ส่องทางออกสู้โควิด – 19 แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่โลกยังรออยู่

0
425
kinyupen

ปัจจุบันนานาประเทศทุ่มเทให้ความสำคัญกับการพัฒนาคิดค้นวิธีกำราบไวรัสโควิด-19 อย่างขะมักเขม้น โดยเฉพาะฟากยุโรปและอเมริกาที่ถูกคุกคามหนักขึ้น และยังไม่มีใครทราบได้ว่าวิกฤตนี้จะสิ้นสุดเมื่อใด วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต รวบรวมความคืบหน้าในการหาทางออกของทั่วโลกมาฝากกัน ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่าวิธีใดที่เป็นฮีโร่พามนุษยชาติฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ในท้ายที่สุด

 

วัคซีนจิ๊กซอว์สำคัญ

“แนวโน้มเริ่มดี แต่ยังต้องรอเวลา”

วัคซีน คือ จิ๊กซอว์สำคัญที่เชื่อว่าจะกำราบไวรัสโควิด-19 ได้อยู่หมัดที่สุด ซึ่งหลายชาติไม่ว่า จีน สหรัฐฯ อิสราเอล ออสเตรเลีย อังกฤษ ล้วนอยู่ระหว่างเร่งพัฒนา อย่างไรก็ตามแม้นักวิจัยสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จแต่คาดการณ์กันว่าคงต้องรอถึงกลางปี 2564 ถึงนำมาใช้ได้จริง สอดคล้องกับความเห็นของศาสตราจารย์แอนเนลีส ไวล์เดอร์-สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนและอนามัยในกรุงลอนดอน ประเมินว่าวัคซีนไม่น่าพร้อมใช้งานก่อน 18 เดือนจากนี้ โดยเป็นสมมติฐานที่ตั้งบนโจทย์ว่าระหว่างการพัฒนาต้องไม่เกิดความผิดพลาดใดเกิดขึ้นเลย

 

ทั้งนี้หากวัคซีนโควิด-19 สามารถนำมาใช้ได้จริงภายในปีหน้า นี่จะถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการพัฒนาวัคซีนที่เร็วสุดเท่าที่มนุษยชาติเคยทำมาจากเดิมที่ต้องใช้เวลานานถึง 10-15 ปี หรือ แม้แต่กระบวนการพัฒนาแบบ fast track ก็ยังต้องใช้เวลา 5-10 ปีเลยทีเดียว

 

เหตุผลสำคัญที่การพัฒนาวัคซีนต้องใช้ระยะเวลานาน นั่นเป็นเพราะการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Clinical trials) ที่เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนขออนุมัติการใช้ยา ซึ่งกินเวลานานหลายเดือน หรือ วัคซีนบางชนิดใช้เวลานานถึงสิบปี โดยจะแบ่งเป็น 3 เฟส ประกอบด้วย

  • Phase 1 เริ่มจากทดลองในอาสาสมัครสุขภาพดีจำนวนไม่กี่สิบคน เพื่อทดสอบประสิทธิผลวัคซีน
  • Phase 2 เพิ่มจำนวนอาสาสมัครเป็นหลายร้อยคน โดยมักใช้สถานที่ที่กำลังระบาดในการทดลองเพื่อวัดประสิทธิภาพวัคซีน
  • Phase 3 เพิ่มจำนวนอาสาสมัครเป็นหลายพันคน

 

นอกจากนี้ในกระบวนการทดลองยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาด ผลข้างเคียงที่อาจส่งผลให้เกิดความล้มเหลว รวมถึงนักวิจัยต้องกำจัดความเสี่ยงของวัคซีนที่อาจไปทำให้เชื้อเพิ่มความรุนแรงให้หมดไปด้วย ดังนั้นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกจึงเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถข้ามหรือรีบร้อนได้

 

ล่าสุดโลกเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 ศาสตราจารย์ซาร่า กิลเบิร์ต แห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ที่ทีมงานกำลังวิจัยอยู่คาดสามารถนำมาใช้ได้จริงภายในกันยายน 2563 นี้

 

ขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ว่าขณะนี้มีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแล้วถึง 70 รายการทั่วโลก โดยมีการทดลองในมนุษย์แล้ว 3 รายการ ได้แก่

