ร่างกายมนุษย์เรามีประสาทสัมผัสเฉพาะที่บริเวณภายนอกที่ผิวหนังเท่านั้น ภายในร่างกายจึงไม่รับรู้สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น ทั้งที่กฎธรรมชาติเรื่องแรงโน้มถ่วงยังคงมีอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่แก้ปัญหากระดูกเสื่อมไม่ได้เสียที
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาทุกคนไปรู้จักสาเหตุที่ทำให้เราปวดเมื่อย พร้อมวิธีบรรเทา โดยนายแพทย์ถาวร สุทธิยุทธ์
ต้นเหตุอยู่ที่ “แรงภายใน”
ให้ลองนึกภาพตาม หากถอดศีรษะของคนออกไปชั่งได้ จะมีน้ำหนักประมาณ 3 – 5 กิโลกรัม ซึ่งคนต้องยกน้ำหนักนี้ไปตลอดชีวิต แต่เมื่อศีรษะต่อเข้ากับลำตัว เรากลับไม่รู้สึกว่ามีน้ำหนัก ไม่ว่าจะวางศีรษะในลักษณะใดก็ตาม
ซึ่งเมื่อเทียบกับการยกก้อนหิน ที่เมื่อยกห่างออกจากลำตัวมากขึ้น เราจะเมื่อยแขนมากขึ้น กฎฟิสิกส์นี้ยังคงเป็นจริงในร่างกายเรา
แต่ในเมื่อเราไม่ได้รู้สึกเมื่อย ไม่ปวด (จากการมีศีรษะอยู่บนลำตัว) เราจึงไม่ได้แก้ไขท่าทางเพื่อให้น้ำหนักนี้ลดน้อยลง สุดท้ายตำแหน่งที่แรงจากน้ำหนักผ่านมากที่สุดก็จะบวมแดงขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งทางการแพทย์ วินิจฉัยว่าเป็นเอ็นหรือข้ออักเสบ และพยายามหาสาเหตุจากสิ่งที่เรารู้และเข้าใจแล้ว
เช่น ถ้าเป็นข้างที่ถนัดก็บอกว่าใช้ทำงานมากไป หรือมีอุบัติเหตุก็โทษว่าเป็นแรงจากอุบัติเหตุ สุดท้ายก็โทษน้ำหนักตัว โดยเฉพาะเอ็นและข้อที่อักเสบซึ่งอยู่ท่อนล่างนั้นต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น ข้อเท้า เข่า และเอ็นร้อยหวาย
แต่ถ้าเป็นคน ไม่อ้วน น้ำหนักไม่มาก ต้องนำความรู้เรื่องกลไกการเสื่อมมาอธิบาย นั่นคือการกระจายของแรงภายในตัวที่ไม่สมดุล เมื่อนั่งหรือนอนแล้วศีรษะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ข้อและเอ็นด้านนั้นจะเป็นส่วนที่รับแรงมากที่สุด และเมื่อทำผิดนานนับปีจึงเกิดอาการอักเสบขึ้น
เมื่อต้นเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกเสื่อมเกิดจากปัญหาทางฟิสิกส์คือ “แรง” การแก้ไขจึงต้องใช้วิธีควบคุมแรงไม่ให้ทำร้ายเรา โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องแรงภายในร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครรู้หรือเข้าใจมาก่อน
อีกทั้งกลไกวิธีการทำของกระดูกสันหลังยังซับซ้อนเพราะเต็มไปด้วยข้อต่อ การจะทำให้กระดูกคอหรือหลังแต่ละช่วงตั้งตรงได้นั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องดูแลและแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน
เริ่มตั้งแต่คอยาวตลอดไปถึงหลัง เพราะเราไม่สามารถแยกทำให้คอตรงโดยที่หลังยังไม่ตรงได้ นี่ถือเป็นความลับที่สำคัญที่สุดของการแก้ไขให้หลังและคอตรง
นอกจากนี้ยังเพิ่มความยุ่งยากจากการที่กระดูกสันหลังมีลักษณะโค้งแอ่นตามธรรมชาติ ไม่ได้ตั้งตรง กล่าวคือส่วนคอจะแอ่นไปด้านหน้า เมื่อมาถึงส่วนหน้าอกกลับโค้งไปด้านแล้วกลับมาแอ่นไปด้านหน้าอีกครั้งเมื่อถึงบริเวณเอว และไปงอโค้งเล็กน้อยบริเวณก้นกบ
ดังนั้นการแก้ไขให้กระดูกหลังกับคอตรงนั้น ต้องแก้ให้ตรงตามแนวโค้งแอ่นตามธรรมชาตินี้ด้วย ไม่ใช่แก้ให้กลายเป็นเส้นตรง หรือทำให้หลังกับคอตรงจนแบนราบ
