ใช้ชีวิตนอกเมืองใหญ่ – เทรนด์ใหม่หลังโควิด 19 ระบาด

0
514
kinyupen

ผู้คนเมืองใหญ่ในญี่ปุ่น และอเมริกา พากันย้ายถิ่นฐานออกนอกเมืองใหญ่ที่แออัดหลังสถานการณ์โรคโควิด 19 กำลังระบาดหนัก จนหลายบริษัทให้พนักงานทำงานผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตจากทางไกลได้ เป็นเหตุให้หลายคนพากันไปซื้อบ้านและที่ดินตามชนบทเพราะได้ทั้งบ้าน และที่ดิน รวมทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในเมือง จนนักประชากรศาสตร์วิเคราะห์ว่าเมื่อย้ายกลับสู่ชนบทแล้วพวกเขาจะไม่คิดกลับมาอยู่ในเมืองอีกเลย

 

หลังการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศญี่ปุ่นที่ดูเหมือนกว่าจะยังไม่คลี่คลาย ทำให้ล่าสุดสำนักข่าวเอ็นเอชเค ของญี่ปุ่นรายงานว่า ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากกำลังมีแนวคิดในการย้ายถิ่นฐานจากเมืองมุ่งสู่ชนบทมากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการทำงานผ่านระบบ “เทเลเวิร์ก” หรือการทำงานผ่านเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ผู้คนยังสามารถทำงานจากบริษัทเดิมได้ โดยไม่ต้องเดินทางเข้าสู่บริษัท จึงสามารถจะทำให้พวกเขาสามารถเลือกที่อยู่อาศัยที่ไกลออกไปจากในเมืองได้ นับเป็นการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และ การทำงานของชาวญี่ปุ่น หลังจากการระบาดของโรคโควิด 19 จนทำให้เกิดวิธีใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต จากก่อนหน้านี้เคยแออัดอยู่ในเมืองใหญ่ กลายเป็นความต้องการที่จะมีอิสระในการใช้ชีวิตออกนอกเมืองมากขึ้น

 

ย้ายนอกเมือง Covid-19_0

 

จากข้อมูลการโยกย้ายถิ่นฐานของรัฐบาลท้องถิ่นของญี่ปุ่นกว่า 74 แห่ง พบว่ามีประชาชนจำนวนกว่า 6,500 คนกำลังมองหาบ้านใหม่ที่เหมาะสมเพื่ออยู่อย่างปลอดภัย และมีอิสระแทนการต้องแออัดอยู่ในเมืองใหญ่ละต้องเสี่ยงกับโรคระบาดที่มักจะเกิดขึ้นในเมืองสำคัญต่างๆ ด้วย โดยจากการตอบแบบสอบถามของประชาชนที่ต้องการย้ายถิ่นฐานระบุว่า โรคโควิด 19 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องการย้ายบ้านใหม่ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็สนับสนุนให้ประชาชนหันไปใช้ชีวิตนอกเมืองมากขึ้น โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละแห่งรับลงทะเบียนสำหรับผู้ที่สนใจจะย้ายบ้าน เพื่อจัดทำข้อมูลและจัดหาที่ดินที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ต้องการที่สามารถซื้อที่ดินเป็นของตัวเองในราคาที่เหมาะสมและยุติธรรม ทำให้พวกเขาสามารถมีที่ดินเป็นของตัวเองแทนการอยู่เช่าบ้านอยู่ในเมือง

 

“การทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือเทเลเวิร์ก ที่หลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานได้ ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากสนใจการย้ายถิ่นฐานการอยู่อาศัยมากขึ้น” เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นระบุ

 

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ส่งเสริมให้ประชาชนเลือกที่จะออกไปอาศัยอยู่นอกเมืองมากขึ้น แทนการที่จะต้องแย่งกันกินใช้อยู่ในเมืองใหญ่ๆ จนทำให้เกิดความแออัด ส่งผลต่อเรื่องค่าครองชีพของประชาชน รวมไปถึงเรื่องของสุขภาพเพราะในเมืองมีคนมากเกินไป จนทำให้ในหลายเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น โตเกียว โอซาก้า หรือนาโกย่า กลายเป็นเมืองที่ติดอันดับที่พักอาศัยคับแคบและมีราคาแพงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งการย้ายถิ่นฐานสู่ชนบทมีข้อดีไม่เพียงแต่สำหรับผู้ย้ายถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เพราะจะทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นมากขึ้น โดยรัฐบาลส่งเสริมให้ผู้ย้ายถิ่นได้ทดลองทำงานใหม่ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรม เช่นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ หรืออื่นๆ ที่พวกเขาสนใจ หรือใช้เวลาว่างจากงานไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงจนทำให้ท้องถิ่นมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกด้วย

 

ย้ายนอกเมือง Covid-19_2

 

