WHO ชี้ COVID-19 ยังไม่เป็นโรคระบาดใหญ่(Pandemic) แต่ขอให้นานาประเทศเตรียมรับมือ เน้นดูแลบุคลากรทางการแพทย์

0
434
kinyupen

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่กรุงเจนิวา นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ ฮู (WHO) แถลงสถานการณ์ของโรค COVID19 ตามเวลาท้องถิ่น ขอให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการแพร่ระบาด ดังนั้นทุกประเทศทั่วโลกควรเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือไว้ล่วงหน้าเพื่อสกัดการแพร่ระบาดดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตามตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้ประกาศว่าโรค COVID19 เป็นโรคระบาดที่ในวงกว้างที่เรียกว่า การระบาดแบบ แพนเดมิก (Pandemic) แม้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นในหลายประเทศในโลก โดยระบุว่าขณะนี้ข้อมูลอาจจะยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและอาจทำให้เกิดความกลัวมากเกินไป อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกยังคงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องเตรียมรับมือ คือการประเมินความเสี่ยงในประเทศของตัวเองโดยให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นคือ การปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ การปกป้องผู้คนที่มีความเสี่ยงสูงสุด และการเฝ้าระวังในประเทศที่มีระบบสุขภาพที่อ่อนแอ

 

ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในจีนศูนย์กลางการระบาดของไวรัสซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 77,000 คน และเสียชีวิตแล้วเกือบ 2,600 คน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังลดลงต่อเนื่องในจีน ขณะที่ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้มากกว่า 1,200 คนในอีกกว่า 30 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 20 คน นอกจีนแผ่นดินใหญ่ โดยอิตาลีเฉพาะในอิตาลี และ อิหร่านที่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 22 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 15 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 37 ราย พร้อมกันนี้ได้มีการเตรียมวิจัยยาสมุนไพรฟ้าทลายโจรในการต้านเชื้อไวรัสด้วย ทั้งยังมี คำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันตัวเองจากโรค COVID19 ดังนี้

  • ประชาชนที่มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่มีการรายงานพบผู้ป่วย หลังเดินทางกลับประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูกไอ เสมหะ หายใจเร็ว หอบให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาดและหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ขอให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย หลีกเลี่ยงไปท่องเที่ยวตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย
  • ประชาชนทั่วไป ขอให้ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศแปรปรวน ใช้มาตรการกินร้อนช้อนกลางล้างมือและสวมหน้ากากป้องกันโรคเวลาไอ จาม หลีกเลี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ
  • ขอให้ประชาชนเลี่ยง เลื่อน การเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค หากเลี่ยงไม่ได้ขอให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คือ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และเมื่อกลับมาจากประเทศเสี่ยงให้แยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัว สังเกตอาการตัวเอง 14 วันหากมีไข้ ไอ จาม ให้พบแพทย์ทันที

ขอบคุณภาพจาก Twitter : World Health Organization (WHO)

kinyupen