ปัญหาปวดหลัง ปวดกระดูกมักซ่อนตัวอยู่ในทุกอิริยาบถของเรา เช่น
- เด็กชอบนั่งเล่นเกม ไม่นิยมเล่นกีฬา เวลาไปเรียนพิเศษ ก็ต้องนั่งแหงนคอดูวิดีโอที่อาจารย์สอน
- ปัญหาการจราจรที่ทำให้คนต้องติดแหง็กอยู่ในรถวันละหลายชั่วโมง
- ไปจนถึงตอนทำงานที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
คนยุคหลังจึงเกิดปัญหาสุขภาพ มีอาการปวดเรื้อรังที่มาจากการทำงานมากขึ้น และในที่สุดก็กลายเป็นกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร คือเกิดโรคตอนอายุน้อยลง เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน
4 อิริยาบถที่ต้องสังเกตและปรับแก้
วิธีเริ่มแก้ไข ให้ลองสังเกตอิริยาบถในชีวิตประจำวันของตนเอง เพราะหากแบ่งตามท่าทางแล้วจะมีอยู่เพียง 4 ท่าเท่านั้น ได้แก่ นั่ง นอน ยืน เดิน (หรือวิ่ง)
การนั่งและนอนจะมีเรื่องเครื่องนอนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เก้าอี้ ฟูกนอน หมอน
ถ้าอุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาไม่ดี ออกแบบเพียงแค่ให้ดูโดดเด่นสะดุดตา อุปกรณ์เหล่านั้นจะกลายเป็นกับดักในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้ระบบโครงสร้างหรือกระดูกมีปัญหาไปตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ชิ้นนั้น ๆ
เราจึงต้องรู้เท่าทันและแก้ไขให้ถูกต้องก่อนการใช้งาน หรือหลีกเลี่ยงไม่ใช้งานไปเลย
วัฒนธรรมมีผลต่อการเกิดอาการกระดูกเสื่อม
วัฒนธรรมหรือความเคยชินในชีวิตประจำวันก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไข มีการวิจัยพบว่า ชาวตะวันออกชอบนั่งทำงานกับพื้น เพราะวางของได้สะดวกสบาย ทำให้เกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้บ่อยกว่าเมื่อเทียบกับชาวตะวันตก
ส่วนอิริยาบถในท่ายืน เดินหรือวิ่ง ส่วนใหญ่อยู่ในท่าทางที่คอและหลังตรงตามธรรมชาติอยู่แล้วถึงมีการทำผิดไปบ้าง แต่ก็ไม่ผิดมากเท่ากับท่านั่งและนอน คนที่ปวดเรื้อรังหรือมีกระดูกเสื่อม พอเริ่มลุกขึ้นยืนหรือเดินออกกำลังบ้าง อาการจึงดีขึ้นได้
ท่านอนที่ผิดจะทำให้เกิดแรงกระทำมางัดที่กระดูกคอตลอดเวลา และเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดข้อต่อกระดูกคอหลวม และก็กลายเป็นกระดูกคอเสื่อมได้ในเวลาต่อมา
ช่วงเวลาที่ใช้แก้ไขกระดูกหลังกับคอจนตั้งตรงได้ถูกต้อง เป็นสัดส่วนโดยตรงกับอาการที่ดีขึ้นหรือการหายปวดจากภาวะกระดูกเสื่อม ยิ่งทำได้ถูกมากเท่าไรและทำอย่างต่อเนื่องนานพอ อาการก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้ทำหรือทำไม่ถูกต้อง ก็จะยังไม่หายปวด
การแก้ไขท่าทางเพื่อสู้กับภาวะกระดูกเสื่อมนี้ ต้องดูแลต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากหน้าที่หลักของกระดูกเป็นโครงสร้างที่รองรับแรง จึงถูกใช้งานตลอดถึงแม้ว่าอวัยวะส่วนอื่นจะได้หยุดพัก แต่กระดูกทำงานตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรหมั่นตรวจเช็กร่างกายของตนเอง
ด้วยความห่วงใยจาก กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
นายแพทย์ถาวร สุทธิยุทธ์. (2565, มกราคม – มีนาคม) . “เข้าใจ “แรงภายใน” ป้องกันกระดูกเสื่อม,” Delight Magazine. 21 (1)