ทากาโกะ นิชิมูระ เคยทำงานบัญชีอยู่ในโตเกียว แต่กำลังมองหาบ้านใหม่เพื่อย้ายถิ่นฐานใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้โดย ให้เหตุผลว่า ที่ต้องการย้ายออกจากโตเกียวเพราะเบื่อหน่ายต่อการต้องใช้เวลาเดินทางไปทำงานด้วยเวลานาน และยังรู้สึกว่ายังมีความเสี่ยงสูงกับภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงโรคระบาดอย่างโควิด 19 ยังทำให้บริษัทของเธอพัฒนาระบบการทำงานเทเลเวิร์กได้อย่างสมบูรณ์ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจย้ายบ้าน แนะนำให้ย้ายไปอยู่ที่เมืองคิตามิ

 

สำหรับบ้านใหม่ของทากาโกะ มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยในบริเวณใกล้เคียงมีสำนักงานดาวเทียมของเมืองคิตามิ ที่เธอจะสามารถเข้าไปใช้งานด้วย โดยเสียค่าบริการในราคาที่เหมาะสม ภายในมีอินเทอร์เน็ตและการประชุมออนไลน์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานทางไกล

 

 

“หากเราสามารถเอาเวลาที่ต้องเครียดระหว่างการเดินทางไปทำงานในเมืองมาใช้ในการทำอย่างอื่น ฉันคิดเราสามารถมีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” ทากาโกะกล่าว

 

เทรนด์การย้ายถิ่นฐานออกจากนอกเมืองยังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ อีก รวมถึงฟากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างรุนแรง การที่ผู้คนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นจากการระบาดของโรคที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ชาวอเมริกันจำนวนมากเริ่มนึกถึงการย้ายถิ่นฐานออกนอกเมือง โดยเฉพาะผู้ที่เคยเติบโตอยู่ชนบท แต่ต้องเข้ามาทำมาหากินในเมือง เริ่มคิดถึงการกลับไปทำงานที่บ้านเกิด นอกจากจะเป็นการหนีจากโรคระบาดพวกเขายังคิดถึงเรื่องการดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งไว้ในชนบทอีกด้วย

 

 

ตัวอย่างเช่น จิงกี้ เดมาเรส เดอริเวร่า ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินขององค์กรไม่หากำไรแห่งหนึ่ง ในแมนฮัต ตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายกลับเมืองฮัดสันริเวอร์วัลเลย์ บ้านเกิดหลังจากที่ทำงานของเขามีนโยบายใหม่ที่ให้สามารถทำงานระยะไกลอย่างไม่มีกำหนด

 

ภรรยาของจิงกี้ บอกว่ารู้สึกตื่นเต้นที่จะกลับไปบ้านเกิดเพราะแม้ว่าได้รับประโยชน์มากมายจากการใช้ชีวิตในเมือง แต่เมื่อโตขึ้นและผ่านเหตุการณ์โรคระบาดครั้งนี้ทำให้เห็นคุณค่าของการอยู่ใกล้กับครอบครัวและมีที่ดินเป็นของตัวเองเพื่อดำรงชีวิตในบั้นปลายไม่ได้อาศัยอยู่แค่ในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ เท่านั้น

 

ครอบครัวริเวร่า ไม่ใช่ครอบครัวเดียว เพราะมีชาวอเมริกันจำนวนมาก ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่ด้วยการย้ายออกจากเมือง เพราะสำหรับบางคนมันเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิดกับครอบครัว ท่ามกลางความหวาดกลัวด้านสุขภาพกับโรคร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับโลก ซึ่งประโยชน์ของการย้ายออกนอกเมืองยังทำให้สามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น และนั่นคือผลจากสไตล์การทำงานรูปแบบใหม่ในการทำงานระยะไกล

 

 

จากการสำรวจของมูลนิธิครอบครัวไกเซอร์ในเดือนพฤษภาคมพบว่าร้อยละ 34 ของคนทำงานบอกว่าทำงานจากที่บ้าน และผู้คนในเมืองที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรค ทำให้ผู้คนในเมืองใหญ่อย่าง นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโกและซีแอตเทิลกำลังค้นหาโอกาสในการทำงานจากระยะไกล โดยข้อมูลด้านการจัดหาบ้านของอเมริกาชี้ให้เห็นว่ามีหลายคนกำลังพิจารณา หรือย้ายไปยังเมืองเล็ก ๆ หรือชานเมือง

 

อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ของนักประชากรศาสตร์ เห็นว่าการเทรนด์การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนเช่นนี้ มีเหตุผลสำคัญที่สุดคือการแพร่ระบาดของโรคทำให้เกิดความกลัวความใกล้ชิด การอาศัยอยู่ในเมืองหมายถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาแน่นซึ่งต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้คน และหากผู้คนสามารถที่จะทำงานทางไกลจากที่ใดก็ได้ การย้ายออกนอกเมืองอย่างถาวรจะเกิดขึ้น และยากที่พวกเขาจะกลับเข้าสู่ชีวิตในเมืองอีกครั้ง เพราะชีวิตที่ไม่เร่งรีบ และสามารถมีความสุขอยู่กับครอบครัวเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาอยู่แล้วนั่นเอง

kinyupen