  1. วัคซีนจากบริษัท CanSino Biologics ของฮ่องกงซึ่งพัฒนาร่วมกับสถาบันโอเทคโนโลยีแห่งปักกิ่ง
  2. วัคซีนจากบริษัท Moderna ของสหรัฐฯ
  3. วัคซีนของบริษัท Inovio Pharmaceuticals ของสหรัฐฯ

โดยวัคซีนที่มาไกลที่สุดคือวัคซีนทดลองของ CanSino Biologics ซึ่งอยู่ในเฟสสอง

 

นี่ถือเป็นความหวังครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ที่เราคงต้องรอจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไป และโจทย์ใหญ่ที่จะตามมาคือ “ปริมาณการผลิตวัคซีน” ว่าจะทำอย่างไรให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของทั่วโลกที่มีจำนวนมากในเวลาสั้นที่สุด รวมถึง “การแบ่งสรรปันส่วนวัคซีน” ที่ประชากรโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ดังเคยมีตัวอย่างมาแล้วในช่วงไข้หวัดนก H1N1 ระบาดเมื่อปี 2552 โดยวัคซีนถูกประเทศร่ำรวยกว้านซื้อไปเป็นจำนวนมาก ส่วนประเทศยากจนแทบเข้าไม่ถึง หรือ กว่าจะเข้าถึงก็ล่าช้ามาก

 

กระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่  (Herd immunity)

“แนวคิดดี แต่ยากเชิงปฏิบัติ”

Herd immunity หรือ Community Immunity หมายถึง สถานการณ์ที่สัดส่วนประชากรมีภูมิคุ้มกันจำนวนมากพอ (ทั้งจากที่ร่างกายผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือ ได้รับวัคซีนป้องกันโรค) จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายผ่านไปยังคนอื่นๆ ต่อได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า Herd immunity คือ ผลทางอ้อมของการป้องกันโรคจากวัคซีนที่ช่วยปกป้องคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ด้วยกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่เรียกกันว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการให้วัคซีนกับประชากรทั่วโลกเป็นต้นมา

 

วิธีนี้เป็นสิ่งที่ เซอร์แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอแก่รัฐบาลในการรับมือโควิด-19 ช่วงแรก หัวใจสำคัญ คือ ยืดเวลาอัตราการระบาดออกไปให้นานที่สุด โดยปล่อยให้ประชากรประมาณ 60% ของประเทศติดเชื้อเสียก่อน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในกลุ่มคนที่หายป่วยแล้ว ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะช่วยป้องกันกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจากไวรัสได้โดยอัตโนมัติ และอาจจะหยุดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้จะช่วยป้องกันการระบาดซ้ำของโรคในภายหลังด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ก็ถูกคัดค้าน เพราะมองว่าเสี่ยงเกินไปในสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันอาจทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากจำนวนอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงแพทย์พยาบาลที่มีอยู่ในระบบไม่เพียงพอ และคาดกันว่าคงไม่มีประเทศใดในโลกสามารถรองรับได้ ดังนั้นเราจึงเห็นหลายประเทศใช้วิธี “ยืดเวลา” เพื่อรอความหวังนั่นคือ

1. รอวัคซีนที่มากระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

2. หวัง (เล็กๆ) ให้ไวรัสกลายพันธุ์ง่ายต่อการควบคุมมากขึ้น

 

ทั้งนี้ท้ายสุดแล้ว กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ ก็ออกมาแถลงว่าวิธีนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิบัติการแต่อย่างใด เป็นเพียงผลพลอยได้ที่จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อสิ้นสุดการระบาดเท่านั้น และน่าจะเป็นเรื่องของการสื่อสารที่ผิดพลาดนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตามระหว่างที่โลกยังรอความหวังอยู่นั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ที่หลายประเทศรวมถึงไทยนำมาใช้อย่างเข้มงวด เพื่อชะลอไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มสูงจนเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขประเทศจะรับมือได้คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทุกคนจะช่วยกันได้ในขณะนี้ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ #เราจะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

ที่มาแหล่งข้อมูล

  • bloomberg
  • Hfocus
  • Blockdit หมอเม๊ามอย
  • BEATING COVID-19 เอาชนะโรคร้ายด้วยความเข้าใจโดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 

 

 

kinyupen