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้ถึงประมาณ 1,800,000 ชีวิตต่อปีเลยทีเดียว

 

 

ก่อนหน้านี้กรมประมง ได้เคยออกมาให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการปล่อยสัตว์น้ำเพื่อการทำบุญ โดยระบุว่า การทำบุญด้วยการปล่อยสัตว์น้ำโดยทั่วไปจะต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของปลาและสิ่งแวดล้อมของสถานที่ที่จะนำไปปล่อยด้วย เนื่องจากสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสรอดของปลาและสัตว์น้ำที่ผู้ใจบุญทั้งหลายนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ผู้ที่ต้องการปล่อยสัตว์น้ำควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้

 

1.ปลาช่อน…ควรปล่อยให้ลำคลอง หนอง บึง ที่มีน้ำไหลไม่แรงมาก มีกอหญ้าอยู่ริมตลิ่งบ้าง และน้ำควรเป็นน้ำสะอาด

2.เต่า…ควรเลือกปล่อยในสถานที่ที่มีตลิ่ง สามารถให้เต่าขึ้นมาผึ่งแดดได้ เนื่องจากเต่าต้องการให้ปลิงที่ติดอยู่ตามตัวนั้นหลุดออก น้ำที่ปล่อยนั้นก็ไม่ควรจะไหลเชี่ยวจนเกินไป

3.ปลาไหล…ควรปล่อยลงในแม่น้ำ ห้วยหนอง คลองบึง ท้องนา หรือร่องสวน บริเวณที่มีดินเฉอะแฉะ และกระแสน้ำไหลไม่แรงมาก เนื่องจากปลาไหลชอบขุดรูเพื่ออยู่อาศัย

4.กบ…สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ชอบอยู่ในที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยลงแม่น้ำ ควรหาที่นา หรือคลองที่เป็นธรรมชาติ มีกอหญ้าหรือไม้น้ำจะดีกว่า เพราะกบก็จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย และยังเป็นที่อยู่ของแมลง ซึ่งเป็นอาหารของกบอีกด้วย

5.ปลาสวาย/ปลาบึก/ปลาตะเพียน…ควรปล่อยลงในแม่น้ำ คลองที่มีระดับน้ำลึกและกระแสน้ำไหลแรง เพราะปลาเหล่านี้เมื่อโตเต็มที่ เป็นปลาที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นจึงต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต

6.ให้คำนึงถึงคุณภาพของน้ำด้วย โดยก่อนปล่อยสัตว์น้ำ ควรสังเกตสีน้ำในแหล่งที่ปล่อยต้องมีสีไม่ดำ หรือเขียวเข้มจัด เพราะเป็นน้ำที่มีออกซิเจนต่ำ หากปล่อยลงไปจะทำให้สัตว์น้ำอยู่ไม่ได้

7.การปล่อยสัตว์น้ำต้องพิจารณาถึงคุณภาพของสัตว์น้ำที่ปล่อยด้วย ควรเป็นสัตว์น้ำที่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ไม่มีแผลตามลำตัว หากปล่อยสัตว์น้ำที่เป็นโรคลงไปในแหล่งน้ำ จะเป็นการแพร่ขยายเชื้อโรคสู่ธรรมชาติ

8.เวลาปล่อยสัตว์น้ำควรเป็นเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะหากปล่อยสัตว์น้ำในที่มีแสงแดดจัด อาจทำให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน

 

นอกจากนี้ยังขอให้เลิกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติ และให้หันมาปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยแทน นอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้บุญอย่างแน่นอน เพราะการปล่อยสัตว์น้ำสายพันธุ์ไทยถือเป็นการช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ด้านประมงให้กับประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

 

สำหรับสัตว์ที่เป็นยอดนิยมสำหรับการถูกนำไปทำบุญของชาวพุทธของไทยมีอยู่ 5 ชนิดได้แก่

  • อันดับที่ 1 ปลาไหล
  • อันดับที่ 2 หอยขม
  • อันดับที่ 3 นก
  • อันดับที่ 4 เต่า
  • อันดับที่ 5 ปลาหมอ

 

แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงข้อเท็จจริงที่อาจจะนำไปใช้พิจารณาก่อนคิดจะปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญดังนี้ ว่า ทำไมการปล่อยสัตว์ในยุคสมัยนี้จึงมีบาปมากกว่าบุญ

  1. เพราะปล่อยไม่ถูกที่ถูกทาง ทั้งสภาพความเป็นอยู่และศัตรูธรรมชาติ ทำให้สัตว์ที่ปล่อยไปไม่มีโอกาสรอดชีวิต
  2. เพราะส่งเสริมให้มีการจับสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติอย่างปกติสุขมากักขังหน่วงเหนี่ยว ทรมาน
  3. ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การจับ กักขัง ขนส่ง และรอจำหน่าย มีสัตว์จำนวนมากต้องตายอย่างทรมานก่อนที่จะได้รับอิสรภาพ สิ่งมีชีวิตแม้จะเล็กเท่าฝุ่นละออง แต่นั่น มันก็เท่ากับ 1 ชีวิต…

หากคิดจะปล่อยสัตว์เพื่อทำบุญลองพิจารณา และทำตามคำแนะนำต่างๆ เพื่อที่คุณจะได้บุญตามที่ตั้งใจไว้จริงๆ

 

kinyupen