ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในบ้านเรายังไม่สามารถควบคุมได้เบ็ดเสร็จ จนล่วงเลยใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนซึ่งด้วยสภาพอากาศเย็นชื้นเหมาะที่เชื้อโรคจะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น ส่งผลให้ผู้คนมีโอกาสป่วยโรคระบบทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งโรคที่ควรต้องป้องกันอย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดซ้ำเติมระบบสาธารณสุขบ้านเรา นั่นก็คือ “ไข้เลือดออก” ซึ่งอันตรายรุนแรงไม่แพ้กันและเแต่ละปียังคงมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ไม่น้อย
เร่งกำราบก่อนฝนชุก ด้วยหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”
“ไข้เลือดออก” ถือเป็นโรคประจำถิ่นที่คนไทยเรารู้จักกันดี เกิดจากเชื้อไวรัส “เด็งกี่” (Dengue) ที่มีอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เด็งกี่-1 เด็งกี่-2 เด็งกี่-3 และเด็งกี่-4 ที่มนุษย์จะได้รับเชื้อผ่านการกัดของ “ยุงลายเพศเมีย” ที่มีเชื้อ ซึ่งเดงกี่ทุกสายพันธุ์สามารถทำให้ติดไข้เลือดออกได้ทั้งสิ้น โดยโรคนี้พบมากที่สุดบริเวณภูมิภาคอาเซียนและหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก
ผลกระทบไข้เลือดออกต่อผู้ป่วยแต่ละรายจะมีระดับอาการที่แสดงออกต่างกันไป บางรายใช้เวลารักษาไม่กี่วันก็ทุเลา แต่บางรายอาจมีอาการหนักจนถึงขั้นไอซียู และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
ล่าสุด กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่ข้อมูลให้ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 เมษายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 8,746 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิต 6 ราย และในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ระยอง อ่างทอง นครราชสีมา พิจิตร ระนอง เลย ขอนแก่น พังงา สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ด ตามลำดับ
พร้อมความเห็นเพิ่มเติมว่า ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน ถือเป็นช่วงสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เพราะหากทำได้ดีจะช่วยลดปริมาณผู้ป่วยที่อาจเกิดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน (พฤษภาคม-สิงหาคม) นี้ ดังนั้นจึงรณรงค์ให้ผู้ป่วยที่มีไข้เกิน 2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เพื่อลดการเสียชีวิต รวมทั้งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หากป่วยเป็นไข้เลือดออกร่วมด้วยจะทำให้การรักษายุ่งยาก อาการรุนแรงมากขึ้น
ทางด้านการป้องกันโรค ขอให้ยึดหลักตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2.เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และ
3.เก็บน้ำปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้านและรอบบริเวณบ้านก่อนเข้าสู่ฤดูฝนที่เป็นฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออกทันท่วงที
นี่คืออีกหนึ่งโรคระบาดที่กำลังจะเข้ามาซ้ำเติมเราในช่วงฤดูฝน ดังนั้นเมื่อทราบแล้วก็ควร “กันไว้ดีกว่าแก้” น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
ป่วยแบบไหนเป็นไข้เลือดออก
อาการช่วงเริ่มต้นของโรคไข้เลือดออกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่มีลักษณะเฉพาะที่จำแนกได้ดังนี้
- ไข้สูง 2-7 วัน (ประมาณ 38.5-41 องศาเซลเซียส) บางรายอาจมีอาการชัก โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
- เลือดออก เป็นจุดเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มตามผิวหนัง แขน ขา ลำตัว และรักแร้ ทั้งอาจมีเลือดดำ หรือ เลือดออกตามไรฟันร่วมด้วย กรณีขั้นรุนแรง อาจอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีดำ
- ตับโตกดแล้วเจ็บบริเวณชายโครงขวา ส่วนใหญ่พบว่าเกิดในช่วงวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ
- ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือ ช็อก ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจจะมีภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ มือเท้าเย็น ชีพจรเบาที่เกิดขึ้นพร้อมกับอาการไข้ที่ลดลงรวดเร็ว บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ที่มา
- กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- honestdocs.co