น่ารู้สำหรับคนชอบเหี้ย

0
3862
kinyupen

เมื่อไม่นานมานี้ หลายท่านคงเห็นภาพการรวมตัวของคนกลุ่มเล็กๆ ที่รัก “ตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง” ที่กลายเป็นไวรัลถูกแชร์ต่อไปมากกว่า 4 หมื่นครั้งบนโลกออนไลน์ แต่ละตัวมีลวดลายสีสันที่แปลกตาไปจากที่เราๆ เคยเห็นกันตามสวนลุมพินี หรือ คูคลองทั่วไป โดยทราบหรือไม่ว่าลวดลายแต่ละแบบนั้นถือเป็นตัวบ่งบอกชนิดสายพันธุ์ของเจ้าสัตว์ประเภทนี้ และเรื่องราวน่าสนใจจะเป็นอย่างไรวันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต อาสาไปหามาฝากกัน

 

ตัวเงินตัวทอง ไม่ใช่ตะกวด มีมากกว่า 70 สายพันธุ์ และมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์

 

ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย ที่บ้านเราเรียกกัน จริงแล้วเป็นสัตว์เลื้อยคลานพื้นเมืองของเอเชียใต้และอาเซียน โดยเฉพาะบังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดียจนถึงคาบสมุทรอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 

ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ห้วย หนอง คลองบึง โดยหน้าที่หลักของเหี้ย คือ “นักกำจัดซากตัวยงแห่งระบบนิเวศน์” คอยกำจัดสิ่งปฏิกูล ซากสัตว์เน่าเปื่อย แต่บางครั้งก็ทำตัวเป็นผู้ล่าด้วยเช่นกันโดยจะล่าสัตว์ที่ขนาดเล็กกว่าปากของตัวเอง เช่น เป็ด ไก่ หนู เต่า นก ไส้เดือน รวมถึงสุนัข แมวตัวเล็กๆ

 

ไทยมีเหี้ยแบบใดบ้าง

เหี้ย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Varanus salvator โดยเจ้าสัตว์เลื้อยคลานสกุล Varanus ถ้าแยกย่อยลงไปพบว่ามีอยู่ทั่วโลกกว่า 70 ชนิดพันธุ์ (อ้างอิง http://animaldiversity.org/accounts/Varanus/classification/) ซึ่งเจ้ามังกรยักษ์โคโมโดที่ขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย ก็เป็นสัตว์สกุล Varanus นี้เช่นเดียวกัน แต่จะพบเฉพาะบนอุทยานแห่งชาติโคโมโดในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

 

สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่พบอยู่ 6 สายพันธุ์ โดยแต่ละชนิดที่พบแม้ไม่มีพิษโดยตรง แต่ในน้ำลายมีการสะสมของแบคทีเรีย ดังนั้นหากโดนกัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณแผลได้

 

ชนิดของเหี้ย ตัวเงินตัวทอง เป็นเหี้ยอะไร
ขอบคุณภาพจาก Facebook : สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก

 

1.เหี้ย / มังกรดอก / ตัวเงินตัวทอง (Water Monitor ; Varanus salvator) ถือเป็นพี่เบิ้มของตระกูล Varanus ที่พบในบ้านเรา เพราะตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำพบได้ทั่วทุกภาคในเมืองไทย โดยสามารถปีนต้นไม้ได้และกินซากทุกอย่างที่ขวางหน้า ลำตัวสีดำ แต่มีลายดอกสีขาว หรือ เหลืองอ่อน พาดขวางลำตัว หางมีสีดำ หรือ ลายปล้องดำสลับเหลืองอ่อน บางตัวมีจุดแดงเล็กๆ ที่หาง

 

2.เห่าช้าง (Roughneck monitor lizard ; Varanus rudicollis) พี่รองของตระกูล Varanus บ้านเรา ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเหี้ย สีผิวและหางสีดำสนิท มีลายสีจางๆ เป็นปื้น หรือ ปล้องตามลำตัว หัวมีสีเทาคล้ำ มีเกล็ดตะปุ่มตะป่ำบริเวณคอ

เห่าช้างถือเป็นสัตว์ที่หาตัวได้ยาก ส่วนใหญ่อาศัยตามป่าทึบทางภาคใต้และภาคตะวันตก ถือเป็น Varanus ที่ดุมาก โดยเมื่อตกใจ หรือ จวนตัวจะมีอาการพองคอขู่ฟ่อๆ ทำให้เรียกกันว่า “เห่าช้าง” ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าน้ำลายมันมีพิษ ถ้าถูกกัดจะมีอันตรายถึงตาย แต่ในความจริงแล้ว นี่ถือเป็นความเชื่อที่ผิดนะจ๊ะ

 

3.ตะกวด (Bengal monitor ; Varanus bengalensis) ชอบอาศัยอยู่บนที่แห้งและบนต้นไม้ เพราะปีนต้นไม้เก่ง แต่ชอบอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ สามารถพบได้ทุกภาคทั่วไทย ลำตัวเป็นสีพื้นเหลืองอ่อน เหลืองหม่น สีน้ำตาล ไม่มีลวดลายเหมือนเหี้ย  ส่วนหัวมักมีสีอ่อนกว่าตัว มีหางเรียวยาวเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ วิธีสังเกตเพื่อแยกระหว่างเหี้ย กับ ตะกวดแบบง่ายๆ คือ “เหี้ย จมูกอยู่ใกล้ปลายปาก ชอบอยู่ในน้ำ – ตะกวด จมูกอยู่ใกล้ตา ชอบอยู่บนต้นไม้”

 

ตะกวด

4.เหี้ยดำ หรือ มังกรดำ (Black water monitor, Black dragon ; Varanus salvator komaini ) คล้ายเหี้ยแต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวสีดำด้านทั้งตัว ท้องสีเทาเข้ม ลิ้นสีเทาม่วง มักพบทางภาคใต้ ชายทะเลและเกาะเล็กๆ

 

https://www.facebook.com/1865320583729066/photos/p.2135795263348262/2135795263348262/?type=1&theater

 

5.แลนดอน (Yellow monitor ; Varanus flavescens) คล้ายตะกวด แต่หัวมีสีเหลืองสด หรือ สีส้ม ชอบอยู่บนที่ดอน ทำให้ถูกเรียกว่าแลนดอน มักพบตามพื้นที่ชายแดนที่ติดกับพม่า

 

6.ตุ๊ดตู่ (Red-headed Monitor(Harlequin Monitor) ; Varanus dumerilii) มีขนาดเล็กที่สุดแต่ก้มีสีสันลวดลายสวยงามสุดในตระกูล Varanus บ้านเรา ทำให้ถูกลักลอบจับอยู่บ่อยครั้ง ลำตัวของตุ๊ดตู่จะมีสีน้ำตาลเทา มีลายเป็นปล้องเป็นวงแหวนสีอ่อน หัวมีสีเทาอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน ข้างใต้คอมีสีอ่อนจนเกือบขาว พบอาศัยอยู่ทางภาคใต้เป็นหลัก

 

ทำไมต้องด่า “เหี้ย”

สันนิษฐานกันว่า คนไทย ไม่ชอบ เหี้ย มาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากชอบขโมยกินไก่ กินเป็ด ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ อีกทั้งพฤติกรรมที่ชอบกินของเน่าเหม็นจึงถูกมองสัตว์ “อัปมงคล” ซึ่งเมื่อรวมกับรูปร่างลักษณะที่ค่อนข้างไม่เข้าตา หรือ น่ารังเกียจในสายตาคนส่วนใหญ่ จึงกลายมาเป็นคำด่ายอดนิยมจากอดีตถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม อีกสันนิษฐานหนึ่งบน Wikipedia เชื่อว่า “เหี้ย” เริ่มเป็นคำหยาบและคำด่าในสมัยรัชกาลที่ 4 เพี้ยนมาจากคำว่า “ตั่วเฮีย” ภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่หมายถึง พี่ชายคนโต พี่ใหญ่ เหตุเพราะสมัยนั้นมีการปราบปรามฝิ่นทำให้ชาวจีนบางส่วนที่เสียผลประโยชน์ จึงออกล้างแค้นโดยฆ่าฟันชาวสยามล้มตายจำนวนมาก ทำให้ชาวสยามเวลานั้นใช้คำว่า ตั่วเฮีย เป็นคำด่าทอ ก่อนเพี้ยนมาเป็น “ตัวเหี้ย” หรือ “เหี้ย” ในที่สุด

เหี้ยก็มีดีมีประโยชน์ แต่โทษหนักเช่นกัน

กลุ่มประเทศแถบยุโรป นิยมนำ “หนังเหี้ย” ที่มีลวดลายของมันไปผลิตรองเท้า กระเป๋า ซึ่งมีราคาสูงมากโดยบางคู่สูงถึงหลักหมื่น โดยอิตาลีถือเป็นตลาดที่มีการค้าขายและนำเข้าตัวเหี้ยมากถึงปีละ 1 ล้านตัว สำหรับธุรกิจเครื่องหนัง โดยส่วนมากนำเข้าจากอินโดนีเซียเป็นหลัก ขณะที่ประเทศแถบอาเซียน นิยมรับประทาน “เนื้อเหี้ย” โดยเฉพาะเนื้อบริเวณส่วนโคนหางที่เรียกว่า “บ้องตัน”

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่สามารถจำหน่าย “เหี้ย” เชิงเศรษฐกิจได้เพราะถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และยังติดอยู่กับข้อตกลงอนุสัญญาไซเตส หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์

 

ดังนั้นหากใครอยากมีไว้ครอบครอง หรือ เพาะเลี้ยง ต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานฯก่อน โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

kinyupen